หน้าแรกการเมือง'มีชัย' หวด พวกอยากแก้รัฐธรรมนูญ อย่าเอาแต่ใจแบบเผด็จการ-เผด็จการจริงๆ ยังไม่กล้าทำ

‘มีชัย’ หวด พวกอยากแก้รัฐธรรมนูญ อย่าเอาแต่ใจแบบเผด็จการ-เผด็จการจริงๆ ยังไม่กล้าทำ

ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึง 5 ปัจจัย ที่จะมีผลในการกำหนดวันเลือกตั้ง ตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ.62 – 5 พ.ค.62 ว่า 5 ปัจจัย เป็นเงื่อนไขที่ต้องดูว่าเรียบร้อยหรือไม่ ถ้าไม่ก็แก้กันให้เรียบร้อย การประชุมร่วมกับพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา ก็มารับข้อมูลร่วมกันแล้ว จะได้เข้าใจตรงกัน ส่วนกำหนดคลายล็อกพรรคการเมืองนั้น ยังไม่ได้คุยกันในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเป็นเรื่องมองต่างมุม คสช.มองเรื่องความสงบเรียบร้อย พรรคเองก็คงใจร้อน สำหรับการทำไพรมารี่โหวตนั้น กรธ.ไม่ได้ร่าง เพราะมองว่ากลไกที่มีในรัฐธรรมนูญ ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมแล้ว แต่พอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แก้ให้มีไพรมารี่ก็ต้องเดินตาม

“หากเกิดติดขัดก็ต้องแก้หรือทบทวน เพื่อพยายามทำให้ประชาชนในฐานะสมาชิกพรรคมีส่วนร่วมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้าดูตามบทเฉพาะกาลของกฎหมายพรรคการเมือง ที่มีคำสั่ง คสช.แก้ไข ก็ผ่อนมาเยอะแล้ว จากทำทุกเขตให้ทำรายจังหวัดแทน ต้องพูดกันให้ชัดว่าปัญหาจริงๆ แล้วคืออะไร ถ้าทำไม่ทัน ปัญหาก็คือเวลา ที่คอยเร่งรัดอยากให้เลือกตั้งเร็วก็คงทำไม่ได้ ซึ่งหากจะแก้ก็ต้องดูความเหมาะสม จะใช้วิธีและเวลาแก้กันอย่างไร การใช้มาตรา 44 ก็จะพยายามใช้เท่าที่จำเป็น”นายมีชัย กล่าว

เมื่อถามถึงข้อเสนอของนักการเมืองต่อการทำไพรมารี่โหวต หลังจากได้หารือร่วมกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ที่ผ่านมา ว่า แนวทางที่ระบุไว้ทั้ง 3 แบบ มีทั้งข้อดีและข้อด้อย หากจะใช้วิธียกเลิกไพรมารี่โหวต ถือเป็นความน่าเสียดายเพราะอุตสาห์คิด หรือใช้วิธีเว้นการบังคับใช้ในการเลือกตั้งรอบแรก และให้นำไปใช้ในการเลือกตั้งรอบหน้า ข้อเสียคือไม่ได้ทดลอง และหากปรับให้ไพรมารี่โหวตเป็นระบบภาค แทนระบบจังหวัด นั้นตนมองว่าเหมือนไม่ได้ทำอะไรเลย เพราะกรณีใช้ 4 ภาคดำเนินการและผลครอบคลุมถึง 76 จังหวัด อาจถูกมองว่าใช้กลุ่มคนเดียวมาตัดสิน

“กรณีดังกล่าวมีข้อดีและข้อเสีย ผมมองว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาว่าแนวทางใดที่จะเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน และตรงกับเจตนารมณ์ของการปฏิรูปการเมือง ที่กำหนดให้ประชาชนฐานะสมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในพรรคการเมือง อย่างไรก็ตามวิธีที่เหมาะสมนั้นควรมาจากที่ทุกฝ่ายร่วมแสดงความเห็น แล้วนำความเห็นที่ดีที่สุดมาสกัดเพื่อวางแนวทาง อย่างสื่อมวลชนอาจจัดเวทีเสวนาเพื่อให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องแสดงความเห็น เพื่อช่วยกันคิด และช่วยวางแนวทางว่าวิธีไหนจะเกิดประโยชน์กับบ้านเมืองมากที่สุด” นายมีชัย กล่าว

เมื่อถามถึง จุดยืนพรรคการเมืองหลายพรรคที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ผ่านส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง นายมีชัย กล่าวว่า ทำได้ ถ้าอยู่ในกรอบที่กำหนด เช่น ห้ามเปลี่ยนแปลงการปกครอง การแก้ไขก็จะต้องมีกรอบ ไม่ใช่เอากระดาษเปล่ามาวาง ที่ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น อย่างตอนกรธ.ร่างก็มีกรอบ ที่ร่างออกมาก็ได้ชอบใจทั้งหมด แต่ก็ต้องแบ่งกันไม่มีใครได้อะไรทั้งหมด ซึ่งในส่วนของการแก้ไข ที่ให้เสียงส.ว.1 ใน 3 และเสียงส.ส.ฝ่ายค้านด้วยนั้น ก็เป็นไปตามหลักที่จะต้องใช้ 2 สภาในการแก้ไข เพื่อทุกฝ่ายจะได้มองในแง่มุมของตนเอง ไม่ใช่เสียงข้างมากอย่างเดียว ส่วนการให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น ก็เพราะเห็นประสบการณ์ที่ผ่านมา ที่ฝ่ายค้านเสียงข้างน้อยจะยื่นให้ศาลช่วยตรวจสอบ

“การจะแก้ไขก็เพราะมองแต่จุดที่ไม่ชอบ ทั้งที่มันมีจุดชอบอยู่ แล้วแต่ละคนต่างก็ชอบและไม่ชอบต่างกันไป ถ้าเอาแต่ใจตนเองก็เป็นเผด็จการ ที่ขนาดเผด็จการจริงๆ ยังไม่กล้าทำ จะเอาตามใจตนเองหรือพวกตนกลุ่มเดียวไม่ได้ จะแก้ไขก็ต้องบอกก่อนจะแก้อย่างไร คนอีก 66 ล้านคนจะได้รู้ด้วย ทำได้แต่ต้องบอกให้รู้ด้วยจะทำอย่างไร ส่วนคนที่ชอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขาก็มีสิทธิที่จะปกป้องและคัดค้านได้ เพราะเขาไม่รู้ว่าจะแก้ไขไปสู่อะไร” ประธานกรธ.


 

RELATED ARTICLES

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img