“ปรากฎการณ์ ระบอบแม้ว”รีเทิร์น รอบ 3 ?
ศึกเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 กำลังสร้างปรากฎการณ์ทางการเมืองในรูปแบบที่หลากหลายอย่างยิ่ง
ปรากฎการณ์แรก สะท้อนให้เห็นการช่วงชิงระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ยึดกุมอำนาจรัฐยาวนานกว่า 8 ปี กับฝ่ายประชาธิปไตยที่มีบทบาทในฐานะฝ่ายค้าน แบ่งฝ่ายเดินเกมชิงอำนาจที่ชัดเจนยิ่งขึ้น สะท้อนได้จากแนวร่วมแต่ละฝ่ายไม่ว่าจะเป็นประชาชน หรือนักวิชาการรวมถึงสื่อมวลชน ที่เลือกข้างเชียร์อย่างไม่ลืมหูลืมตา บางครั้งเกิดวิวาทะกันกระหึ่มโซเซียล บางครั้งถึงขั้นใช้กำลังกันระหว่างที่ฝ่ายตรงข้ามลงพื้นที่หาเสียง
ปรากฎการณ์ที่ 2 สะท้อนให้เห็นความคิดเห็นต่างระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ ผ่านพรรคการเมืองที่ตัวเองเลือก ซึ่งเป็นความเห็นต่างที่ร้าวลึกลงไปถึงสถาบันครอบครัวแบบที่พ่อแม่ไปทาง ลูกๆไปทาง หากครอบครัวใดที่พ่อแม่ยอมรับความเห็นต่างของลูกๆได้ครอบครัวก็สมานฉันท์ หากครอบครัวใดที่พ่อแม่ยึดแนวอนุรักษ์สุดขั้วความร้าวฉาวจะเกิดเตลิดกลายเป็นปัญหาความขัดแย้งในครอบครัว
ปรากฏการณ์ที่ 4 คนรุ่นใหม่ต้องการที่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจทางสังคมใหม่ สามารถวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวต่างๆผ่านโลกโซเซียลปลุกคนในวัยเดียวกันให้ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง หรือผ่านผลโพลสำนักต่างๆที่สะท้อนให้เห็นว่าพรรคก้าวไกล เสนอนโยบายโดนใจคนรุ่นใหม่มีคะแนนแซงพรรคเพื่อไทยไปแล้ว
ปรากฎการณ์ ที่ 5 ประชาชนต้องการความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นโดยเฉพาะคนระดับกลางลงไปถึงระดับรากหญ้า เพราะตลอดระยะเวลากว่า 8 ปี ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้ารัฐประหารและสืบทอดอำนาจนั่งนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างแรง มาพร้อมกับข้อแก้ตัวสารพัด โทษรัฐบาลเก่า โทษโรคระบาด โทษภาวะเศรษฐกิจโลก สิ่งเหล่านี้หากผู้นำมีสติปัญญาและแนวทางแก้ปัญหาดี มีวิสัยทัศน์ จะสามารถแก้ปัญหาผ่อนหนักเป็นเบาได้
จึงไม่แปลกที่จะได้เห็นท่าทีหงุดหงิด เจ้าอารมณ์ ของผู้นำเมื่อถูกถามถึงปัญหาปากท้องชาวบ้าน ซึ่งปรากฎการณ์ที่ 5 นี้จะเป็นตัวช่วยหนุนให้ความฝันแลนด์สไลน์ของพรรคเพื่อไทยเป็นจริง
หากย้อนดูอดีตนับแต่ที่นายทักษิณ ตั้งพรรคไทยรักไทย ชนะการเลือกตั้งพร้อมนั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี บริหารประเทศได้นำนโยบายที่สัญญาต่อสารณชนช่วงหาเสียง นำมาปฎิบัติอย่างจริงจัง เป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็น
“นโยบายสงครามยาเสพติด ที่ปราบปรามอย่างเฉียบขาด ทำให้นับหมื่นครอบครัวได้ลูกที่เป็นทาสยาเสพติดกลับคืนมาเป็นคนปกติ สมาชิกในครอบครัวต่างชื่นมื่นเพราะอย่าลืมว่าถ้าสมาชิกในครอบครัวเป็นทาสยาเสพติดเพียงคนเดียวเสมือนตกนรกกันทั้งครอบครัวซึ่งสมาชิกของครอบครัวเหล่านี้คือแนวร่วมสำคัญของนายทักษิณ แบบแฟนพันธุ์แท้”
