ที่วิทยาลัยการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า จัดงานเสวนาวิชาการ หัวข้อ” การเลือกตั้งขั้นต้น ทางออกการเลือกตั้งหรือทางตันประชาธิปไตย” โดยนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะนักสังเกตการณ์ทางการเมือง กล่าวว่า ระบบไพรมารีโหวตในครั้งนี้อาจเกิดจากการออกแบบ 2 แบบ คือ
1.ออกแบบโดยปัญญาเพื่อแก้ปัญหา มีการเอารูปแบบจากต่างประเทศมาปรับใช้ให้เหมาะสม และ
2.ออกแบบโดยอคติเพื่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ หรือเป็นประโยช์ต่อพวกพ้องตัวเอง
ซึ่งตนมองว่าเป็นไปได้ทั้ง 2 ทาง ทั้งนี้กระบวนการทำไพรมารีโหวตนั้นแต่ละพรรคจะต้องตั้งคณะกรรมการสรรหา และให้สมาชิกพรรคจัดประชุมสาขาพรรคในแต่ละเขต 100 คนขึ้นไป หรือเขตที่ไม่มีสาขาก็จัดประชุมตัวแทนพรรคในแต่ละเขต 50 คนขึ้นไป ซึ่งรูปแบบแบบนี้ตนใช้คำว่าไม่เห็นประโยชน์อะไรเลย เพราะหากจังหวัดนั้นมีสมาชิกพรรคเพียง 50 คนก็จะสามารถประชุมตัวแทนพรรคได้และเลือกผู้สมัครทุกเขตในจังหวัดได้ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวไม่ได้ทำให้เกิดผลการเป็นตัวแทนประชาชนเลือกผู้สมัครอย่างแท้จริง ให้เห็นเหมือนว่าเรามีการเลือกตั้งแล้ว มีการทำไพรมารีโหวตแล้ว เป็นประชาธิปไตยแล้วทั้งที่ไม่ใช่
นายสมชัย กล่าวอีกว่า นอกจากนั้นยังมีการเสนอแก้ไขให้มีการทำไพรมารีโหวตเป็นรายภาคแทนหากทำทุกจังหวัดไม่ไหว ซึ่งตนก็ยิ่งรู้สึกว่าจะทำให้กระบวนการดังกล่าวอ่อนปวกเปียกมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้แม้หลักการดังกล่าวจะดี แต่จะต้องช่วยกันทำให้ระบบเข้มแข็งมากขึ้น เพราะการทำไพรมารีโหวตในครั้งแรกอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ทั้ง ๆ ที่ผู้ร้ายตัวจริงคือผู้เขียนกฎหมายที่มีการเกรงใจกลัวพรรคเล็กทำไม่ได้ ทำให้มีการผ่อนปรนในบทเฉพาะกาลทำให้หลักการที่ดีกลายเป็นแค่พิธีกรรม จึงเห็นว่าไพรมารีโหวตคล้ายจะเป็นทางออกประชาธิปไตยแต่จะเป็นทางตัน แม้จะดูเหมือนเป็นทางตันก็อยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันทะลุทุลวงให้ได้ เพราะหลักการเริ่มต้นถูกต้องแล้ว หากทำได้ครบถ้วนสมบูรณ์ก็จะดีขึ้น แต่อย่าเพิ่งยอมแพ้ตั้งแต่ต้น อย่างไรก็ตามขอยกตัวอย่างบอลโลก ฟีฟ่าไม่ควรจะมีทีมฟุตบอลลงแข่ง เพราะหากมีการส่งทีมลงแข่ง กติกาที่กำหนดก็จะไปเอื้อให้กับทีมของฟีฟ่า
“หากคิดว่าการทำครั้งแรกอาจไม่สมบูรณ์ เป็นบทเรียนให้ปรับปรุงแก้ไขในคราวหน้าก็ไม่ว่ากัน แต่ต้องพยายามชี้แจงว่าการทำรอบแรกต้องทำเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จุดยืนของตนจึงเห็นว่าไม่ควรยกเลิกหรือลดทอนรูปแบบลง จึงต้องทำอย่าถอดใจหรือถอย แต่หากคนที่คิดจะถอยหากมาจาก กรธ. รัฐบาล หรือ สนช.ก็แสดงให้เห็นว่าทำประเทศเหมือนเป็นการขายของเด็กเล่น อยากเขียนอย่างไรก็เขียน ยังไม่ทันใช้ก็จะแก้ ประเทศชาติไม่ใช่ของเล่น เราไม่ได้เล่นขายของแต่กำลังทำให้ประเทศเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น การคิดที่ไม่ตกผลึกแสดงให้เห็นถึงวุฒิภาวะที่ไม่ดี พร้อมกับเปรียบเทียบถึงฟุตบอลว่าฟีฟ่าไม่ควรมาเป็นผู้เล่นเพราะเป็นผู้กำหนดกติกา ถ้าฟีฟ่ามาเป็นผู้เล่นก็จะกำหนดกติกาเอื้อตัวเอง” นายสมชัย กล่าว
นายสมชัย กล่าวว่า การทำไพรมารีโหวตที่กำหนดค่อนข้างจะเป็นพิธีกรรมและทำให้พรรคการเมืองมีความลำบากมากขึ้น แต่กกต.ก็ไม่ใช่ว่าจะลอยตัว แม้การทำไพรมารีโหวตจะเป็นกระบวนการภายในของพรรคการเมือง แต่ถ้ามีการร้องเรียนว่ากระบวนการไม่ถูกต้อง กกต.ก็ต้องดำเนินการรับคำร้องนำไปสู่การวินิจฉัยว่าถูกต้องหรือไม่ ตนไม่มั่นใจว่าการทำครั้งแรกศพจะสวยหรือไม่ หรือผลที่เกิดขึ้นหน้าตาจะดีหรือไม่ อาจจะเกิดความวุ่นวายในกระบวนการทำหรือหลังการทำแล้วมีการร้องเรียน จะมีปัญหาขนาดไหน ”
“ยังเห็นว่าการดูดสส.ในเวลานี้เป็นการทำลายระบบไพรมารีโหวต เพราะกลายเป็นการกำหนดตัวบุคคลจากบนลงล่างไม่ใช่มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน หากเรื่องดูดไม่ได้มาจากคนที่เป็นผู้ร่างกติกาคงไม่ว่าอะไร เพราะเขาหาวิธีอยู่รอดและชัยชนะเลือกตั้ง แต่หากเรื่องนี้มาจากฝ่ายที่ร่างกติกา ถือว่าเลวมาก เพราะร่างกติกาเอง แต่กลับทำลายกติกาด้วยตัวเอง บอกว่าอยากปฏิรูปการเมือง ทำพรรคการเมืองเข้มแข็ง แต่ยังปฏิบัติแบบเดิม ๆ ไม่อายชาวบ้าน อายเด็ก อายนักศึกษาหรือ หากต้องการพัฒนาการเมือง แม้กติกาจะซับซ้อนต้องปฏิบัติด้วยความยากและเหนื่อย ต้องเดินหน้าต่อไม่ใช่พบปัญหาแล้ว ก็ใช้วิธีดูดเพื่อมาแก้ปัญหาของตัวเอง” นายสมชัย กล่าว