กรม สบส.ย้ำ รพ.เอกชน พร้อมรับผู้ป่วย ช่วง 10 วัน อันตราย

118


กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ย้ำสถานพยาบาลเอกชนเตรียมความพร้อมรับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ช่วง 10 วัน อันตราย เทศกาลปีใหม่ ให้ความสำคัญต่อการช่วยเหลือผู้ป่วยทุกราย ได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลจากสถานพยาบาลทุกแห่ง ตามนโยบาย UCEP


ดร.นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ตามที่ภาครัฐได้มีมติขยายวันเฝ้าระวังความปลอดภัยทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 เพิ่มเป็น 10 วัน ตั้งแต่ 27 ธันวาคม 2567 – 5 มกราคม 2568 ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาเทศกาลปีใหม่ที่ประชาชนทั่วประเทศจะมีการเดินทางกลับภูมิลำเนา หรือท่องเที่ยวกันอย่างคับคั่ง จึงอาจจะส่งผลให้มีอุบัติเหตุ หรือการเจ็บป่วยของผู้ที่มีโรคประจำตัวเพิ่มมากขึ้นจากช่วงเวลาปกติ ดังนั้น เพื่อรองรับผู้ป่วยฉุกเฉินและฉุกเฉินวิกฤต ให้ได้รับการดูแล รักษาจากสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด ตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients ; UCEP) ซึ่งเป็นนโยบายของภาครัฐ ในการสร้างความครอบคลุม ลดความเหลื่อมล้ำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้รับการคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลอย่างปลอดภัยจากสถานพยาบาลทุกแห่ง โดยไม่มีเงื่อนไขในการเรียกเก็บค่ารักษา 72 ชั่วโมงแรก กรม สบส. จึงได้มีการมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่จากกองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ และกองกฎหมายดำเนินการในเชิงรุก ลงพื้นที่ตรวจสอบ คุมเข้ม และทำการแจ้งเวียนแก่สถานพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ ให้มีการเตรียมความพร้อมรับผู้ป่วยในช่วง 10 วัน อันตราย และปฏิบัติตามนโยบาย UCEP อย่างเคร่งครัด ไม่ปฏิเสธการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตในทุกกรณี โดยจะต้องให้ความสำคัญในการช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยเป็นอันดับแรก หากพบว่าสถานพยาบาลเอกชนแห่งใดปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต หรือเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ป่วยหรือญาติ ก็จะมีการมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ เข้าตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมาย


ด้าน ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการ
ประเมินเกณฑ์ผู้ป่วยเพื่อรับบริการตามนโยบาย UCEP แก่ประชาชน ขอให้สถานพยาบาลเอกชนทุกแห่งใช้ระบบบันทึกและประเมินผู้ป่วย (UCEP) ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) หากผู้ป่วยเข้าข่ายผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) สถานพยาบาลต้องให้การรักษาพยาบาลอย่างเต็มความสามารถ โดยห้ามเรียกเก็บค่าใช้จ่ายภายใน 72 ชั่วโมงแรกแต่อย่างใด แต่หากผู้ป่วยมิได้มีอาการเข้าข่ายฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) ก็จะต้องมีการสื่อสารสอบถามสิทธิในการรักษาพยาบาลกับผู้ป่วยหรือญาติเพื่อมิให้เกิดความเข้าใจผิด และหากพบปัญหาในการวินิจฉัยคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตสามารถปรึกษาขอคำวินิจฉัยจากศูนย์ประสานงานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของ สพฉ. ผ่านสายด่วน 1669 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้ หากประชาชนพบสถานพยาบาลแห่งใดไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด ก็สามารถแจ้งได้ที่กรม สบส. ทางหมายเลขโทรศัพท์ 0 2193 7000 หรือหากอยู่ในส่วนภูมิภาคก็ขอให้แจ้งที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ ในวันและเวลาราชการเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

อย. เปิดตัวระบบติดตามคำขออนุญาต FDA e-Tracking เป็นของขวัญปีใหม่ 2568 ให้แด่ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สุขภาพ ยกระดับบริการ ช่วยให้ติดตามสถานะคำขอได้แบบเรียลไทม์ คาดการณ์เวลาอนุมัติได้ สามารถดูภาพรวมรายการคำขอได้ภายในหน้าเดียว ตอบสนองความต้องการผู้ประกอบการยุคดิจิทัล ส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สุขภาพไทย ดีเดย์ 2 ม.ค. 68 นี้

นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นองค์กรหลักด้านคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมผู้ประกอบการด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพื่อให้ประชาชนคนไทยมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี โดย อย. ได้ขานรับนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในการเพิ่มศักยภาพและโอกาสการเติบโตทางธุรกิจของไทย โดย อย. มีการให้บริการอนุมัติอนุญาตภายใต้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ทุกระบบงาน ซึ่งการติดตามสถานะคำขอระบบเดิม ผู้ประกอบการจะต้องกรอกเลขดำเนินการเพื่อติดตามทีละรายการ ซึ่งจะได้ข้อมูลโดยไม่ลงรายละเอียดว่าอยู่ระหว่างดำเนินการในขั้นตอนใด อย. จึงได้ดำเนินการพัฒนาระบบติดตามคำขอรูปแบบใหม่ (FDA e-Tracking) ส่งมอบเป็นของขวัญต้อนรับปีใหม่ 2568 ภายใต้แนวคิด One Platform เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถติดตามสถานะคำขอการอนุมัติอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพทุกขั้นตอนได้แบบทันที เห็นภาพรวมของคำขอทุกรายการอย่างชัดเจนภายในหน้าเดียว รวมถึงมีระบบคาดการณ์เวลาในการอนุมัติอนุญาตคำขอเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนธุรกิจได้อย่างแม่นยำ โดยผู้ประกอบการสามารถเข้าใช้งาน FDA e-Tracking ผ่านหน้าเว็บไซต์ อย. ได้ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2568 เป็นต้นไป

เลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า ระบบ FDA e-Tracking ถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับการบริการในยุคดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ อย. เน้นย้ำมาตรการการให้บริการที่สะดวก รวดเร็ว โปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้ เพื่อตอบสนองความต้องการทุกภาคส่วนอย่างเต็มกำลัง โดยยังคงไว้ซึ่งมาตรฐานความปลอดภัยในงานคุ้มครองผู้บริโภค พร้อมส่งเสริมอุตสาหกรรมเศรษฐกิจผลิตภัณฑ์สุขภาพของประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางผลิตภัณฑ์สุขภาพในระดับภูมิภาคต่อไป

#Thaitabloid #สำนักข่าวไทยแทบลอยด์ #ข่าวอุบัติเหตุ #ปีใหม่2568