ไทยมีลุ้น ขยับจากเทียร์ 2 ขึ้นสู่ เทียร์ 1 หลังทุกฝ่ายชมเปราะ ผลการบังคับใช้กฏหมายของไทยดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด หลัง รองฯโจ๊กพร้อมทีมไทยแลนด์ เข้าชี้แจงผลการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เป็นวันที่ 2
วันพุธที่ 6 มี.ค.67 เวลา 11.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา ณ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา คณะผู้แทนไทย นำโดย นายเชษฐพันธ์ มากสัมพันธ์ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร./ผอ.ศพดส.ตร. นางจตุพร แสงหิรัญ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีค้ามนุษย์ และคณะ ได้ร่วมหารือกับกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา นำโดยท่านทูต Cindy Dyer Ambassador-at-Large, Office to Monitor and Combat Trafficking in Persons และ คุณ Desiree Suo Weymont Senior Coordinator, Report and Principal Affairs
โดยกระทรวงการต่างประเทศที่รับผิดชอบการติดตามผลการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของทุกประเทศทั่วโลก ได้ให้ความสนใจกับการพิสูจน์ตัวตนเหยื่อในการทำประมงของประเทศไทย ที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินการ รวมถึงการช่วยเหลือแรงงานและนำเข้าสู่กระบวนการ NRM เพื่อคัดแยกเหยื่อในเคส Scammer จากประเทศเมียนมาร์ ซึ่งทางการไทยประสบความสำเร็จในการดำเนินการเช่นเดียวกัน รวมถึงความสำเร็จการทำงานร่วมกับเหยื่อในสถานคุ้มครองของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ฯ ระบุว่า การบังคับใช้กฎหมายของไทย มีการดำเนินคดีเพิ่มสูงขึ้นจากปีที่แล้ว จากคดีล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยใช้เครื่องมือพิเศษ เช่น Cellebrite ในการสืบสวนหาพยานหลักฐาน และสามารถดำเนินคดีผู้กระทำความผิดในฐานครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็กได้ และขยายสู่คดีค้ามนุษย์มากถึง 99 ราย ทั้งยังขยายผลจับกุมผู้ซื้อบริการทางเพศเด็กมากถึง 197 คน สูงกว่าปี พ.ศ.2565 ที่มีการดำเนินคดี 67 คน คิดเป็นร้อยละ 194.03
ส่วนกรณีที่มีการช่วยเหลือคนไทยกลับมาจากประเทศเพื่อนบ้านนั้น รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติบอกว่า ปัญหาสำคัญคือ ทั้งกัมพูชา และเมียนมาร์ เป็นฐาน Hybrid Scam ที่สำคัญ ซึ่งปี พ.ศ.2565
“เราช่วยเหลือคนไทยมาจากประเทศกัมพูชา จำนวน 1,105 คน และคัดแยกเป็นเหยื่อได้ 242 คน ส่วนในปี พ.ศ.2566 คนร้ายได้ย้ายฐานไปอยู่ในประเทศเมียนมาร์ และเราก็สามารถช่วยเหลือมาได้อีก 525 คน คัดแยกแล้วเป็นเหยื่อ 174 คน ”
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ฯ บอกว่า สาเหตุที่คัดแยกแล้วเป็นเหยื่อน้อย ก็เพราะว่า ส่วนใหญ่แรงงานไทยสมัครใจไปทำงาน เพราะค่าตอบแทนสูง แต่ที่ต้องการกลับประเทศไทย ก็เพราะภาวะสงครามที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมาร์
อย่างไรก็ตามเรา ได้สืบสวนสอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดในเครือข่ายของเมืองเล้าก์ก่าย ได้จำนวน 2 เครือข่าย ออกหมายจับผู้ต้องหาได้รวม 34 คน จับกุมไปแล้ว 26 คน หลบหนีอยู่ 8 คน และปัจจุบันฐาน Hybrid Scam ก็ได้ย้ายฐานไปเมืองเมียววดี และชเวโก๊ะโก ซึ่งตำรสจจับกุม นายสือ จื้อเจียง นายทุนใหญ่กลุ่มจีนเทา ที่สร้างเมืองชเวโก๊ะโก และเป็นหนึ่งในสามบุคคลที่ทางการสหรัฐคว่ำบาตรไว้ได้ และปัจจุบันอยู่ในความควบคุมในเรือนจำของทางการไทย
“ส่วนการช่วยเหลือคนไทยมาจากเมืองเล้าก์ก่ายนั้น ยากลำบาก ต้องอาศัยความร่วมมือผ่านแดน นำคนไทยออกมาทางเมืองคุนหมิง และส่งเครื่องบินเช่าเหมาลำไปรับกลับประเทศไทย”
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ฯ ยังบอกด้วยว่า การช่วยเหลือแรงงานพม่าในการประมง เราได้ดำเนินคดีกับเจ้าของเรือประมง และส่งเหยื่อแรงงานพม่ารายดังกล่าวกลับประเทศเมียนมาร์ไปแล้ว
ขณะที่การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ถือว่าดีขึ้นกว่า 3 ปีที่ผ่านมา แต่ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ บอกว่า ไม่อยากให้มองเพียงประเทศใดประเทศหนึ่ง เพราะรอบข้างประเทศไทย มีการคอร์รัปชั่นสูง จึงเป็นฐานที่ตั้งของ Call Center ทำให้ปัญหาการค้ามนุษย์ในภูมิภาคยังคงอยู่ แต่ประเทศไทยก็ยังคงต่อต้านการค้ามนุษย์ต่อไป เพื่อให้ประเทศไทยขยับขึ้นสู่ Tier 1 ให้ได้
