วันที่ 7 ก.พ.2566 ผู้อำนวยการ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ยื่นคำร้องต่อศาลอาญา ขอปล่อยชั่วคราวในคดีหมายเลขดำ อ.1237/2565 ที่พนักงานอัยการ ยื่นฟ้อง น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ เป็นจำเลย
โดย ผู้อำนวยการ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ อ้างถึงสถานะในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐในสถานพยาบาลที่ได้รับมอบตัวผู้ต้องควบคุมภายใต้อำนาจศาลไว้ดูแลและได้รับมอบหมายจากกรมราชทัณฑ์ ขอปล่อยชั่วคราวจำเลย ซึ่งได้รายงานถึงสุขภาพของจำเลย ที่ได้อดข้าวและน้ำเพื่อเรียกร้องตามข้อเรียกร้อง ตั้งแต่เย็นวันที่ 18 ม.ค.2566
โดยระบุถึงอาการล่าสุดเมื่อเช้า วันที่ 6 ก.พ.2566 ด้วยว่าอาการโดยรวมของผู้ถูกควบคุมตัวมีภาวะคีโตนในเลือดสูงมากขึ้นและประสิทธิภาพการทำงานกรองของเสียของไตลดลงอย่างมาก อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ ซึ่งโรงพยาบาลเห็นว่าจำเลยอยู่ในสภาพที่ไม่เหมาะแก่การควบคุมตัวระหว่างพิจารณา และสุขภาพร่างกายอยู่ในภาวะวิกฤติอย่างยิ่ง จึงขอให้ศาลพิจารณาเพิกถอนหมายขังและให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดีโดยไม่มีเงื่อนไขตามหลักเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในเรื่องการสันนิษฐานจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษา และหลักการการควบคุมผู้ต้องหาหรือจำเลยให้ทำได้เท่าที่จำเป็นเพื่อมิให้มีการหลบหนีซึ่งจะทำให้การรักษาตัวและฟื้นฟูสภาพร่างกายของจำเลยทำได้สะดวกและลดเงื่อนไขที่อาจจะเป็นอันตรายแก่ชีวิต
ศาลอาญา พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าจำเลยอยู่ในความดูแลรักษาของโรงพยาบาลที่ผู้ร้องเป็นผู้ควบคุมดูแลอยู่ เมื่อผู้ร้องซึ่งเป็นนายแพทย์รายงานมาว่าจำเลยอยู่ในภาวะวิกฤติอาจเสียชีวิตได้ ประกอบกับการเข้าเยี่ยมจำเลยจากบุคคลใกล้ชิดในกรณีที่จำเลยยังอยู่ในความควบคุมดูแลของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ต้องเป็นไปตามระเบียบซึ่งอาจจะเป็นปัญหาในการเยียวยาจิตใจของจำเลยขณะอยู่ในภาวะวิกฤติ กรณีมีเหตุสมควรให้ออกหมายปล่อยจำเลยชั่วคราว มีกำหนดระยะเวลา 1 เดือนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 71 วรรคสาม เมื่อครบเวลาปล่อยชั่วคราวแล้วให้จำเลยมารายงานตัวต่อศาล โดยให้ออกหมายปล่อยจำเลยวันนี้ และแจ้งผู้ร้องทราบด้วย