มหาวิกฤติศรัทธา สองมาตราฐาน

1696


 “วิกฤติศรัทธา” ที่สังคมมีต่อกระบวนการยุติธรรมไทยเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยที่เหล่าผู้มีอำนาจในบ้านเมือง รวมทั้งผู้ที่ทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรมให้ชาวบ้าน มิได้ใส่ใจที่จะแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง แม้ว่าจะมีเสียงเรียกร้องให้เร่งให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมโดยเร็ว โดยเฉพาะการปฏิรูปต้นธารคือ “ตำรวจ” ซึ่งเป็นองค์กรที่ มีต้นทุนทางสังคมต่ำมากที่สุดองค์กรหนึ่งในสยามประเทศ!
 
สิ่งที่เกิดขึ้นคือการซื้อเวลาของรัฐบาลด้วยการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษา คณะกรรมการปฏิรูป และคณะกรรมการอะไรต่อมิอะไรอีกร้อยแปดคณะ แต่สิ่งที่ได้มาคือ กองกระดาษปึกใหญ่ พร้อมกับ ภาษีของรัฐ ที่ต้องละลายไปกับค่าตอบแทน และเบี้ยประชุมให้แก่คณะกรรมการเหล่านี้ โดยสิ่งที่เรียกว่า “กระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐาน” หรือ “การอำนวยความ อยุติธรรม” และ “คุกมีไว้ขังคนจน” ยังคงปรากฏให้เห็นเป็นที่ประจักษ์เป็นระยะ เป็นดั่งระเบิดเวลาที่รอการปะทุ!!
 
นี่คือตัวอย่างของ “ความอยุติธรรม” หรือ “ความยุติธรรมสองมาตรฐาน” ที่มีคนรวบรวมเอาไว้อย่างแสบ ๆ คัน ๆ ในโลกโซเชียล
 
“ตรวจบ่อนไม่เจอกล้อง ตรวจซ่องไม่เจอกะหรี่
ตรวจเฟอรารี่ไม่เร็วเกินอัตรา ตรวจนาฬิกาไม่เจอความผิด
ตรวจมลพิษไม่เจอควันดำ ตรวจคดีเสือดำไม่อยู่ในเหตุการณ์
ตรวจสอบรัฐบาลไม่เจอความห่วย ตรวจแผงหวยไม่เจอขายเกินราคา!!!”

ต้องขอบคุณ คดีทายาทกระทิงแดง ซึ่งสร้างสโลแกนใหม่ว่า “ตำรวจมีไว้ให้พุ่งชน”!! ที่เปลือย ความฟอนเฟะ  ของ “กระบวนการยุติธรรมไทย” ออกมาอย่างล่อนจ้อน ทำให้วิกฤติศรัทธาที่เป็นดั่งระเบิดที่ถูกซุกไว้ใต้พรมปะทุขึ้นมากลายเป็น มหาวิกฤติ สร้างความเสียหายราวเหตุระเบิดที่กรุงเบรุต เลบานอน!!
 
ตอกย้ำถึงความเสื่อมทรามของผู้ที่มีหน้าที่ อำนวยความยุติธรรม ให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะองค์กรตำรวจ ซึ่งแม้แต่ คนสีกากีเองยังรับไม่ได้ กับการที่ นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ไม่แสดงความเห็นแย้ง กรณีอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา ทั้งที่ผู้ตายคือ ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ซึ่งไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะ ควรเป็นผู้เสียหายแต่ต้องกลายเป็นผู้ต้องหาร่วม!
 
ด.ต.วิเชียรที่เป็นตำรวจแท้ ๆ ถูกรถเฟอรารี่ชนตายแล้วซุปเปอร์คาร์ราคาสิบกว่าล้านก็ลาก ร่างอันไร้วิญญาณ ของเขา ครูดไปตามท้องถนนอย่างอำมหิต ไปอีกหลายร้อยเมตร ยังถูก เพื่อนร่วมวิชาชีพ พลิกจากผู้เสียหายให้กลายมาเป็นผู้ต้องหา!!! แล้วจะให้สังคมเหลือความหวังได้อย่างไรว่าหากคดีอันน่าเศร้าสลดเกิดกับชาวบ้านธรรมดา ตำรวจจะทำหน้าที่เป็น “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” อย่างแท้จริง!?!
 
