“ปวีณา” พาเหยื่อแก๊งหลอกเทรดหุ้นสูญ 91 ล้าน ขอ รมว.ดีอี ช่วย

449

วัน 25 มกราคม 67 นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี พาตัวแทนผู้เสียหายถูกหลอกลงทุนเทรดหุ้นทั้งในและต่างประเทศ 12 ราย จากกว่า 70 ราย  มูลค่าความเสียหายกว่า 91 ล้านบาท เข้าพบนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือ โดยมี นายสุทธิเกียรติ วีระกิจพานิช ที่ปรึกษารัฐมนตรี, นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวง, นายวัลลภ รุจิรากร เลขานุการ รมว., พล.ต.ต.มณเทียร พันธ์อิ่ม บช.สอท. และ พ.ต.อ ไพโรจน์ หมื่นกล้าหาญ รอง ผบก.ตอท. ร่วมรับเรื่องร้องเรียน

นางปวีณา กล่าวว่า เรื่องนี้ถือเป็นอาชญากรรมออนไลน์ที่ร้ายแรงสร้างความเสียหายทั่วโลก ผู้ตกเป็นเหยื่อสูญเงินจำนวนมหาศาล บางคนต้องกู้เงิน เอาบ้านที่ดินไปจำนอง ขายทรัพย์สินเอาเงินมาลงทุนจนหมดตัว หลังเจอปัญหาหลายคนไม่มีเงินให้ลูกเรียน เครียดหนัก จนเป็นโรคซึมเศร้า นอนไม่หลับ คิดฆ่าตัวตาย  โดยทางมูลนิธิปวีณาได้รับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มผู้เสียหายที่ถูกหลอกร่วมลงทุนเทรดหุ้นทั้งในและต่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 17 -24 ม.ค. 67 ความเสียหายกว่า 91 ล้านบาท จำนวนกว่า 70 ราย ส่วนใหญ่จะเป็นนักลงทุนหน้าใหม่ไม่มีประสบการณ์ในตลาดหุ้น

นางปวีณากล่าวว่า เหยื่อถูกชักชวนทาง เฟซบุ๊ก ติ๊กต็อก ไอจี   ให้เข้าศึกษาเรื่องการเทรดหุ้น โดยใช้รูปของเหล่า อาจารย์ หรือนักลุงทุนที่มีชื่อเสียง ในวงการตลาดหุ้นไทยมาหลอกลวง และแนะนำให้เปิด พอร์ต การลงทุนกับโบกเกอร์ปลอม โดยวิธีการคือ เมื่อเหยื่อติดกับจะโอนเงินไปลงทุนกับพอร์ตที่มิจฉาชีพสร้างขึ้น แรกๆ จะมีเงินผลตอบแทน แต่เมื่อเหยื่อลงทุนในจำนวนที่สูง การเบิกถอนเริ่มมีปัญหาก่อนปิดหนีไปสร้างพอร์ตใหม่เพื่อหลอกเหยื่อรายใหม่ ผู้เสียหายตรวจสอบจนพบว่า เป็นพอร์ตหุ้นที่มิจฉาชีพทำขึ้นมาเพื่อหลอกให้ร่วมลงทุน

โดยประธานมูลนิธิปวีณาฯ ได้ขอให้รัฐบาลดำเนินการกวาดล้างแก๊งอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบจนสิ้นซาก  และขอให้เร่งประชาสัมพันธ์เตือนภัยให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับพฤติกรรมของมิจฉาชีพออนไลน์อย่างทั่วถึง เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่ออีกต่อไป และได้มอบเอกสารเหยื่อผู้เสียหายกว่า 70 ราย ให้นายประเสริฐ เพื่อจะได้มอบนโยบายให้หน่วยงานที เกี่ยวข้อง ติดตามคดีและให้ความช่วยเหลือตามที่ผู้เสียหายร้องขอต่อไป

นอกจากนี้ตัวแทนผู้เสียหาย ยังได้ขอเสนอความช่วยเหลือกับทางกระทรวงดีอี ตำรวจไซเบอร์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1) ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ตรวจสอบเส้นทางการโอนเงินระหว่างประเทศของบริษัทที่ตั้งขึ้นมาในหลอกลวง รวมทั้งกวดขันการเปิดบัญชีของมิจฉาชีพที่ถูกอายัดแล้ว ไม่ให้เปิดใหม่ได้อีก 2) ขอให้ทุกธนาคาร ส่งเอกสารหลักฐานเส้นทางการเงินให้กับสถานีตำรวจที่รับแจ้งความ เพื่อประกอบสำนวนคดีได้อย่างรวดเร็ว 3) ขอให้กระทรวงดีอีตรวจสอบการซื้อโฆษณาในสื่อออนไลน์เกี่ยวกับ การชักชวนให้ลงทุน แอบอ้างเป็นหน่วยงานต่าง ๆ และแอบอ้างผู้มีชื่อเสียงในสังคม

“การมาครั้งนี้ทำให้เราเห็นภาพการทำงานของทางกระทรวงดีอีว่าไม่ได้ทำงานกระทรวงเดียวแต่เป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างหลายหน่วยงาน จึงอยากขอให้กสทช. เอาเงินมาประชาสัมพันธ์ไม่ให้คนตกเป็นเหยื่อ เป็นเรื่องยากที่ตำรวจจะต้องทำงานตรงนี้ และเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ท่านรัฐมนตรีจะส่งเรื่องถึงท่านนายกรัฐมนตรี ให้มีการปราบปรามอย่างจริงจัง เนื่องจากเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศ มั่นใจว่ารัฐมนตรีจะสามารถทำงานบูรณาการร่วมกับกระทรวงทุกกระทรวงได้” นางปวีณา กล่าว

ด้านนายประเสริฐ กล่าวว่า ดีอี ได้เร่งดำเนินกวาดล้างกระบวนการนี้เพราะถือเป็นอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่เป็นร้ายแรงของชาติ โดยได้จัดตั้งศูนย์ต่อต้านอาชญากรรมออนไลน์ AOC 1441 เพื่อให้เป็น One Stop Service แก้ปัญหาออนไลน์แก่ประชาชนได้ทันที ซึ่งตนจะได้มอบเอกสารส่งต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ไปดำเนินการอย่างรัดกุมและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

รมว.ดีอี กล่าวเพิ่มเติมถึงความคืบหน้าการบริหารจัดการซิม ในการก่ออาชญากรรม ว่าได้ระงับซิมที่โทรเกิน 100 สายต่อวัน ตั้งแต่วันที่ 20 มกรา 2567 รวมทั้งสิ้น 13,237 เบอร์ มายืนยันตัว 1,925 คน คงเหลือเบอร์ที่ยังถูกระงับการใช้อีก 11,312 คน ด้านการยืนยันตัวผู้ถือครองซิมเกิน 100 เบอร์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการให้มายืนยันตัวและเตรียมระงับใช้ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ และในส่วนของผู้ถือซิมระหว่าง 6 – 100 เบอร์ เตรียม ระงับในวันที่ 13 กรกฎาคม ซึ่งขั้นตอนต่อไป คือการบริหารจัดการ SCAM SMS ที่ผูกกับลิงค์ต่อไป

#Thaitabloid #ไทยแทบลอยด์ #หลอกเทรดหุ้นออนไลน์ #ปวีณาหงสกุล #ประเสริฐจันทรรวงทอง #กระทรวงดีอีเอส