เมื่อวันที่ 23 ก.พ.2567 พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน ได้โพสน์บุค มีใจความระบุว่า ต้องยอมรับว่าหน่วยงานตำรวจ เป็นหน่วยงานที่จำเป็นต้องมีอยู่ในสังคม เพื่อบังคับใช้กฎหมาย รักษาความสงบเรียบร้อยให้กับบ้านเมือง “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับประชาชน” ดังนั้น คำพูดที่ว่า “ตำรวจมันพังมาตั้งนานแล้ว” จึงไม่ควรพูด แล้วถ้ายิ่งออกจากปากตำรวจด้วยกันเองก็ยิ่งไม่ควรมี จะพังไม่พังก็อยู่ที่ตัวตำรวจเองนั่นแหละ อยู่ที่ตัวคุณตัวผม หรือตัวมึงตัวกู ไม่ใช่องค์กร องค์กรยังจำเป็นต้องอยู่ จำเป็นต้องมี ขออย่าได้เอา องค์กรตำรวจไปเป็นตัวประกัน
“รุ่นมันไล่กันไม่ทัน แต่ยศตำแหน่งเป็นเรื่องของวาสนาบารมี” คำพูดนี้ชอบมาก แต่ถ้าจะพูดให้จบ ต้องต่อว่าจะรุ่นไหน ยศตำแหน่งใด ก็เกษียณอายุราชการและไปสู่สัมปรายภพด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น แต่องค์ตำรวจยังต้องอยู่…
ทางคดีกระผมจะไม่เข้าไปก้าวล่วง แต่ใคร่ขอร้องว่าการดำเนินคดีไม่ใช่เวทีโต้วาที ขออย่าได้เหยียบย้ำซ้ำเติม ดิสเครดิตกัน ไม่ว่าระหว่างกัน หรือเอาองค์กรตำรวจไปเปรียบเทียบกับองค์กรอื่นในทางที่ต้องการให้เกิดความเสียหาย ระบบกล่าวหาของตำรวจมีการสืบสวนสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน มีพนักงานอัยการตรวจสอบกลั่นกรองอีกชั้นหนึ่ง ก่อนที่จะมีความเห็นทางคดีก็มีจุดแข็งของระบบนี้
ส่วนระบบไต่สวน ที่ ป.ป.ช. ใช้มีเจ้าหน้าที่สืบสวน แสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐาน เสนอเข้าที่ประชุม คณะกรรมการมีมติรับเรื่อง – ชี้มูล ก็มีจุดแข็งเช่นกัน พูดไม่ได้ว่าแบบไหนดีกว่ากัน มันอยู่ที่ว่า การสืบสวนสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน กับการไต่สวน แสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐาน เป็นไปโดยสุจริต โปร่งใส และเที่ยงธรรม หรือไม่ ถ้าน้ำที่ต้นธารเป็นน้ำที่ใสสะอาด น้ำที่ปลายธารก็จะใสสะอาดตามไปด้วยก็แค่นั้น… ขอให้เชื่อมั่นในระบบและรูปแบบการทำคดีของตำรวจ จะเฉไฉ บิดเบี้ยว ก็อยู่ที่ตัวผู้ปฏิบัติต่างหาก อันนี้ก็ไปว่ากันเอง…
ขออย่างเดียว อย่าได้โต้กันไปโต้กันมาจนเป็นที่ตลกขบขันของผู้คน ยิ่งกว่าตลกคาเฟ่สมัย “เจ๋ง ดอกจิก” “แมวเก้าชีวิตที่อาจจะไม่มีชีวิตที่สิบ” บ้างล่ะ!!! “ขอยศใหญ่ๆ หน่อยที่ออกมาพูด คุณยศอะไร ตำแหน่งอะไร” บ้างล่ะ!!!