ในขณะที่นายตำรวจที่เกี่ยวข้องกับคดีกลับถูกลงโทษเพียง ความผิดวินัยไม่ร้ายแรง ซึ่งสังคมไทย โดยเฉพาะนักวิชาการด้านกฎหมายตั้งข้อสงสัยว่าจากข้อกล่าวหาที่ คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ของ สำนักวานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) ระบุว่า ตำรวจที่เกี่ยวข้องทำสำนวนการสอบสวนคดีดังกล่าวจนเกิดความบกพร่องหลายประการ น่าจะมีกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม!! ซึ่งหากเป็นไปตามผลการสืบสวนจริงคนเหล่านี้ควรจะถูกดำเนินคดีอาญา และ ถูกลงโทษทางวินัยอย่างสูงสุด ไม่ใช่ถูกลงโทษเบาเหมือนโดนยุงกัด!?!
 
เมื่อเห็นบทลงโทษตำรวจที่เกี่ยวกับ คดีนายบอส แล้ว นอกจากจะเกิด ความสมเพชเวทนา ก็อดใจไม่ได้จริง ๆ ที่จะเอาไปเปรียบเทียบกับกรณี พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร. ที่ถูก “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.สั่งสำรองราชการ อันเนื่องมาจากความผิดกรณี คลิปเสียงคดียิงรถ “บิ๊กโจ๊ก” หลุด
 
โดยกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นวันที่ 9 ม.ค.63 เมื่อโลกโซเชียลแชร์คลิปลับความยาว 3 นาที เป็นบทสนทนาที่คล้ายเสียงของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ กับ พล.ต.อ.วิระชัย พูดคุยเกี่ยวกับคดียิงรถเก๋ง ”บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล นายตำรวจคนดังที่ถูกเด้งไปเป็นปรึกษาพิเศษ สำนักนายกรัฐมนตรี
 
กรณีนี้สมมุติว่า พล.ต.อ.วิระชัย เป็นผู้ปล่อยคลิปไปสู่โซเชียลมีเดียจริง ถามว่า ความผิดมันรุนแรงกว่า มันสร้างความเสียหายแก่สังคม สร้างความเสื่อมเสียแก่องค์กรตำรวจ มากกว่าเมื่อเทียบกับพวกที่ถูกกล่าวหาช่วยนายบอสให้พ้นผิดงั้นหรือ!?!
 
ไม่ได้จะปกป้อง พล.ต.อ.วิระชัย ถ้าหากตรวจสอบแล้วพบว่าเขากระทำความผิดจริงตามที่ถูกกล่าวหาก็สั่งลงโทษไปเลย..แต่!!! บทลงโทษมันควรจะได้สัดส่วนใช่หรือไม่!?!
 
ถ้าวิระชัยถูกลงโทษด้วยข้อหา “ผิดวินัยร้ายแรง” กลุ่มข้าราชการตำรวจที่ถูกกล่าวหาโดย คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงของ ตร. ว่า น่าจะมีกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ควรจะได้รับการลงโทษไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน หรือต้อง หนักกว่า ด้วยซ้ำ!!!
 
การที่ พล.ต.อ.วิระชัย ถูก สั่งสำรองราชการ สิ่งที่เกิดขึ้นคือเจ้าตัว ถูกตัดสิทธิจากการเป็นแคนดิเดต ผบ.ตร. ทันที ไม่ว่าเขาจะเป็นตัวเต็งหรือไม่ ขณะเดียวกันจะทำให้ตำแหน่ง รอง ผบ.ตร. ว่างลงเพิ่มอีก 1 ตำแหน่ง เป็น 3 ตำแหน่ง จากเดิมมีเพียง 2 เก้าอี้ มาแทนที่ “บิ๊กแป๊ะ” กับ “บิ๊กช้าง” พล.ต.อ.ชัยวัฒน์ เกตุวรชัย รอง ผบ.ตร. เพื่อน นรต. 36 ที่ควงกันเกษียณราขการ ซึ่งทำให้ผู้ช่วย ผบ.ตร. ที่อาวุโสยังไม่ถึงบางคนแอบยิ้มมุมปาก เช่นเดียวกับแคนดิเดต ผบ.ตร. ที่คู่แข่งโดนเตะตัดขาไปหนึ่งราย แม้วิระชัยจะไม่ใช่ตัวเต็งก็ตาม
 
