นายกฯ เศรษฐา หารือรมว.ต่างประเทศอังกฤษ พร้อมประกาศยกระดับความสัมพันธ์ไทย-สหราชอาณาจักร สู่หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ผลักดันความร่วมมือให้ใกล้ชิดทุกมิติ
วันที่ 20 มีนาคม 2567 เวลา 15.00 น. ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ลอร์ดแคเมอรอน แห่งชิปปิงนอร์ตัน (The Right Honourable the Lord Cameron of Chipping Norton) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร เข้าเยี่ยมคารวะนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการ โดยก่อนหน้านี้ลอร์ดแคเมอรอนฯ ได้ร่วมในพิธีลงนามความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ไทย-สหราชอาณาจักร (Thailand – UK Strategic Partnership Roadmap) ณ กระทรวงการต่างประเทศ ทำให้อังกฤษเป็นประเทศแรกในยุโรปที่ไทยมีความร่วมมือในลักษณะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ด้วย
ได้หารือเพื่อส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนอย่างรอบด้านในสาขาที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน 8 สาขา ได้แก่ (1) เศรษฐกิจการค้า และการลงทุน (2) การเมือง รัฐสภาและพหุภาคี (3) ความมั่นคงและกลาโหม (4) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงาน เศรษฐกิจสีเขียว และการพัฒนาที่ยั่งยืน (5) เกษตรกรรม (6) ดิจิทัล วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม (7) สาธารณสุข และ (8) ความสัมพันธ์ระดับประชาชน การศึกษา และซอฟต์พาวเวอร์
ทั้งนี้นายเศรษฐา เน้นย้ำถึงการให้ความสำคัญของรัฐบาลในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทย ผ่านการเปิดตลาดการค้ากับต่างประเทศ ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ รวมทั้งยกระดับรายได้ให้แก่คนไทย พร้อมเชิญชวนสหราชอาณาจักรเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ซึ่งลอร์ดแคเมอรอนฯ ยินดีกระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจกับไทย และหวังว่าการค้าและการลงทุนระหว่างกันจะเพิ่มมากขึ้น
ขณะที่ ลอร์ดแคเมอรอนฯ กล่าวถึงประเด็นความมั่นคงว่า ได้เดินทางไปพบหารือกับหน่วยงานด้านความมั่นคงของไทย และได้หารือถึงแนวทางกระชับความร่วมมือทางด้านความมั่นคงระหว่างกัน พร้อมขอบคุณไทยที่สนับสนุนการสมัครเข้าร่วมในกรอบการประชุมระหว่างรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา (ASEAN Defence Ministers’ Meeting Plus) ซึ่งนายกฯไทย ยินดีที่ความร่วมมือทางด้านความมั่นคงของทั้งสองมีความใกล้ชิด หวังว่าไทยและสหราชอาณาจักรจะร่วมมือกันให้ใกล้ชิดทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี
นอกจากนี้นนายเศรษฐากล่าวชื่นชมบทบาทของอังกฤษในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งลอร์ดแคเมอรอนฯ สนใจกระชับความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม กับไทยให้ใกล้ชิดมากขึ้น ผ่านการสนับสนุนในกองทุนความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมระหว่างประเทศ (International Science Partnership Fund: ISPF) ของสหราชอาณาจักร
ในโอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างสร้างสรรค์ถึงสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งในเมียนมา รัสเซีย-ยูเครน และความไม่สงบในตะวันออกกลาง โดยไทยในฐานะประเทศที่ไม่ได้มีส่วนในความขัดแย้ง มุ่งหวังให้ทุกฝ่ายเจรจาอย่างสันติ เพื่อนำไปสู่ความสงบสุข