“ในหลวง-พระราชินี” ทรงถวายสักการะ พระมหาธาตุประจำปีพระบรมราชสมภพ

153

ในหลวง-พระราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปถวายสักการะ พระมหาธาตุประจำปีพระบรมราชสมภพ และ ทรงประกอบพิธีสมโภชพระอัฏฐารส และพระอัครสาวก เสด็จฯผ่านประตูช้างเผือก เป็นครั้งแรกในรัชกาล ชาวเชียงใหม่ปลื้มปิติเป็นล้นพ้น

วันนี้ (วันอาทิตย์ที่ 5 มกราคม 2568) เวลา 17.44 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปถวายสักการะพระมหาธาตุเจดีย์ (พระมหาธาตุประจำปีพระบรมราชสมภพ ปีนักษัตรมะโรง) เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ วัดพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ โดยมีนายนิรัตน์  พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ และประชาชน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ จากนั้น ประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินถึงวัดพระสิงห์ ณ ที่นั้น นายชัชวาล  ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ และประชาชน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ แล้วเสด็จเข้าพระวิหารหลวง ทรงรับพัดรองที่ระลึกตราสัญลักษณ์ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567  ทรงวางพัดรองที่ระลึก ฯ ที่โต๊ะหมู่หน้าพระประธานประจำพระวิหารหลวง ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองทิศ บูชาพระพุทธศรีสรรเพชญ ทรงกราบ ทรงศีล ประธานสงฆ์ถวายศีล จบ

จากนั้น ทรงพระดำเนินไปยังพระวิหารลายคำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการท้ายที่นั่งบูชาพระพุทธสิหิงค์ ทรงกราบ เสร็จแล้ว เสด็จออกจากพระวิหารลายคำ ไปยังลานพระมหาธาตุเจดีย์ ทรงชักสายสูตรห่มผ้าที่องค์พระมหาธาตุเจดีย์ พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานลั่นฆ้องชัย ประโคมสังข์ แตร ดุริยางค์ กลองชุมประโคมถวายเป็นพุทธบูชา เสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสักการะพระบรมสารีริกธาตุ ทรงกราบ

ต่อมาทรงพระดำเนินไปยังพระวิหารหลวง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก เสร็จแล้ว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กราบบังคมทูลเบิกผู้มีจิตศรัทธาบำรุงพระอาราม เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานของที่ระลึกตามลำดับ ต่อจากนั้น รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแผ่นศิลา เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และพระนามาภิไธย เสร็จแล้ว ทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการ ทรงลาพระสงฆ์ จากนั้น ทรงรับถวายของที่ระลึก จากพระเทพสิงหวราจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระสิงห์ สมควรแก่เวลา จึงประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดเจดีย์หลวง อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ตั้งอยู่ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1888โดยพญาผายู กษัตริย์เชียงใหม่ องค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์มังราย เดิมวัดแห่งนี้มีชื่อว่า “วัดลีเชียงพระ” ต่อมา พ.ศ. 1943 พญาแสนเมืองมา ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ หรือพระสิงห์ประดิษฐานไว้ที่วัดลีเชียงพระ ประชาชนจึงเรียกวัดลีเชียงพระว่า “วัดพระสิงห์” นับตั้งแต่นั้นมา วัดพระสิงห์ ได้รับพระราชทานยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร เมื่อวันที่ 30  พฤศจิกายน พ.ศ. 2483 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ส่วนพระมหาธาตุเจดีย์ (พระธาตุหลวง) เป็นที่บรรจุพระเกศาธาตุ เป็นพระธาตุประจำปีนักษัตรปีมะโรง พญาผายูทรงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1888  และระหว่าง พ.ศ. 2101 – 2317  วัดพระสิงห์ มีสภาพเป็นวัดร้าง ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2469  พระราชชายา เจ้าดารารัศมี และเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ และครูบาศรีวิชัย ได้นำประชาชนและพุทธศาสนิกชนร่วมกันบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะและเสริมสร้างพระธาตุเจดีย์ให้สูงใหญ่ขึ้น

ในการเสด็จพระราชดำเนินไปถวายสักการะพระมหาธาตุเจดีย์ประจำปีพระบรมราชสมภพ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ วัดพระสิงห์ วรมหาวิหาร และ ทรงประกอบพิธีสมโภชพระอัฏฐารส และพระอัครสาวก ทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในยอดฉัตรทองคำ เพื่อเชิญไปประดิษฐานเหนือปราสาทเฟื้องสันหลังคาพระวิหาร ณ วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่  ในครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินเข้าเวียงเชียงใหม่คูเมืองชั้นใน โดยผ่านประตูช้างเผือก (ประตูหัวเวียง) นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ อันเป็นครั้งแรกในรัชกาล ซึ่งชาวเชียงใหม่ต่างรู้สึกปลื้มปิติ และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเจ้านายฝ่ายเหนือ และชาวเชียงใหม่ มีความเชื่อมาแต่โบราณว่าประตูช้างเผือกคูเมืองชั้นใน นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ เป็นประตูสำคัญของเมือง สมัยพญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่ เมื่อสร้างเมืองเสร็จ  พญามังราย ก็เสด็จพระราชดำเนินเข้าเมืองที่ประตูหัวเวียง หรือสมัยพระยากาวิละ ยุคฟื้นเมืองเชียงใหม่ ก็เข้าเมืองครั้งแรกที่ประตูนี้ ปัจจุบันข้าราชการสายปกครอง เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ย้ายมาจังหวัดเชียงใหม่ ก็จะเข้าประตูเมืองทางทิศนี้ เพื่อความเป็นสิริมงคล

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินปฏิบัติพระราชกิจ ณ วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จ.เชียงใหม่ (5 มกราคม 2568)


วัดแห่งนี้มีพระธาตุเจดีย์ หรือ พระมหาธาตุเจดีย์ (พระธาตุหลวง) พระเจดีย์เก่าแก่สร้างในสมัยเดียวกับการตั้งวัด ความสูง 25 วา ฐานสี่เหลี่ยมยาวด้านละ 16 วา 1 ศอก 6 นิ้ว ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวว่า ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่พระมหาสุมนเถระนำมาจากทวีปลังกา จึงมีความเชื่อว่าอย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต ผู้เกิดปีมะโรง (งูใหญ่) หากได้มีโอกาสมานมัสการจะเป็นมงคลอันสูงสุด ส่วนวัดเจดีย์หลวงมีพระอัฏฐารส พระพุทธปฏิมาประธานในพระวิหารหลวง พระอัฏฐารสจึงนับว่าเป็นพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่งของเมืองเชียงใหม่ พระอัฏฐารส แปลว่า พระสิบแปด หมายถึงพุทธธรรม 18 ประการ อันเป็นพระคุณสมบัติเฉพาะพระองค์ ไม่ได้หมายความว่าพระพุทธรูป 18 ศอก ที่จริงแล้วองค์พระพุทธปฏิมาอัฏฐารสสูง 16 ศอก 23 ซ.ม. หรือเท่ากับ 8.23 เมตร แต่ที่ตั้งชื่อเช่นนั้นก็เพื่อเป็นอุบายธรรมสื่อนำไปสู่ความเข้าใจในพุทธคุณอันประเสริฐของพระพุทธองค์ ผู้ทรงเป็นศาสดาของมนุษย์และเทพเจ้าทั้งหลาย

#พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา๖รอบ
#ทรงพระเจริญ #สืบสานรักษาต่อยอด