เหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 เกิดการชุมนุมของประชาชนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลนำโดย พล.อ.สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลผสม 5 พรรค ประกอบด้วย พรรคชาติไทย, กิจสังคม, สามัคคีธรรม, ประชากรไทย และพรรคราษฎร์ สถานการณ์ชุมนุมขณะนั้น ได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองคือพรรคประชาธิปัตย์, ความหวังใหม่, พลังธรรมและเอกภาพ เพื่อเรียกร้องให้คืนประชาธิปไตยกับประชาชน ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายบนถนนราดำเนิน มีการใช้กำลังทหารและตำรวจเข้าปราบปรามเกินกว่าเหตุ ทำให้มีการบาดเจ็บล้มตายและสูญหายจำนวนมาก!
กลุ่มผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา นักวิชาการ พนักงานขององค์กรเอกชน และนักธุรกิจ ซึ่งถือเป็นชนชั้นกลางส่วนใหญ่ การเรียกร้องท่ามกลางกลิ่นคาวเลือดควันปืน ยืนหยัดอย่างไม่ท้อถอย… และได้รับผลสำเร็จในเวลาต่อมา! ซึ่ง พล.อ.สุจินดา ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ร่วมอยู่ในตำแหน่งได้เพียง 64 วัน ประชาชนคนชั้นกลางซึ่งถูกเรียกว่า “ม็อบมือถือ” ขณะนั้นใช้วิธีการติดต่อด้วยโทรศัพท์มือถืออย่างต่อเนื่อง คัดค้านการสืบทอดอำนาจของเผด็จการ “รสช.” และคัดค้านรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เปิดปราศรัยใหญ่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้าควบคู่กับการอดอาหารประท้วงของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และ รต.ฉลาด วรฉัตร ประชาชนจำนวนกว่า 3 แสนคน เคลื่อนตัวไปทำเนียบรัฐบาล มีการเผชิญหน้ากับกำแพงตำรวจนับพันนาย มีการปะทะขึ้นอย่างดุเดือด มีการบุกยึดสถานีดับเพลิง ภูเขาทอง ก่อเหตุเผาสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง กำลังตำรวจ-ทหารเข้าสลายการชุมนุม สงครามกลางเมืองขนาดย่อย ส่งผลให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ถูกลูกหลง บาดเจ็บล้มตาย ถนนราชดำเนินกลายเป็นสมรภูมิสู้รบ ศพจำนวนมากถูกขนออกไปจากโรงแรม ไม่มีใครรู้ว่าไปไหน นั่นเป็นเหตุการณ์เดือนพฤษภาทมิฬ ปี2535 ที่นำมาซึ่งความเศร้าสลดในประวัติศาสตร์ ที่ไม่อาจสรรหาคำใดๆ มากล่าวได้…
สำหรับปีนี้ เริ่มมีการชุมนุมกันที่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะ จ.เชียงใหม่ ที่ถูกจุดประกายขึ้นจากกลุ่มคนต่อต้านบ้านพักตุลาการ กรณี “ป่าแหว่ง” และกลุ่มอื่นๆ ที่ทยอยออกมา หากรัฐบาลยังไม่ประกาศปลดล็อคการเมืองให้โล่งๆ เราอาจจะได้เห็นภาพเก่าๆ ในประวัติศาสตร์ หวนกลับมาในเดือนพฤษภาคม อีกครั้ง!! ก็เป็นได้!