เปิดบันทึก“อัยการชัยณรงค์”ขอความเป็นธรรม”อสส.”ป.ป.ช.สอบ-วินิจฉัยขัด กม. คดีมหากาพย์ บอส กระทิงแดง (ตอนที่1 )

1169

             คดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอสกระทิงแดง ขับรถชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรวจสน.ทองหล่อ เสียชีวิตช่วงเช้ามืด วันที่ 3 กันยายน 2555 กลายเป็นมหากาพย์ เกี่ยวพันกับบุคลากรในหลากหลายองค์กร ทั้งในส่วนกระบวนการยุติธรรมและนิติบัญญัติ

            ในห้วงที่เป็นข่าวคึกโครมมีทั้งคนเกาะกระแสเพื่อสร้างชื่อในทางบวก บางคนถูกมองในทางลบโดยที่สังคมไม่ยอมรับฟังในการชี้แจงข้อเท็จจริง บางคนถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต(ป.ป.ช.)ไต่สวนสอบสวนและวินิจฉัย โดยรับข้อมูลเพียงด้านเดียว

         โดยเฉพาะกรณี นายชัยณรงค์ แสงทองอร่าม อดีตอัยการอาวุโส ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดทางอาญาฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เกี่ยวพันคดีบอส กระทิงแดง

          ซึ่งนายชัยณรงค์ มองว่าไม่ได้ความเป็นธรรม จึงทำหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด(อสส.) กรณี”การไต่สวนและการสอบสวนวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยยื่นเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

        หนังสือระบุว่า เนื่องจากการไต่สวนและการสอบสวนวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่เปิดโอกาสให้เข้าชี้แจงและไม่ให้นำพยานที่สำคัญเข้าพิสูจน์ความบริสุทธิ์ รับฟังพยานเพียงฝ่ายเดียว ทำให้ไม่ได้รับความเป็นธรรม

     หนังสือร้องเรียนนายชัยณรงค์ ได้ยกระเบียบและกฎหมายเกี่ยวกับขอบเขตอำนาจของอัยการมาอธิบายว่า ตามพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการพ.ศ. 2553 มาตรา 15 กำหนดว่าอัยการสูงสุดและรองอัยการสูงสุด มีอำนาจดำเนินคดีได้ทุกศาล อธิบดีอัยการภาคมีอำนาจดำเนินคดีได้ทุกศาลภายในภาค พนักงานอัยการผู้อื่นมีอำนาจดำเนินคดีเฉพาะศาลแห่งท้องที่ที่พนักงานอัยการนั้นรับราชการประจำ

  เว้นแต่ เมื่ออัยการสูงสุดมีคำสั่งให้พนักงานอัยการซึ่งรับราชการในท้องที่หนึ่งไปช่วยราชการอีกท้องที่หนึ่งเป็นการชั่วคราวหรือให้ไปดำเนินคดีใดเฉพาะเรื่อง หรือเมื่ออธิบดีอัยการภาคมีคำสั่งให้พนักงานอัยการซึ่งรับราชการประจำในท้องที่หนึ่งภายในภาคไปช่วยราชการอีกท้องที่หนึ่งเป็นการชั่วคราวหรือให้ไปดำเนินคดีเฉพาะเรื่องภายในภาคให้พนักงานอัยการผู้นั้นมีอำนาจดำเนินคดีในศาลประจำท้องถิ่นนั้นได้และให้อำนาจดำเนินคดีถึงศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา หรือศาลปกครองสูงสุดแล้วแต่กรณี ฯ

  ดังนั้นการที่พนักงานอัยการที่จะเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายดังกล่าว จะต้องมีอำนาจและหน้าที่ตามพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 15

   หนังสือระบุอีกว่า ในปี 2559 นายชัยณรงค์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นอัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานคดีอาญา สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 6 และปฏิบัติราชการในหน้าที่รองอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 6 อีกหน้าที่หนึ่ง ซึ่งสำนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 6 รับผิดชอบงานดำเนินคดีอาญาตามกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่และหน้าที่ของพนักงานอัยการซึ่งรับผิดชอบคดีอาญาที่เกิดอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลอาญา เว้นแต่คดีเกี่ยวกับเศรษฐกิจ ยาเสพติดและคดีเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ในพื้นที่ สน.หัวหมาก สน.วังทองหลาง สน.พระราชวังและสน.ประเวศน์(บางส่วน)

   “แต่คดีของนายวรยุทธ เกิดขึ้นในเขตพื้นที่ สน.ทองหล่อ อยู่ในเขตอำนาจของศาลอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจและหน้าที่ของสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของพนักงานอัยการที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 เท่านั้น ที่จะเป็นเจ้าพนักงาน “หนังสือระบุและว่า นายชัยณรงค์จึงไม่ใช่เจ้าพนักงานอัยการที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในคดีของ นายวรยุทธ แต่อย่างใด

  “จึงไม่อยู่ในองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ,200 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กล่าวหาว่าเป็นเจ้าพนักงานอัยการสังกัดองค์กรอัยการตามพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการพ.ศ.2553 มาตรา 14 (1)อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ (2)ในคดีอาญามีอำนาจหน้าที่ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญาและตามกฎหมายอื่นซึ่งบัญญัติว่าเป็นอำนาจและหน้าที่ของสำนักงานอัยการสูงสุดหรือพนักงานอัยการและ(10) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของสำนักงานอัยการสูงสุด ตามที่ได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุด จึงเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 4 และเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 1(16)นั้น  เป็นการกล่าวหาที่ไม่สอดคล้องกับที่กฎหมายกำหนดและเจตนาของกฎหมาย..”หนังสือระบุ

  หนังสือระบุอีกว่าการตีความดังกล่าวเป็นการตีความแบบขยายความ เป็นการกล่าวหาและใช้กฎหมายโดยมิชอบ จงใจกลั่นแกล้งให้ข้าพเจ้า เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง

    นี่คือประเด็นแรกที่นายชัยณรงค์ มองว่าคณะกรรมการป.ป.ช.กล่าวหาแบบไม่เป็นธรรม เพราะคดีที่เกิดขึ้นไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจรับผิดชอบ และไม่มีคำสั่งของอัยการสูงสุดให้เข้าไปรับผิดชอบคดีแต่อย่างใด

  ซึ่งในห้วงที่คดีบอส กระทิงแดง ถูกสังคม สื่อมวลชน และนักร้องที่เกาะกระแสดังทั้งหลาย วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ประเด็นที่นายชัยณรงค์ร้องขอความเป็นธรรม จะถูกเมินเฉยไม่สามารถแทรกเข้ามาแจมในกระแสได้แต่อย่างใด

   ดังนั้นสังคมหรือสื่อต่างๆควรรับฟังข้อมูลแบบสองด้าน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย !!!

 #ทีมสกู๊ปข่าวไทยแทบลอยด์