คณะกรรมการ ป.ป.ส. เห็นชอบแผนแก้ไขปัญหายาเสพติดจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพิ่มเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ลงปราบยาในพื้นที่ทั่วประเทศอีกกว่า 6,000 นาย
พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนเลขาธิการ ป.ป.ส. แถลงถึง การประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือคณะกรรมการ ป.ป.ส. เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2566 โดยมี รองนายกรัฐมนตรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง และหัวหน้าส่วนราชการสำคัญอีก 26 หน่วยงานเป็นกรรมการ นอกจากที่ประชุมได้มีการติดตามความคืบหน้าในเรื่องสำคัญ ๆ คือการดำเนินงานตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน และการจัดทำอนุบัญญัติรองรับประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่ประชุมยังได้รับทราบผลการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ ภายใต้นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการป้องกัน ปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติดประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และการดำเนินงานของคณะกรรมการต่าง ๆ ภายใต้ประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งมีความคืบหน้าตามลำดับแล้ว มีสาระสำคัญจากการประชุมที่ควรให้ประชาชนได้รับทราบคือ
ประการแรก ที่ประชุมรับทราบการที่คณะอนุกรรมการพิจารณาอนุมัติการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ได้แต่งตั้งเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. เพิ่ม 6,185 นาย ทำให้ขณะนี้มีเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ปฏิบัติงานอยู่ทั่วประเทศรวม ๑๑,๓๓๒ นาย ซึ่งจะมีผลให้การดำเนินงานตามมาตรการบังคับใช้กฎหมายทั้งการปราบปรามยาเสพติดและการตรวจสอบ/ยึดทรัพย์สินมีความเข้มข้นและเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ประการที่สอง ที่ประชุมรับทราบการเตรียมการสถานที่รองรับการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดและผู้ติดยาเสพติดที่มีอาการจิตเวชทั่วประเทศของกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วยศูนย์คัดกรอง 9,854 แห่ง สถานพยาบาลยาเสพติด923 แห่ง สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด 140 แห่ง และศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม 3,258 แห่ง ซึ่งจะมีผลให้การดำเนินงานตามมาตรการบำบัดรักษาทั้งในกลุ่มผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด และผู้ติดยาเสพติดที่มีอาการจิตเวชทำได้ครอบคลุมทั่วประเทศ
ประการที่สาม ที่ประชุมอนุมัติการตั้งด่านตรวจยานพาหนะ เพื่อสกัดกั้นการลักลอบลำเลียงยาเสพติด เพิ่มอีก 3 แห่งจากที่มีอยู่แล้ว 5 แห่ง ส่วนที่จะเพิ่มคือ อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ และ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งจะมีผลทำให้การสกัดกั้นการลักลอบลำเลียงยาเสพติดจากทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และที่จะลำเลียงต่อไปยังภาคใต้มีความสมบูรณ์และครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
ประการสุดท้าย ที่ประชุมเห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหายาเสพติดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) ในมิติของศาสนา การพัฒนา และชุมชนพหุวัฒนธรรม ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่จะดำเนินการโดยใช้กลยุทธ์ 4 เพิ่มคือ เพิ่มบทบาทขององค์กรทางศาสนา เพิ่มบทบาทการพัฒนาทุกด้าน เพิ่มจิตอาสาในภาคชุมชน และเพิ่มบทบาทกลไกนอกภาครัฐ เพื่อสร้างความมีส่วนร่วมอย่างสมัครใจของประชาชนและชุมชนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดของพื้นที่อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ซึ่งจะมีผลให้จากนี้การดำเนินงานเพื่อลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้การอำนวยการร่วมกันระหว่าง ศอ.บต. และสำนักงาน ป.ป.ส. ในนามศูนย์ประสานงานการแก้ไขปัญหายาเสพติดในมิติของศาสนาและภาคประชาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะมีทั้งความชัดเจนและความเข้มข้นขึ้นและเชื่อว่าจะเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
พล.ต.ท. ภาณุรัตน์ หลักบุญ กล่าวในตอนท้ายว่าสำนักงาน ป.ป.ส. และหน่วยภาคีทั้งหมดมีความมุ่งมั่นตั้งใจและดำเนินงานทุกวิถีทางในการที่จะลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติดให้ได้ภายใน 1 ปี ตามนโยบายรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อย่างไรก็ตามการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด นอกจากต้องอาศัยการทำงานร่วมกันอย่างไร้รอยต่อของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว ยังต้องอาศัยความมีส่วนร่วมจากประชาชน โดยเฉพาะขณะนี้เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า “หมู่บ้าน/ชุมชนเป็นตัวชี้ขาดความสำเร็จในการแก้ไขปัญหายาเสพติด” ดังนั้น บทบาทของหมู่บ้าน/ชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง จึงขอเชิญชวนให้ทุกหมู่บ้าน/ชุมชนจับมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกันลุกขึ้นมาแสดงพลังในการปฏิเสธไม่ต้องการให้มีผู้ค้ายาเสพติดอาศัยอยู่ในหมู่บ้าน/ชุมชน โดยสำนักงาน ป.ป.ส. และหน่วยงานภาคีทั้งฝ่ายพลเรือน ตำรวจ และทหาร พร้อมที่จะสนับสนุนการดำเนินการอย่างเต็มที่ เชื่อว่าการลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติดภายใน 1 ปี ตามนโยบายของรัฐบาลจะเกิดผลได้อย่างแน่นอน