แม้จะเสียรางวัดที่โดนสังคม สื่อมวลชน และอดีตตำรวจหิวแสง ถล่มปมตำรวจโรงพักอรัญประเทศ สระแก้ว จับแพะคดีฆ่า ป้าบัวผัน ไปค่อนข้างหนัก
แต่ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) พลิกสถานการณ์สั่งตรวจสอบทุกประเด็นให้กระจ่าง สั่งดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องทั้งคนร้ายและตำรวจที่ทำงานผิดพลาด
ที่โดนใจชาวบ้านและมีเสียงขานรับมากที่สุดคือ ออกมาตรการสั่งระดมกวาดล้างกลุ่มแก๊งเยาวชนกวนเมืองทั่วประเทศให้ลดลงภายใน 1 เดือนหรือเรียกกันว่า เคอร์ฟิวเด็ก
ให้จัดทำบันทึกประวัติพฤติกรรมของกลุ่มแก๊งเยาวชนในพื้นที่ทั้งหมด และให้กวดขันเยาวชนอายุ 10-15 ปี ที่ออกจากบ้านหลังสี่ทุ่ม โดยไม่มีผู้ปกครองมาสอบถามด้วย โดยใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)คุ้มครองเด็ก
โดย จ.สระแก้ว เป็นโมเดล จนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ต่อมา นนทบุรี ได้ดำเนินการ หลังจับ นายตี๋ ท่าทราย หัวหน้าแก๊งท่าทราย อาละวาดทำร้ายร่างกาย ผู้อื่นได้รับเจ็บสาหัส ซึ่งแก๊งนี้มีสมาชิกเกือบ 100 คน
จากมาตรการดังกล่าวเสียงขานรับจากประชาชนผ่านสื่อต่างๆดังกระหึ่มทั่วประเทศ เพราะเป็นปัญหาที่สร้างเดือดร้อนรำคาญให้สุจริตชนอย่างยิ่ง และส่วนใหญ่ขอให้ตำรวจทำต่อเนื่อง พร้อมให้วางมาตรการแก้ปัญหาระยะยาวด้วย
หากจะให้บรรลุผล กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)ต้องเป็นเจ้าภาพ ดำเนินการผ่านคณะกรรมการคุ้มครองเด็กของจังหวัด ซึ่งกฎหมายทำได้เลยแบ่งเป็นกลุ่มเด็กที่ยังไม่ได้กระทำผิดเพื่อป้องกันแต่เนินๆ
เมื่อนโยบายเคอร์ฟิวเด็กดำเนินการเข้าเป้าตามที่ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ วางกรอบไว้ 1 เดือน ตำรวจต้องถอยออกมาแล้วส่งต่อให้ทางพม.ดำเนินการต่อได้เลยเพราะอย่าลืมว่าภาระหน้าที่ของตำรวจนั้นมีล้นเหลือทั้งระดับจุลภาคและ มหภาค
ระดับจุลภาคจะเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวันของชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การเดินทางทำงาน การป้องกันเหตุที่จะเกิดขึ้นในชุมชน แม้กระทั่งสัตว์ร้ายเข้าบ้านยังต้องพึ่งพาตำรวจเป็นอันดับแรก
ระดับมหภาค การดูแลอารักขาบุคคลสำคัญของประเทศ การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมที่ก่อเหตุแบบองค์กรอาชญากรรรม การปราบปรามยาเสพติด ปราบปรามแหล่งอบายมุข รวมถึงภัยร้ายจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือไซเบอร์ เป็นต้น ที่ยกมาเป็นเพียงบางส่วนที่ตำรวจต้องรับผิดชอบในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมาย ยังไม่รวมถึงงานใหม่ที่กระทรวงศึกษาธิการ โยนมาแล้วคือการตรวจตรารักษาความปลอดภัยในสถานศึกษา หลังคณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติยกเลิกครูเข้าเวรหรือหากเกิดคดีใหญ่ที่เกี่ยวพันกับบุคคลสำคัญหรือเกี่ยวพันระดับประเทศ ตำรวจต้องรับภาระหนักในการสืบสวนสอบสวนจับกุมคนร้ายให้ได้ ต้องระดมสรรพกำลังทุกด้านเพื่อให้ได้ตามที่รัฐบาลต้องการ