นโยบายกองทุนหมู่บ้าน ที่ได้ใจคนรากหญ้าทางภาคเหนือและอีสานแบบเต็มๆ หากได้ติดตามม็อบพันธมิตรที่เคลื่อนไหวขับไล่นายทักษิณ บุกยึดทำเนียบเป็นฐาน มีแนวร่วมเป็นคนระดับกลางไปถึงชนชั้นสูงพร้อมสโลแกน อาหารดี ดนตรีไพเราะ
ขณะที่ม็อบหนุนรัฐบาลทักษิณ ยึดพื้นที่สวนจตุจักร แนวร่วมจะเป็นคนระดับกลางถึงรากหญ้า แนวร่วมสำคัญที่เห็นได้ชัดคือพ่อค้าขายไข่ปิ้ง ข้าวเหนียวปิ้ง ถั่วต้ม ปลาหมึกย่าง รวมถึงหาบเร่ต่างๆ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าที่ได้มาทำมาหากินในกรุงเทพฯมีรายได้ส่งเงินกลับไปจุนเจือครอบครัวก็ได้เงินจากกองทุนหมู่บ้านมาทำทุนและก็ใช้ทุนไปหมดแล้ว
นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ช่วงประกาศนโยบายก็ถูกปรามาสว่าทำไม่ได้ แต่เมื่อนายกทักษิณ เป็นนายกฯผลงานก็ประจักษ์ เรียกคะแนนเสียงอย่างล้นหลาม แม้จะมีความพยายามจากผู้นำรัฐประหารหรือนายกรัฐมนตรีที่ตั้งโดยคณะรัฐประหาร อยากจะยกเลิก โดยอ้างว่าเป็นภาระสูง แต่ได้แค่คิด หนำซ้ำผู้นำเผด็จทหารบางคนกลับนำไปโชว์บนเวทีโลกอีกต่างหากทั้งที่ใจอยากเลิกเต็มทน เพราะคิดแค่ภาระเยอะ
แค่ 3 นโยบายส่งผลให้การเลือกตั้งสมัยสองของนายทักษิณ ชนะขาดลอยได้ส.ส.ถึง 377 เสียง เพราะประชาชนเชื่อมั่นว่าทำได้จริง มีรายรับมากกว่ารายจ่าย มีเงินเต็มกระเป๋า
ครั้นเมื่อหัวหน้ารัฐประหารที่นำโดยพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน นำกำลังทหารยึดอำนาจนายทักษิณ ตั้งพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี บริหารประเทศเพียง 1 ปี ชาวบ้านกระเป๋าแฟบ พอจัดการเลือกตั้งปรากฎว่าชาวบ้านเทคะแนนให้พรรคพลังประชาชน ชนะเลือกตั้ง ได้นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี บริหารได้ไม่นานก็ถูกม็อบกดดันเปลี่ยนตัวมาเป็น นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก็ถูกม็อบกดดันลาออกพร้อมกับศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคพลังประชาชน ก็ตั้งใหม่พรรคใหม่ชื่อเพื่อไทย
อำนาจก็เปลี่ยนมือมาอยู่ในฝั่งอนุรักษ์นิยมที่มีพรรคประชาธิปัตย์ เป็นตัวแทน มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นผู้นำรัฐบาลบริหารครบเทอมท่ามกลางการก่อม็อบจากกลุ่มเสื้อแดง เมื่อยุบสภาเลือกตั้งใหม่นายทักษิณ ส่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวแคนดิเดตนายกฯ ปรากฎว่าชาวบ้านเทเสียงให้แบบถล่มทลายเพราะมั่นใจว่ากระเป๋าที่แฟบจะฟูกลับมาอีกรอบ ด้วยเชื่อมั่นว่านโยบายที่ทำได้จริง ไม่ว่าจะเป็นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท บ้านหลังแรก รถคันแรก และโครงการจำนำข้าวที่โดนใจชาวนาอย่างยิ่ง
