นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ที่ผ่านมานั้น กรมควบคุมโรคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้ามาโดยตลอดและขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มีรายงานการศึกษาในต่างประเทศที่ระบุว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งเป็นระบบที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการดำเนินชีวิต
ข้อมูลจากวารสารสมาคมโรคหัวใจของสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนกันยายน 2560 รายงานว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีส่วนประกอบของสารเคมีที่มีพิษและก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งนอกจากจะมีโทษต่อผู้สูบแล้วนั้น ละอองไอของบุหรี่ไฟฟ้ายังก่อให้เกิดโทษและผลกระทบต่อผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ไฟฟ้าอีกด้วย แม้จะเริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้าระยะเวลาสั้นๆ ผลจากการสูบก็ยังส่งผลเสียต่อเซลล์และระบบของร่างกายได้เช่นกัน อาทิ ระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาทส่วนกลาง ระบบภูมิคุ้มกัน ดวงตา และผิวหนัง เป็นต้น รวมถึงยังก่อให้เกิดมะเร็งในอวัยวะต่างๆ เช่น มะเร็งปอด มะเร็งช่องปาก และมะเร็งลำคอ เป็นต้น โดยเฉพาะระบบหัวใจและหลอดเลือด จากการศึกษาพบว่า การใช้บุหรี่ไฟฟ้าส่งผลเสียอย่างฉับพลัน คือ ทำให้หัวใจเต้นเร็ว และเกิดภาวะความดันโลหิตสูงขึ้น และยังทำให้เซลล์ของหลอดเลือดทำงานผิดปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
สารนิโคติน สารประกอบในกลุ่มคาร์บอนิล และยังมีอนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็ก ที่พบทั้งในน้ำยาเติมบุหรี่ไฟฟ้า และในละอองไอที่เกิดจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยสารนิโคตินที่พบในบุหรี่ไฟฟ้าก่อให้เกิดการเสพติด เป็นสารก่อมะเร็งในปอดและทางเดินอาหาร ขัดขวางพัฒนาการของสมองในผู้เยาว์ ซึ่งสารในกลุ่มคาร์บอนิลที่พบในบุหรี่ไฟฟ้า อาทิ ฟอร์มาลดีไฮด์ อัลดีไฮด์ อะเซตัลดีไฮด์ อโครลีน นอกจากเป็นสารก่อมะเร็งแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดอีกด้วย
กรมควบคุมโรค ขอให้เด็ก เยาวชนและผู้ที่สูบบุหรี่ตระหนักถึงความเสี่ยงดังกล่าว หากประชาชนที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ สามารถโทรศัพท์ปรึกษาได้ที่ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ หมายเลข 1600 และคลินิกที่ให้บริการเลิกบุหรี่ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข