รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) และประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว กล่าวถึงการบริหารงานของรัฐบาลปัจจุบัน โดยระบุว่า “หากรัฐยังเอื้อต่อการผูกขาดทางเศรษฐกิจ ก็ยากที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้
ในประวัติศาสตร์ของประเทศที่สามารถขจัดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้ รัฐบาลจะต้องดำเนินการทั้งทางกฎหมาย นโยบาย มาตรการ และการปฏฺิบัติที่เป็นจริงเพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดทางเศรษฐกิจโดยกลุ่มทุนขนาดใหญ่เกิดขึ้นมาได้ กลุ่มทุนใดที่มีแนวโน้มว่าจะเติบโตไปสู่การผูกขาด รัฐบาลของประเทศเหล่านั้นก็จะใช้มาตรการทางกฎหมาย ทำลายการผูกขาดนั้นเสีย เพราะพวกเขาตระหนักดีว่า การผูกขาดจะทำลายระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรีในระยะยาว ทำลายความคิดสร้างสรรค์ของประชาชน และทำลายโอกาสในการประกอบธุรกิจของประชาชนรายเล็กรายน้อยอีกด้วย ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อการพัฒนาสังคม
แต่บางประเทศรัฐบาลไม่ดำเนินการใดๆ หรือดำเนินการแบบไม่เอาจริงเอาจังกับการขจัดการผูกขาดทางเศรษฐกิจ ก็เท่ากับเป็นการเปิดทางให้นายทุนใหญ่ดำเนินการผูกขาดทางเศรษฐกิจอย่างสะดวกสบาย หรือที่แย่กว่านั้น ในบางประเทศ รัฐบาลมีมาตรการเกื้อหนุนต่อการผูกขาดทางเศรษฐกิจของนายทุนใหญ่ ซึ่งทำให้การผูกขาดยิ่งแข็งแกร่งมากขึ้น ส่งผลให้รายได้และทรัพยากรส่วนใหญ่ของสังคมถูกดูดเข้าไปสู่หลุมดำของกลุ่มทุนผูกขาด ผลลัพธ์คือประเทศนั้นจะมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมสูง ดังที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในปัจจุบัน ซึ่งความเหลื่อมล้ำสูงเป็นลำดับสามของโลก
นอกจากเอื้อต่อนายทุนผูกขาดแล้ว รัฐบาลไทยก็ไปไกลจนกู่ไม่กลับ ด้วยการเปิดช่องให้รัฐวิสาหกิจบางแห่งตั้งบริษัทลูก อาศัยทรัพยากรของรัฐเข้าไปประกอบการธุรกิจแข่งกับเอกชน ซึ่งสร้างความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันขึ้นมาในแวดวงธุรกิจเหล่านั้น มิหน้ำซ้ำบรรดาบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจทั้งหลายได้ตั้งเงินเดือนผู้บริหารและพนักงานในอัตราที่สูง และยังจัดสรรค์ผลประโยชน์อื่นๆทั้งในรูปเงินโบนัสและสวัดิการอื่นๆอีกมากมาย
หากสถานการณ์ยังเป็นอย่างนี้ต่อไป ความเหลื่อมล้ำก็ไม่มีวันลดลงได้ ซ้ำยังจะเพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำไป หากต้องการลดความเหลื่อมล้ำจริง ไม่ใช่สักแต่พูดไปวันๆ ต้องจัดการกับการผูกขาดอย่างจริงจัง จะเริ่มที่บริษัทใด หรือ รัฐวิสาหกิจใด ก็ลองเลือกเอาดูเอง แต่ผมคิดว่าชาวบ้านเขารู้ว่าบริษัท หรือรัฐวิสาหกิจใดบ้างที่ทำธุรกิจแบบผูกขาดอย่างรุนแรง โดยเห็นได้จากกระแสต่อต้านที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวในสื่อสังคมออนไลน์
ดังนั้นเป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลจะไม่รู้ ไม่เห็น หรือไม่ได้ยินเสียงของประชาชน แต่ก็ยังทำเฉย ไม่รู้ไม่ชี้ ท่าทีแบบนี้ทำให้ผู้คนเขาคิดได้ว่า รัฐบาลอาจจะรู้เห็นเป็นใจต่อการผูกขาดทางเศรษฐกิจ และหากเป็นเช่นนั้นจริงก็หมายความว่า รัฐบาลเป็นตัวการหลักที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางสังคมของไทยดำรงอยู่แบบยั่งยืน”
หากรัฐยังเอื้อต่อการผูกขาดทางเศรษฐกิจ ก็ยากที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้ …
โพสต์โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต เมื่อ วันพุธที่ 8 สิงหาคม 2018