“หากมองในแง่ความเป็นภูมิภาคควรสนับสนุนให้ประเทศไทยขยับสู่ Tier 1 เพื่อเป็นผู้นำในภูมิภาคในการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ในระดับภูมิภาคอย่างจริงจัง”
ทั้งนี้ ทูตซินดี้ ได้กล่าวชื่นชมด้านการบังคับใช้กฎหมายที่นำโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานอัยการสูงสุด ที่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างก้าวกระโดด มีจำนวนคดีค้ามนุษย์เพิ่มขึ้น มีการดำเนินคดีเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศเด็กเพิ่มมากขึ้น มีการพิสูจน์ตัวตนเหยื่อได้มากขึ้น อีกทั้งยังกล่าวชื่นชมการดำเนินการช่วยเหลือคนไทยมาจากประเทศเมียนมาร์และขยายผลดำเนินคดีกับแก็งค์คอลเซ็นเตอร์ได้ ซึ่งถือเป็นความเข้มแข็งในด้านการบังคับใช้กฎหมายอย่างแท้จริง
“จากนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ จะจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการฝึกอบรมการต่อต้าน Hybird Scam ในอนาคต เพื่อสนับสนุนการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายในประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีกด้วย” ฑูตซินดี้ ระบุ
ต่อมาเวลา 15.30 น. คณะผู้แทนไทย ได้พบกับ ส.ส.Chris Smith ณ ห้องทำงานของในอาคาร Rayburn ซึ่งเป็นที่ทำการของ ส.ส.ในสภาคองเกรส
การหารือครั้งนี้ ส.ส.คริส สมิธ ให้ความสนใจเกี่ยวกับเคสผู้ลี้ภัยชาวจีน จากคริสตจักรเมย์ฟลาวเวอร์ 63 คน ซึ่ง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ฯ ชี้แจงว่ากรณีดังกล่าว เราพบกลุ่มคนจีนในปี พ.ศ.2566 ที่พัทยา จ.ชลบุรี และนำเข้ากระบวนการ NRM พบว่าไม่มีผู้ใดเป็นเหยื่อค้ามนุษย์เลย จึงได้ดำเนินการส่งมายังประเทศสหรัฐอเมริกาครบทั้ง 63 คนเรียบร้อยแล้ว รวมถึงได้ชี้แจงถึงสถานะการปฏิเสธนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในราชอาณาจักรไทย ที่มีประวัติล่วงละเมิดทางเพศเด็ก
”โดยระบุว่า ในปี พ.ศ.2566 สตม.ไทย ปฏิเสธไปทั้งสิ้น 24 คน เป็นสัญชาติอเมริกัน 20 คน และในต้นปี พ.ศ.2567 ก็ได้ปฏิเสธคนสัญชาติอเมริกันไปอีก 2 คน ซึ่งตอนนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติไทย อยู่ระหว่างการยกร่างกฎหมายเช่นเดียวกับ Megan’s Law ที่มีในสหรัฐอเมริกา“
ส.ส.คริส สมิธ ได้แนะนำเพิ่มเติม ให้ทำการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการปฏิเสธคนเข้าเมืองกรณีดังกล่าวออกไป เมื่อนักท่องเที่ยวประเภทนี้ทราบก็จะไม่กล้าเข้าประเทศไทย
ส่วนโครงการ Child Safe Tourism Project ที่นอกจากจะขับเคลื่อนในโรงแรมทั่วประเทศแล้ว พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ฯ บอกว่า ตอนนี้ได้ขยายไปสู่อุตสาหกรรมสายการบิน และภาคการขนส่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ตามคำแนะนำของ ส.ส.คริส สมิธ แล้ว เพื่อให้ห่วงโซ่การท่องเที่ยวของประเทศไทยปลอดภัยสำหรับเด็กทุกคน
ส่วนการยกระดับการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศในเด็ก ให้กับนักเรียนในโรงเรียน สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ให้ความสำคัญ และดำเนินโครงการ D.A.R.E. 2 C.A.R.E ไปทั่วประเทศ ผ่านครูแดร์ทั้ง 1,484 สถานีตำรวจ
“โดยในปี พ.ศ. 2566 ให้การอบรมไป 38,469 ครั้ง ผู้เข้ารับการอบรม 946,268 คน ในสถานศึกษา 22,164 แห่ง และชุมชน 4,268 แห่ง”
ทั้งหมดนี้ เป็นความสำเร็จจากการเดินทางมาชี้แจงผลการปฏิบัติด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร./ผอ.ศพดส.ตร. 3 ปีติดต่อกัน และมีผลการปฏิบัติก้าวกระโดดเพิ่มมากขึ้นทุกปี ขยับจาก Tier 2 Watchlist สู่ Tier 2 และในปีนี้เรามีลุ้นขึ้นสู่ Tier 1 หากประเทศสหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญและต้องการผลักดันให้ประเทศไทย เป็นผู้นำหรือประเทศต้นแบบในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในการต่อต้านการค้ามนุษย์ และเป็นการขยายวงพัฒนาการออกไปจากประเทศสู่ระดับภูมิภาคอย่างแท้จริง