ยุบ บก.ปทส.หวั่นซ้ำรอยยุบ บก.รถไฟ แฉป้องกันเหตุยังโยนให้ ตร.เหมือนเดิม

1058

ทุกครั้งที่เผด็จการทหารก่อรัฐประหาร สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นหนึ่งในเงื่อนไข ที่ถูกยกขึ้นอ้าง เพื่อสร้างความชอบธรรมให้การก่อรัฐประหารดูดีว่าต้องปฏิรูปตำรวจ การกล่าวอ้างมาเห็นผลในในยุคของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้ารัฐประหาร ด้วยการผลักดันพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ออกมาบังคับใช้ ซึ่งประเด็นที่คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ให้ความสำคัญคืออะไรที่ไม่ใช้ภาระหน้าที่หลักของตำรวจให้ยุบกองบังคับการนั้นแล้วไปขึ้นตรงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กองบังคับการตำรวจรถไฟ (บก.รฟ.)ถูกยุบเป็น บก.แรก ตามบทเฉพาะกาลมาตรา 163 ของกฎหมายตำรวจ 2565 โดยให้โอนงบประมาณของการรถไฟแห่งประเทศไทยส่วนที่ได้รับงบประมาณแผ่นดินสำหรับเงินเดือน ค่าตอบแทน และค่าใช้จ่ายอื่นของตำรวจไปเป็นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาตรา 164 หน้าที่และอำนาจของตำรวจรถไฟในส่วนที่เกี่ยวกับการสืบสวนหรือสอบสวนที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อนยุบ บก.รฟ.ให้โอนไปที่สถานีตำรวจหรือบก.ตามที่ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.)กำหนด

   พลันที่ตำรวจรถไฟถูกยุบ การรถไฟแห่งประเทศไทยหวั่นจะมีปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัย จึงประสานขอความร่วมพล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง(ผบช.ก.)ให้ส่งกำลังไปดูแลความสงบเรียบร้อยบนโบกี้รถไฟทั่วประเทศ ในนามศูนย์ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมบนขบวนรถไฟ สังกัด บช.ก. เพื่อป้องกันการกระทำผิดบนขบวนรถไฟ

   ต่อมา พล.ต.ท.จิรภพ เห็นท่าไม่ดี เพราะโอกาสที่ บช.ก.ต้องรับภาระนี้ไปยาวนานแน่นอน จึงมีแนวคิดผลักดันตั้งกองบังคับการตำรวจระบบราง ขึ้นมาเป้าหมายดูแลขบวนรถไฟ รถไฟฟ้า และรถไฟความเร็วสูงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หลัง บก.รฟ.ถูกยุบ มีการดำเนินการตามบทเฉพาะกาลมาตรา 165 ให้โอนภาระหน้าที่การบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมทั้งทางบกทางน้ำ ให้กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี  หากพ้นกำหนดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือกันไม่ได้ข้อยุติให้ ยุบกองบังคับการปราบปรามการการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(บก.ปทส.)

การดำเนินการส่อเค้าสะดุด เมื่อ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ส่ง พล.ต.ท.อภิรัต นิยมการ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ไปหารือกับ พล.ต.ท.จิรภพ

มีข้อสรุป 2 ประเด็นคือ 1.ความร่วมมือระหว่าง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.กับ บช.ก. ขอตั้งศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อประสานงานป้องกันและปราบปรามคดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม 2.ระหว่างถ่ายโอนภารกิจ บก.ปทส.ไปให้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อยุบ บก.ปทส. ทางกระทรวงทส.ยังไม่พร้อมรับ พร้อมเสนอความเห็น ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาไม่ให้ยุบหน่วย

   หากพิจารณาทั้งกรณียุบ บก.รฟ.และกำลังจะยุบ บก.ปทส. มองได้ว่ากำลังเกิดปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะไม่มีการเตรียมการเพื่อรับโอนภาระหน้าที่กันแต่อย่างใด แค่ดำเนินการตามกฎหมายตำรวจเพียงแค่ 2 บก.ก่อปัญหามากมายแล้ว ซึ่งในบทเฉพาะกาลยังกำหนดให้ถ่ายโอนภาระหน้าที่อีกหลายด้านอาทิการอนุญาตหรือการจดทะเบียนต่างๆไปขึ้นตรงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เสร็จสิ้นภายใน 5 ปี

นับจากนี้ไปการโอนภารกิจต่างๆคงจะก่อปัญหาตามอีกมาก เพราะหลายหน่วยงานไม่อยากจะรับโอน เนื่องจากแต่เรื่องล้วนแต่เกี่ยวพันกับกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย ถ้าหน่วยงานที่รับโอนตั้งรับไม่ได้โอกาสถูกร้องเรียนฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบมีสูงเช่นกัน จึงพออนุมานได้ว่าคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจที่ผลักดันกฎหมายฉบับนี้ออกมาไม่ได้คิดทั้งองคาพยพและไม่เข้าใจงานตำรวจอย่างแท้จริง  มุ่งคิดแต่จะตัดทอนอำนาจตำรวจโดยไม่มองถึงผลที่จะสร้างความหายให้กับหน่วยงานที่ต้องนำไปปฏิบัติอย่างใด

  เมื่อถึงที่สุดภาระหน้าที่นี้ต้องวนกลับมาอยู่ในความรับผิดชอบของตำรวจอยู่ดี ตัวอย่าง ยุบ บก.รฟ.เป็นหลักฐานได้ดีที่สุด เพราะปัญหาในทางปฏิบัติการรถไฟแห่งประเทศไทย ไม่สามารถดำเนินการได้ ต้องร้องขอให้ บช.ก.ช่วยทำหน้าที่ดังเดิมและปัญหากำลังเกิดขึ้นกับกระทรวงทส.ถึงขั้นเจ้ากระทรวงฯขอสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ให้ยุบบก.ปทส.

  ดังนั้นเพื่อยับยั้งปัญหาความไม่พร้อมในการปฏิบัติตามกฎหมายตำรวจฉบับนี้ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้องและ ผบ.ตร.ต้องเร่งหาทางออก อาจจะใช้อำนาจยับยั้งพร้อมแก้ไขกฎหมายในส่วนที่จะสร้างปัญหา ให้เรียบร้อยก่อนแล้วค่อยดำเนินการน่าจะไม่สายไป

เพราะดูแล้วหากยังเดินหน้าต่อภาระหน้าที่ที่โอนย้ายจะวนกลับให้ตำรวจปฏิบัติเหมือนเดิมแล้วจะดันทุรังเดินต่อทำไม !!!