วันจันทร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. ให้การต้อนรับนายคิปทิเนสส์ ลินด์ซีย์ คิมโวเล (Mr. Kiptiness Lindsay Kimwole) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเคนยาประจำประเทศไทย และนายอเล็กซานเดอร์ มเวนดวา มุทินดา (Mr. Aleaxander Mwendwa Mutinda) เจ้าหน้าที่กงสุลประจำสถานเอกอัครราชทูตเคนยาประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะและหารือร่วมมือระหว่างประเทศ โดยมีนายปฤณ เมฆานันท์ ผู้อำนวยการสำนักปราบปรามยาเสพติด และนางสาวศรีตระกูล เวลาดี ผู้อำนวยการสำนักการต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. เข้าร่วม ณ ห้องรับรองเภา สารสิน สำนักงาน ป.ป.ส. (ดินแดง)
เลขาธิการ ป.ป.ส. ได้แสดงความขอบคุณที่รัฐบาลเคนยาได้ให้ความสำคัญกับความร่วมมือระหว่างประเทศด้านยาเสพติด และนำเสนอสถานการณ์ยาเสพติดในไทย พร้อมนำเสนอโครงการที่น่าสนใจซึ่งทางไทยกำลังดำเนินการ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างกัน โดยกล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีนโยบายเร่งด่วนเรื่องยาเสพติด ซึ่งได้มีการดำเนินการมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 – กุมภาพันธ์ 2567 ใน 2 เรื่องหลัก คือ 1) การแก้ไขผู้มีอาการทางจิตเวชจากยาเสพติดที่มีอาการรุนแรง ไม่สามารถอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างปกติ ให้เข้ารับการบำบัดรักษา และ 2) การกำหนดพื้นที่เร่งด่วนตามมาตรา 5 (10) ของประมวลกฎหมายยาเสพติด สกัดกั้นการนำเข้ายาเสพติดไม่ให้เข้ามาในไทยพื้นที่ด้านเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงราย และด้านพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดนครพนม โดยผลการปฏิบัติการประสบความสำเร็จอย่างมาก ทำให้สกัดกั้นยาเสพติดและจับกุมผู้กระทำผิดได้จำนวนมาก
นายคิปทิเนสส์ ลินด์ซีย์ คิมโวเล ได้กล่าวแสดงชื่นชมความมุ่งมั่นและผลสำเร็จในการแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาลไทย การพัฒนาความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และยังได้หารือถึงปัญหาการลักลอบค้ายาเสพติด รวมถึงอาชญากรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาผู้กระทำความผิดชาวเคนยา ลักลอบลำเลียงยาเสพติดโดยซุกซ่อนมาในร่างกายหรือสัมภาระและโดยสารเครื่องบินมายังไทย เพื่อเดินทางต่อไปประเทศปลายทางอื่น ๆ
เลขาธิการ ป.ป.ส. ได้กล่าวชี้แจงในประเด็นนี้ว่า ประเทศไทยมีกลไกคณะทำงานสกัดกั้นยาเสพติด ณ ท่าอากาศยานสากล (Airport Interdiction Taskforce: AITF) ทำการเฝ้าระวังและคัดกรองผู้โดยสารที่เดินทางมาพร้อมกับสายการบินที่มาจากประเทศต้นทางยาเสพติด และใช้เครื่อง X-RAY ที่สามารถตรวจจับการซุกซ่อนลำเลียงยาเสพติดทั้งทางกายภาพ เช่น การซุกซ่อนมาในร่างกาย หรือไปรษณีย์ พัสดุภัณฑ์ ทั้งนี้ ได้เสนอรัฐบาลเคนยาว่าทางการไทยจะช่วยจัดเตรียมสื่อประชาสัมพันธ์บทลงโทษตามกฎหมายของไทย เพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้ายาเสพติด และให้เกิดความเกรงกลัวต่อบทลงโทษจะช่วยลดจำนวนชาวเคนยาผู้ลักลอบลำเลียงยาเสพติดหรือกระทำผิดกฎหมายในประเทศไทย ณ ท่าอากาศยานในประเทศเคนยา พร้อมจะประสานหน่วยงานของไทยที่เกี่ยวข้องในเคนยาเพื่อหาช่องทางประชาสัมพันธ์กฎหมายยาเสพติดของไทยเพิ่มเติมด้วย
โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือร่วมกันเพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านยาเสพติดกับประเทศไทยผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ยาเสพติด การมอบหมายเจ้าหน้าที่ประสานงาน การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามยาเสพติดระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ การฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากร การศึกษาดูงานองค์ความรู้หรือแนวปฏิบัติที่ดีด้านยาเสพติด และการจัดทำเอกสารความตกลงเกี่ยวกับความร่วมมือด้านยาเสพติดระหว่างสองประเทศต่อไป