นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เตรียมยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ในวันจันทร์ที่ 21 พ.ค.นี้ เพื่อให้พิจารณาว่านายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยยกสามพฤติกรรมที่เป็นปัญหาคือ 1. อยู่เบื้องหลังการผลักดัน การขยายเวลาการก่อสร้างอาคารรัฐสภา 3 ครั้งมาโดยตลอด 2. ไม่ดำเนินการโครงการแบบจำลองอาคารรัฐสภาทองคำเฉลิมพระเกียรติของรัชกาลที่ 10 ให้เสร็จสิ้นตามโครงการของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถือว่าเป็นความบกพร่องในหน้าทีอ่ย่างร้ายแรง และ 3. ไม่ใส่ใจในคำบัญชาของนายกรัฐมนตรีที่ทำหนังสือให้ใช้จ่ายงบประมาณอย่างคุ้มค่าและประหยัด ทั้งที่มีการระบุว่าอย่าให้มีปัฐหาเช่นเดิม แต่นายสรศักดิ์ กลับส่งงบประมาณเท่าเดิมให้ ครม.พิจารณาอีกครั้ง
ทั้งนี้หากนำมาเทียบกับกรณีที่นายกรัฐมนตรีเคยมีคำสั่งย้ายนายจเร พันธุ์เปรื่อง อดีตเลขาธิการสภาฯ ไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยอ้างเหตุผลว่าดำเนินการก่อสร้างอาคารรัฐสภาล่าช้า ก็ถือว่ามีความผิดมากกว่าเพราะดำเนินการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ล่าช้ายิ่งกว่า อีกทั้งมีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริตด้วย จึงอยากให้นายกฯพิจารณาว่านายสรศักดิ์ ยังสมควรอยู่ในตำแหน่งต่อไปหรือไม่ ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 แต่สามารถใช้กฎหมายปกติดำเนินการได้ทันที เช่นเดียวกับการโยกย้ายปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
นายวัชระยังทำหนังสือถึง น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เพื่อทวงถามความคืบหน้ากรณีที่ผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร อ้างความเห็นข้าราชการกรมบัญชีกลางว่า สามารถใช้วิธีคัดเลือกในการจัดจ้างผู้รับจ้างไอซีทีของอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ได้ ทำให้ไม่มีการประมูลเป็นการทั่วไป และยื่นหนังสือถึงนายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ว่าถูกต้องตามแบบแปลนตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 2/2554 เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2554 ที่ให้สร้างอาคารเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และประหยัดพลังงาน แต่การก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่กลับของบประมาณเพิ่มเติมอีก 8,648 ล้านบาท ส่วนหนึ่งของการของบประมาณเพิ่มเติมคือการจัดซื้อเครื่องปรับอากาศ
อีกทั้งยังปรากฏคำสัมภาษณ์ของผู้แทนบริษัทผู้รับจ้างก่อสร้างอาคารรัฐสภาว่า เมื่ออาคารสร้างเสร็จแล้วมีเรื่องที่น่ากังวล คือ การทดสอบไฟที่อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ คิดเป็นการใช้ไฟ 2 อำเภอรวมกัน จึงเห็นว่าน่าจะเป็นการก่อสร้างที่ผิดแบบแปลนไปจากที่ ครม.ได้อนุมัติภายใต้เงื่อนไขให้ปฏิบัติตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติดังกล่าว