จากกรณีประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ส่งความเห็นของสมาชิกสนช.จำนวน 30 คนขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตครา 148 (1)ประกอบมาตรา 263 ว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ….มาตรา 91 มาตรา 92 มาตรา 93 มาตรา 94 มาตรา 95 และมาตรา 96 มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 107 หรือไม่
ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนานเกือบ 3 ชั่วโมง ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. มาตรา 91,92,93,94,95 และ 96 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาลใช้บังคับในวาระเริ่มแรก มีเนื้อหากำหนดให้การสรรหา ส.ว.มีการกำหนดจำนวนกลุ่มผู้สมัคร วิธีการสมัครและกระบวนการเลือก แตกต่างไปจากการได้มาซึ่งส.ว.ตามบททั่วไป ไม่มีข้อความขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 107 ประกอบมาตรา 269
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มีการอภิปรายในคำร้องที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ( สนช.) ส่งความเห็นของ สนช. 27 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 148 วรรค 1 (1) ประกอบมาตรา 263 ว่าร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 35 (4) และ(5) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการตัดสิทธิการรับราชการของผู้ไม่ได้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 95 วรรค 3 หรือไม่และมาตรา 92 วรรค 1 กรณีการอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการและทุพลภาพในการใช้สิทธิเลือกตั้ง ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 85 หรือไม่ โดยนัดแถลงด้วยวาจาและลงมติในวันที่ 30 พ.ค.
ส่วนคำร้องผู้ตรวจการแผ่นดินที่ขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 53/2560 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 25,26,27 และ 45 หรือไม่นั้นศาลได้มีคำสั่งรับคำชี้แจงที่หัวหน้าคสช.ได้ส่งความเห็นและข้อมูลทีเกี่ยวข้องเป็นหนังสือ รวมถึงคำชี้แจงของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้ส่งหนังสือความเห็นเพิ่มเติมเข้ามาแล้ว โดยนัดอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยต่อในวันที่ 30 พ.ค.