ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า กรธ.มีแนวคิดจัดระบบตำรวจติดตามบุคคลสำคัญ ซึ่งมีทั้งพวกที่หน่วยงานราชการส่งไป และไม่ได้ส่งไป ซึ่งเราต้องหาทางทำให้สามารถใช้อัตรากำลังได้อย่างเพียงพอ เพราะยังมีความจำเป็นในการอารักขาบุคคลสำคัญ ดังนั้น จะระบุในกฎหมายให้ชัดเจนว่า อารักขาบุคคลในตำแหน่งใดบ้าง โดยให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ประกาศ ส่วนที่เหลือที่ไม่เข้าข่ายจะต้องกลับต้นสังกัด แต่คงไม่ถึงกับยกเลิกตำรวจอารักขา เพราะภารกิจของตำรวจมีหน้าที่รักษาความปลอดภัยพระบรมวงศานุวงศ์กับบุคคลสำคัญ ซึ่งนอกเหนือจากพระบรมวงศานุวงศ์ ต้องพิจารณาว่าใครบ้างที่เป็นบุคคลสำคัญ คนธรรมดาตำแหน่งใดบ้างที่สมควรมีตำรวจอารักขาก็ให้กำหนดให้ชัดเจน จะได้รู้ว่าใช้อัตรากำลังไปกี่คน รวมไปถึงตำรวจที่ไปลงชื่อว่าไปช่วยงานกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) แต่ตัวไม่ได้ไปโดยไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน ก็จะทำให้ชัดเจนว่ากอ.รมน.ต้องการกี่คน ซึ่งต้องไปทำงานจริงไม่ใช่ไปรายงานตัวแล้วหายไปเลย
“สำหรับคนระดับนายกรัฐมนตรี แม้จะพ้นตำแหน่งไปแล้ว ก็ควรต้องมีตำรวจอารักขาเพราะถือว่าเป็นเกียรติ แต่อดีตนายกฯ คนนั้นจะต้องไม่มีคดีติดตัว ส่วนใครบ้างที่เป็นอดีตนายกฯ แล้วสมควรมีก็ให้ครม.ตัดสิน ส่วนกรณีตำรวจอารักขา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ถือว่าเข้าข่ายความผิด มาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ เป็นเรื่องของตำรวจที่จะดำเนินการ” นายมีชัย กล่าว