นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ก กล่าวถึงกรณีที่มีบุคคลกลุ่มหนึ่งออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านการก่อสร้างอาคารบ้านพักตุลาการที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยเมื่อวันที่ (29 เม.ย) ได้มีการชุมนุมกันและยื่นคำขาดให้ท่านนายกรัฐมนตรีสั่งรื้ออาคารดังกล่าวโดยด่วนนั้น โดยระบุว่า “…..ขอยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่าพื้นที่ที่ใช้ก่อสร้างอยู่นอกแนวเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุยและเป็นที่ดินราชพัสดุที่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 8 ตรี ด้วย จึงเป็นที่ดินที่มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดินแล้ว ดังนั้นจึงไม่ได้เป็นป่าตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ มาตรา 1(4)
…..เมื่อพื้นที่ที่ใช้การก่อสร้างไม่ได้เป็นป่าตามกฎหมาย และการก่อสร้างก็ชอบด้วยกฎหมายทุกประการ สำนักงานศาลยุติธรรมซึ่งเป็นหน่วยงานธุรการของศาลยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 193 ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างไม่มีอำนาจที่จะสั่งให้รื้ออาคารที่กรรมสิทธิ์ของทางราชการได้เพราะผิดกฎหมาย ผู้ที่สั่งให้รื้อจะมีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งมีโทษจำคุกถึง 10 ปี และต้องใช้ราคาของอาคาร 1,000 ล้านบาทเศษให้ทางราชการด้วย
…..การที่กลุ่มบุคคลดังกล่าวยื่นคำขาดให้ท่านนายกรัฐมนตรีสั่งรื้ออาคารดังกล่าวนั้น ทั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันและพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ก็ไม่มีบทบัญญัติใดที่ให้อำนาจท่านนายกรัฐมนตรีสั่งให้รื้ออาคารดังกล่าวได้
…..มีการเรียกร้องให้ท่านนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ใช้อำนาจในมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 สั่งให้รื้ออาคารดังกล่าว
…..มาตรา 44 บัญญัติว่า ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจําเป็นเพื่อประโยชน์ ในการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อ ป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอํานาจสั่งการ ระงับยับยั้ง หรือกระทําการใด ๆ ได้ ไม่ว่าการกระทํานั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคําสั่งหรือการกระทํา รวมทั้งการปฏิบัติตามคําสั่งดังกล่าว เป็นคําสั่ง หรือการกระทํา หรือการปฏิบัติท่ีชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด ทั้งน้ี เมื่อได้ ดําเนินการดังกล่าวแล้ว ให้รายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว
…..ตามบทบัญญัติดังกล่าวหัวหน้า คสช. จะออกคำสั่งโดยใช้อำนาจตามมาตรานั้นต้องมีหลักเกณฑ์คือ
……..1 เป็นการจําเป็นเพื่อประโยชน์ ในการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือ
……..2 เพื่อ ป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร
…..เมื่อการก่อสร้างอาคารบ้านพักตุลาการอยู่ในพื้นที่ซึ่งไม่ได้เป็นป่าตามกฎหมายและการดำเนินการก่อสร้างก็ชอบด้วยกฎหมายทุกประการ จึงเห็นว่าไม่น่าเข้าหลักเกณฑ์ทั้งข้อ 1 และ 2 ที่ท่านนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้า คสช. จะนำมาตรา 44 มาใช้ในกรณีนี้ได้
…..แต่ทั้งนี้อยู่ที่ดุลพินิจของท่านนายกรัฐมนตรีที่จะพิจารณาว่า จะนำมาตรา 44 มาใช้ได้หรือไม่ โดยขึ้นอยู่กับที่ปรึกษากฎหมายว่าจะให้คำปรึกษาต่อท่านนายกรัฐมนตรีว่าอย่างไร ครับ”
[fb_pe url=”https://www.facebook.com/chuchart.srisaeng/posts/1458724284253793″ bottom=”30″]