นางสาวยิ่งลักษณ์นั่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย มาพร้อมผลักดันนโยบายที่สัญญาไว้อย่างจริงจัง ชาวบ้านระดับกลางลงล่างจากกระเป๋าแฟบก็กลับมากระเป๋าฟูอีกรอบนายทักษิณ ได้กลับประเทศสมใจแต่ต้องระหกระเหินอีกรอบก่อนที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ จะถูกยึดอำนาจที่หัวหน้าคณะรัฐประหารชื่อพล.อ.ประยุทธ์
พล.อ.ประยุทธ์ นั่งในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกือบ 4 ปี ระหว่างนั้นก็ให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ วางแนวทางสืบทอดอำนาจ เพราะได้สรุปบทเรียนเมื่อครั้งรัฐประหารนายทักษิณ ว่าเสียของมาแล้ว
เมื่อถึงเวลาเลือกตั้งประชาชนยังเลือกเพื่อไทยเป็นอันดับ 1 แต่ด้วยกลไกที่เลวร้ายวางกับดักสกัดทุกทางไม่ให้ระบอบทักษิณกลับมาครอบงำ จึงได้พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีสืบทอดอำนาจต่อพล.อ.ประยุทธ์ บริหารประเทศท่ามกลางความขัดแย้งแบบร้าวลึกเป็นเสมือนคลื่นใต้น้ำ ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต่อต้านรัฐบาลประยุทธ์และกระเทือนไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจพล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารรถนำพาให้ประชาชนส่วนใหญ่พ้นบ่วงรายจ่ายสูงกว่ารายรับได้ แต่กลับสร้างโอกาสให้กลุ่มทุนผูกขาดธุรกิจเข้ามาตักตวงอย่างอิ่มหนำ จนเกิดวาทะ รวยกระจุกจนกระจายดังนั้นเมื่อมีการการยุบสภาและจัดให้การมีเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ พรรคเพื่อไทย ที่มีลูกสาวนายทักษิณ เป็นแคนดิเดต นายกรัฐมนตรี เปิดตัวเพียงไม่กี่สัปดาห์ผลโพลก็นำโด่งทิ้งคู่แข่งหลายช่วงตัว
ครั้นเปิดนโยบายออกมายิ่งทิ้งห่าง ไม่ว่าจะเป็นค่าแรง 600 บาท แจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 10,000.-บาท กับทุกคนที่อายุ 16 ปี ขึ้นไป แม้จะถูกวิจารณ์อย่างหนัก แต่เสียงที่สะท้อนจากผลโพลว่าพรรคเพื่อไทยทำได้ ขณะที่พรรคแนวร่วมอย่าง”ก้าวไกล”คะแนนเสียงกับตีตื้นและขึ้นนำเพื่อไทยในบางช่วง แต่พรรคไหนจะคะแนนเสียงมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับประชาชนจะตัดสินในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ แต่ระหว่างทางก่อนที่จะถึงวันเลือกตั้งชี้ชะตาเกมชิงอำนาจ กลับมีเสียงซุบซิบว่ามีการต่อรองกันว่าหากเพื่อไทย จะจัดตั้งรัฐบาลแบบฉลุยมีเงื่อนไข 2 ข้อ คือ ห้ามแตะ 112 และห้ามดึงก้าวไกลมาเป็นพรรคร่วมรัฐบาล
จริงเท็จแค่ไหนก็เป็นเพียงเสียงซุบซิบแต่ถ้าดูพฤติกรรมการหาเสียงของพรรคเพื่อไทยแล้วจะเห็นว่าขอแลนด์สไลด์เกิน 300 เสียงตั้งรัฐบาลพรรคเดียว เพื่อกันเสียงครหาทิ้งพรรคฝ่ายประชาธิปไตย หรือดูพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของพล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 หลังประชุมคณะรัฐมนตรี
“เมื่อถามถึงนายทักษิณ บอกจะขออนุญาตกลับบ้าน พล.อ.ประยุทธ์ แสดงอาการยิ้ม นิ่งเฉย ไม่อึ๋ดงัดเหมือนแต่ก่อน” ดังนั้นเสียงซุบซิบจะเป็นจริงแค่ไหน ระบอบทักษิณจะรีเทิร์น รอบ 3 หรือไม่ ต้องติดตามแบบไม่กระพริบตาเลยละ !!