สส.ก้าวไกลภูเก็ตห่วงจังหวัดท่องเที่ยวภาคใต้ขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค จี้รัฐเร่งจัดหาแหล่งน้ำเพิ่ม ไม่ผลักภาระประชาชนไปซื้อน้ำจากเอกชน พร้อมวางแผนระยะยาวสร้างระบบเก็บกักน้ำช่วงฤดูฝน โอนภารกิจ กปภ.ให้ อบจ.ดูแลแทน เพื่อบริหารจัดการแบบองค์รวม-ไม่แยกส่วน
วันที่ 8 พฤษภาคม 2567 นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล สส.ภูเก็ต เขต 3 พรรคก้าวไกล กล่าวถึงสถานการณ์การขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดและเกาะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต กระบี่ เกาะพีพี ประชาชนในพื้นที่ต้องเผชิญปัญหาหนักขึ้นและนานขึ้นทุกปีในช่วงฤดูร้อนแล้ง และหากไม่มีการจัดการใด ๆ จะกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยตรง
เขายกตัวอย่างปัญหาการขาดแคลนน้ำที่พบในจังหวัดภูเก็ต โดยจากการลงพื้นที่สำรวจแหล่งน้ำในจังหวัด คือเขื่อนบางวาดในอำเภอกะทู้ และอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำในอำเภอถลาง ทั้งสองแหล่งมีสภาพตื้นเขิน ทำให้เก็บกักน้ำได้น้อย และไม่มีน้ำเพียงพอให้การประปาส่วนภูมิภาคสูบไปทำน้ำประปา ปัญหานี้เกิดจากอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่แยกส่วนและไม่สัมพันธ์กัน กล่าวคือ เขื่อนและอ่างเก็บน้ำอยู่ในการบริหารของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่การประปาส่วนภูมิภาคเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย การที่ทั้งสองหน่วยงานทำงานไม่สอดประสานกันทำให้การแก้ปัญหาน้ำขาดแคลนเป็นไปด้วยความล่าช้า ไม่ทันสถานการณ์
ขณะเดียวกัน ในจังหวัดภูเก็ตยังมีส่วนของการให้บริการน้ำโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น เทศบาลนครภูเก็ต เทศบาลตำบล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งกำลังประสบปัญหาไม่สามารถจัดหาแหล่งน้ำได้เพียงพอเช่นกัน โดยปัญหาใหญ่เกิดจากการติดขัดเรื่องเขตอำนาจการปกครอง เช่น ตำบลเทพกระษัตรีมีสององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในตำบลเดียว คือองค์การบริหารส่วนตำบลเทพกระษัตรี และเทศบาลตำบลเทพกระษัตรี พื้นที่ที่เป็นแหล่งน้ำจะอยู่ในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลเทพกระษัตรี ส่วนพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นแต่ไม่มีแหล่งน้ำเป็นของตัวเอง คือเทศบาลตำบลเทพกระษัตรี นี่จึงเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้การแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำไม่มีประสิทธิภาพ
นายฐิติกันต์กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังพบปัญหาอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำ เช่น ต้นทุนการผลิตน้ำในปัจจุบันสูงกว่าราคาที่ทางเทศบาลจำหน่าย ทำให้มีงบประมาณกลับมาหมุนเวียนไม่เพียงพอ ขณะที่การประปาส่วนภูมิภาคจะวางท่อในแนวถนนหลักเท่านั้น ส่วนการวางท่อเข้าไปยังชุมชนและบ้านแต่ละหลังทางเทศบาลต้องออกค่าใช้จ่ายเอง แต่ไม่สามารถจัดเก็บรายได้ใด ๆ ได้ อีกทั้งหน่วยงานภาครัฐยังไม่มีการประมาณการผู้ใช้น้ำ และปริมาณน้ำที่สามารถใช้ได้ในช่วงหน้าแล้ง รวมถึงมีน้ำในระบบที่สูญเสียไปเป็นจำนวนมาก แต่กลับไม่มีระบบการตรวจสอบปริมาณน้ำที่ต้นทางและปลายทาง จนประชาชนในพื้นที่ตั้งข้อสังเกตว่า หากมีการแอบต่อท่อจากเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำไปใช้โดยพลการจะตรวจสอบอย่างไร เพราะทุกอย่างอยู่ใต้ดิน
ส.ส.ภูเก็ต ให้ข้อเสนอว่า ภาครัฐควรวางแนวทางแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชนในพื้นที่และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยในระยะสั้น ผู้ให้บริการน้ำประปาทั้งการประปาส่วนภูมิภาคและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องจัดหาแหล่งน้ำมาเติมในระบบให้เพียงพอ ไม่ผลักภาระไปให้ประชาชนต้องหาซื้อรถน้ำจากเอกชนมาใช้เอง
ส่วนในระยะกลาง ภาครัฐควรผลักดันให้กรมชลประทานขุดลอกเขื่อนและอ่างเก็บน้ำให้เพียงพอต่อการเก็บกักน้ำในปีต่อไป และการประปาส่วนภูมิภาคควรจัดหาแหล่งน้ำเพิ่ม เร่งเจรจากับกระทรวงต่าง ๆ ที่มีแหล่งน้ำในพื้นที่ และจัดสร้างระบบเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝนที่จะถึงนี้
และข้อเสนอเชิงโครงสร้างในระยะยาว ภาครัฐควรถ่ายโอนภารกิจของการประปาส่วนภูมิภาคมายังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) โดยให้เป็นผู้นำในการบริหารจัดการ จัดหาแหล่งน้ำ ควบคุมน้ำประปาให้สะอาดและมีมาตรฐาน รวมถึงวางระบบเก็บกักน้ำใต้ดินที่รับน้ำช่วงฤดูฝนมาใช้ในช่วงฤดูแล้ง หากทำได้เช่นนี้จะทำให้การบริหารจัดการน้ำอุปโภคบริโภคในจังหวัดบูรณาการแบบองค์รวมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น