พยานหลักฐานมีมูลเพียงพอก็ดำเนินคดีกันไป… ผู้ที่ถูกดำเนินคดีมีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาหักล้าง ก็พิสูจน์กันไปตามบทบาทอำนาจหน้าที่ก็เท่านั้น สำคัญที่สุดขอจงได้ อย่าให้ร้ายอย่าทำลายองค์กรตำรวจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยน้ำมือของพวกเรากันเอง
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วกระผมได้อ่านข่าวการให้สัมภาษณ์ของ กรรมการ ก.ตร. ท่านหนึ่ง ทำนองว่า พบแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ทางออก “ปม” พนักงานสอบสวน กระผมรู้สึกตื่นเต้นดีใจกับพาดหัวข่าวดังกล่าว แต่พอเข้าไปอ่านในเนื้อข่าวถึงกับ “เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้”
ปัญหาพนักงานสอบสวนขาดแคลน
ปัญหาพนักงานสอบสวนหนีไปช่วยราชการ
ปัญหาเงินประจำตำแหน่งของพนักงานสอบสวน
นอกจากที่ปากอุโมงค์จะมืดมิด ปากอุโมงค์ก็ถูกปิดลงทันที เพราะปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาดั้งเดิมที่มีมาตั้งแต่ครั้งสมัยเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองแล้วล่ะ ปัญหาใหญ่ ปัญหาที่จะต้องเร่งแก้ไข ที่จะให้ตำรวจสมัครใจ เต็มใจที่มาอยู่ในสายงานสอบสวน ยังไม่เห็นพูดถึงสักแอะ ทั้งๆ ที่มีบัญญัติอยู่ในพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ
กำหนดเป็นกลุ่มสายงาน เรียกว่า “กลุ่มสายงานสืบสวนสอบสวน” ให้มีอำนาจหน้าที่ทั้ง “สืบสวน” และ “สอบสวน” เจ้าหน้าที่ตำรวจในสายงานสืบสวนก็จะสังกัดอยู่ในกลุ่มสายงานนี้ จะทำให้งานสืบสวน กับ สอบสวน เป็นงานที่เป็นเหรียญเดียวกัน แต่อยู่กันคนละด้าน นั่นแปลว่าเนื้องานเดียวกันแต่มีความเป็นอิสระจากกัน (หัวกับก้อย) อันจะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐาน และการรวบรวมพยานหลักฐานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องอย่างมีประสิทธิภาพ (มาตรา 61)
กำหนดให้กลุ่มสายงานสืบสวนสอบสวนเป็นตำแหน่งเลื่อนไหล โดยให้เลื่อนไหลได้ถึงรองผู้กำกับการ หรือรองผู้บังคับการ แล้วแต่กรณี อันจะสร้างขวัญและกำลังใจให้กับบุคลากรเจ้าหน้าที่ในสายงานนี้มีความเจริญก้าวหน้าได้อย่างเป็นระบบ ปราศจากบุคคลอื่นที่จะให้คุณหรือให้โทษได้ (มีความเป็นอิสระ) ซึ่งจะทำให้ตำรวจน้ำดีกล้าที่จะผดุงความยุติธรรมได้อย่างแท้จริง (มาตรา 62)
ให้ได้รับเงินเพิ่มพิเศษประจำตำแหน่งในอัตราที่มากพอที่จะอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี เมื่อเทียบเคียงกับบุคลากรขององค์กรในกระบวนการยุติธรรมอื่น (มาตรา 70)
ก.ตร. ต้องกำหนดตำแหน่งผู้ช่วยพนักงานสอบสวน เพื่อให้การสนับสนุนช่วยเหลือในการปฏิบัติงานของพนักงานสอบสวนที่ไม่ใช่ภาระงานที่สำคัญที่ต้องปฏิบัติด้วยตนเอง เพื่อแบ่งเบาภาระให้กับพนักงานสอบสวน
การแต่งตั้งโยกย้าย เข้ามา หรือ ออกจาก กลุ่มสายงานสืบสวนสอบสวน จะต้องเกิดจากความสมัครใจของผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งด้วย
ห้ามบุคลากรในสายงานสืบสวนสอบสวนไปช่วยราชการในสายงานอื่นโดยเด็ดขาด
ห้าหกข้อที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ซึ่งส่วนใหญ่มีบัญญัติอยู่ในพระราชบัญญัติตํารวจแห่งชาติอย่างชัดแจ้ง และมีผลใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2565 ล่วงเลยมาโดยประมาณหนึ่งปีกับสี่เดือนแล้ว ไม่ทราบว่าผู้มีอำนาจทำอะไรกันอยู่…
การกำหนดตำแหน่ง แบ่งกลุ่มสายงาน การกำหนดให้เป็นตำแหน่งเลื่อนไหล อะไรต่อมิอะไรที่พูดมา ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมสักเรื่องเดียว แถมเกิดกรณีบังคับจับย้ายมาอยู่ในกลุ่มสายงานสืบสวนสอบสวนโดยเจ้าตัวไม่สมัครใจ ก็ยิ่งเป็นการซ้ำเติมงานสืบสวนสอบสวนมากยิ่งขึ้น เพราะเป็นการ “ข่มเขาโคขืนให้กลืนหญ้า”
ถ้าเป็นอย่างนี้… อย่าหวังเลยว่าจะมีแสงสว่าง… แม้กระทั่งแสงจากหิ่งห้อยเพียงตัวเดียวที่ปากอุโมงค์ก็จะไม่มีให้เห็น!!!
พลตำรวจโท อำนวย นิ่มมะโน
กรรมการ ก.ร.ตร.
22 กุมภาพันธ์ 2567
อ่านรายละเอียดคลิ๊ก