ในการสืบสวนสอบสวนคดีเหล่านี้ งบประมาณเป็นปัจจัยสำคัญ แต่ได้รับการจัดสรรมาน้อยมาก บางคดีใช้เงินสูงถึงหลักหลายล้านบาท แต่เบิกงบหลวงได้ไม่ถึงล้านบาท นายตำรวจชั้นผูัใหญ่ตำรวจที่รับผิดชอบคดีต้องรับหน้าที่จัดหาเงินนอกระบบมาหล่อเลี้ยงเพื่อให้คดีบรรลุเป้า ซึ่งปรากฏการณ์เหล่านี้ในแวดวงสีกากีต่างทราบกันดี ทุกครั้งที่มีการร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอเพิ่มงบประมาณส่วนนี้ แต่ถูกปฏิเสธเสมอมา
ขณะที่ในระดับโรงพัก งบประมาณที่ถูกจัดสรรให้หัวหน้าโรงพักไปบริหาร แทบจะไม่เพียงพอ แม้แต่งานสายตรวจที่เป็นหัวใจสำคัญของงานป้องกันอาชญากรรม ไม่สามารถตรวจได้ตามที่แผนที่วางไว้ เพราะงบน้ำมันไม่เพียงพอ หลายโรงพักแต่ละเดือนตรวจได้แค่ 15 วัน
นี่คือปัญหาที่บรรดาตำรวจในระดับปฏิบัติการต่างประสบ ถามว่าบิ๊กตำรวจทราบหรือไม่ คงตอบได้ว่าทราบ บ่อยครั้งที่เรียกร้องให้เพิ่มคนเพิ่มงบประมาณมักจะไร้เสียงตอบรับ แต่รัฐบาลกลับตั้งความหวังในการทำงานของตำรวจไว้สูง
แม้แต่บรรดาอดีตตำรวจหลายนายที่ทุกวันนี้รับเงินบำนาญจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พอองค์กรตำรวจทำงานพลาด อาการหิวเสียงจะเกิดขึ้นทันที ออกสื่อทุกช่องทางรุมขยี้เหยียบย่ำองค์กรที่เคยสังกัดแบบไม่ใยดี บางคนลืมไปว่าในช่วงที่รับราชการตำรวจ เคยเดินในทางสีเทามาแล้ว บางคนถึงขั้นกราบกรานนายบ่อนเป็นพ่อบุญธรรมก็มี บางคนสั่งขึ้นราคาส่วยจนลูกน้องทนไม่ไหวปาระเบิดใส่ยังมี
เมื่อมองบริบทโดยรวมถ้าใครได้สัมผัสองค์กรตำรวจอย่างจริงจัง จะรู้ปัญหาเป็นอย่างดีว่าองค์กรตำรวจ ต้องได้รับแก้ไขอย่างเร่งด่วน ทุกวันนี้ตำรวจส่วนใหญ่อยู่ด้วยหัวใจที่จะรับใช้ เพราะถ้าสังคมมองว่าตำรวจเลวทั้งองค์กร รับรองได้ว่าสังคมกาลียุคแล้วแน่นอน
ดังนั้นอยากให้สังคม สื่อมวลชน รวมถึงบรรดาอดีตตำรวจที่หิวเสียงขยี้องค์กรที่เคยสังกัดอย่างสาดเสียเทเสียพียงเพื่อสร้างราคาและสร้างได้รายได้ให้กับตัวเอง ช่วยมององค์กรตำรวจอย่างเข้าใจแล้วช่วยกันเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยแก้ปัญหาโดยด่วนด้วย !!!
“เป็นตำรวจเหมือนยืนอยู่บนปลายเข็มเหยียบหนักเจ็บมาก เหยียบเบาเจ็บน้อยคำว่าไม่เจ็บไม่มี มึงคิดดีแล้วหรอที่จะมาเป็นตำรวจ ใจมึงต้องหนักแน่นดั่งขุนเขา ถึงจะมาเป็นตำรวจได้” ท่าน พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ ราชเดช ได้เคยกล่าวใว้
ขณะเดียวกัน ยังมีผู้พิพากษาท่านหนึ่งกล่าวถึงตำรวจที่ ทำให้ตำรวจทุกนายมีความรู้สึกภาคภูมิใจในอาชีพตำรวจมาก.. ท่านพูดว่า..!!สอนวิชาให้ความรู้เป็นหน้าที่ของ “ครู” รักษาผู้ป่วยเป็นหน้าที่ของ “หมอ”ปกป้องประเทศเป็นหน้าที่ของ “ทหาร”บำบัดทุกข์บำรุงสุขเป็นหน้ที่ “ฝ่ายปกครอง” แต่ทุกอย่างที่กล้าวมา “เป็นหน้าที่ของตำรวจ”ฉะนั้นอาชีพตำรวจอย่างพวกคุณจึงเป็นอาชีพที่น่ายกช่องและเชิดซูเกียรติอย่างยิ่ง