นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว กล่าวถึงแนวทางการปกครองของระบอบการปกครองต่างๆ โดยระบุว่า “*ประชาธิปไตย-เผด็จการเสียงข้างมาก-เผด็จการที่มีผู้นิยมอย่างล้นหลาม-เสรีนิยมประชาธิปไตย(ตอนที่ 2)
-เมื่อมนุษย์ยังไม่ได้รวมตัวกันเป็นสังคม มนุษย์มีสิทธิ์อยู่อย่างหนึ่งเรียกว่าสิทธิตามธรรมชาติ สิทธินี้คือเป็นสิทธิที่จะมีชีวิตรอด จึงมีสิทธิที่จะฆ่า,ทำร้าย เพื่อตนเองจะมีชีวิตรอด แต่เมื่อรวมตัวกันมากขึ้นจึงตกลงสละสิทธิในการทำร้ายผู้อื่นให้ผู้ปกครอง(รัฏฐาธิปัตย์)เป็นผู้ใช้อำนาจนี้แทนตน โดยมีข้อตกลงว่าผู้ปกครองต้องคุ้มครองตนเองและไม่ละเมิดข้อตกลงนี้(สัญญาประชาคม-รัฐธรรมนูญ) จึงวางกติกาในการเลือกผู้ปกครองขึ้นมาโดยมีกติกาว่า ต้องเป็นการเลือกโดยอิสระ เสรี ใครมีเสียงข้างมากก็รับอำนาจนั้นแทนตนไป ระบอบที่เกิดขึ้นโดยการเลือกผู้ปกครองเอง และมีการปกครองโดยเสียงข้างมาก ระบอบนี้เรียกว่า”ระบอบประชาธิปไตย”
-เมื่อโลกซับซ้อนขึ้น การปกครองด้วยเสียงข้างมากอย่างเดียวไม่พอเพราะระบอบนี้ผู้ปกครองมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นทรราชย์หรือกลายเป็นเผด็จการเสียงข้างมาก กล่าวคือ ไม่อดทนต่อการเรียกร้องของเสียงข้างน้อย ดูแลเฉพาะพวกที่เลือกตนเองขึ้นมา จึงมีการปรุงแต่งระบอบประชาธิปไตย(เดิมๆ) ขึ้นมาเพื่อคุ้มครองเสียงข้างน้อยหรือคุ้มครองปัจเจกบุคคล โดยการเพิ่มเติมองค์กรอิสระ หรือ สถาบันบางอย่างขึ้นมาเพื่อถ่วงดุลย์ และตรวจสอบเสียงข้างมาก ระบอบที่มีการปรุงแต่งขึ้นมาใหม่นี้ เรียกว่าระบอบ”เสรีนิยมประชาธิปไตย” ระบอบนี้ ประเทศไทยเริ่มใช้ระบอบนี้ผ่านทางรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550
-หลังปี 2540 เมื่อรัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร ชนะด้วยเสียงข้างมาก บริหารประเทศมาระยะหนึ่ง เกิดเสียงครหาว่า”แทรกแซงองค์กรอิสระ” มีการใช้ช่องทางของรัฐธรรมนูญดำเนินการกับรัฐบาลทักษิณมากมาย แม้ต่อมาจะมีการยึดอำนาจทำให้รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ถูกยกเลิกไป แต่นั่นแหละคือพิษสงของ”เสรีนิยมประชาธิปไตย” ที่ซ่อนอยู่ในรัฐธรรมนูญ ปี 2540/”
*ประชาธิปไตย-เผด็จการเสียงข้างมาก-เผด็จการที่มีผู้นิยมอย่างล้นหลาม-เสรีนิยมประชาธิปไตย(ตอนที่…
โพสต์โดย นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ เมื่อ วันอังคารที่ 26 มิถุนายน 2018