การตัดสินใจสั่งสำรองราชการ พล.ต.อ.วิระชัย ครั้งนี้ ต้องยอมรับว่า มีผู้ตั้งข้อกังขาถึงแรงจูงใจของคนสั่ง!! ซึ่งต่อให้เขาผิดจริง มันก็ยิ่งตอกย้ำ และสะท้อนให้เห็นถึง ความยุติธรรมสองมาตรฐาน ..หรือที่จริงจะเรียกว่ามันไร้มาตรฐานเลยก็ได้.. ที่เกิดขึ้นในองค์กรที่เป็น ต้นธารกระบวนการยุติธรรม แห่งนี้.. และมันยิ่งฟ้องว่า ถึงเวลาแล้วที่การปฏิรูปตำรวจจะต้องเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด.. มันไม่ควรจะเป็นเพียงการผายลม ทางปากของผู้มีอำนาจที่ทิ้งไว้เพียงกลุ่มอากาศที่เหม็นเน่าให้สังคมต้องสูดดมอีกต่อไป!!!

ฝาก ผู้นำหน่วย เจ้าของ ระหัส”พิทักษ์ 1 “คนต่อไปที่กำลังจะมานั่งเก้าอี้นี้ รีบกู้ วิกฤตศัทธา ให้ผู้ใต้บังคับบัญชา และประชาชน กลับมา ก่อนจะพังพินาศ มากกว่านี้

ดั่งพระบรมราโชวาทตอนหนึ่งของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานกระบี่แก่นักเรียนนายร้อยตำรวจ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2493 ซึ่งนับเป็นรุ่นแรกที่ทรงเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานกระบี่

“…ขอให้สำนึกถึงความรับผิดชอบของตำรวจ ผู้ได้ชื่อว่าเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ตำรวจย่อมมีหน้าที่เป็นผู้บำบัดทุกข์ บำรุงสุขของอาณาประชาชนอย่างใกล้ชิด ในการปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายและรักษาสันติสุขนั้น นอกจากความรู้ความสามารถในหน้าที่แล้วย่อมต้องวางตนให้เป็นแบบอย่างอันดี เพราะความนิยมเคารพเลื่อมใส ยังความอบอุ่นร่มเย็นแก่บรรดาประชาราษฎร์ มีความซื่อสัตย์สุจริต ความยุติธรรมและความกรุณาปราณีประกอบไปด้วย คราวใดที่ควรให้ความช่วยเหลือ หรือคำแนะนำอันจะเป็นประโยชน์ได้แล้ว ก็ต้องพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือหรือคำตักเตือน เช่นว่านั้น ด้วยความเมตตาปราณี รวมความว่าควรจะต้องวางตนเหมือนหนึ่งเป็นพี่เลี้ยงและผู้รับใช้ประชาชนด้วยในคราวเดียวกัน ถ้าท่านได้ยึดมั่นอยู่ในข้อเหล่านี้ และพยายามบำเพ็ญตนและอบรมผู้ที่จะอยู่ในบังคับบัญชาของท่านต่อไปตามนัยที่ว่านี้แล้ว ประโยชน์และความสุขจะบังเกิดแก่ชาติบ้านเมืองเป็นแท้ “

ดั่งพระบรมราโชวาทตอนหนึ่งของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานกระบี่แก่นักเรียนนายร้อยตำรวจ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2493 ซึ่งนับเป็นรุ่นแรกที่ทรงเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานกระบี่

“…ขอให้สำนึกถึงความรับผิดชอบของตำรวจ ผู้ได้ชื่อว่าเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ตำรวจย่อมมีหน้าที่เป็นผู้บำบัดทุกข์ บำรุงสุขของอาณาประชาชนอย่างใกล้ชิด ในการปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายและรักษาสันติสุขนั้น นอกจากความรู้ความสามารถในหน้าที่แล้วย่อมต้องวางตนให้เป็นแบบอย่างอันดี เพราะความนิยมเคารพเลื่อมใส ยังความอบอุ่นร่มเย็นแก่บรรดาประชาราษฎร์ มีความซื่อสัตย์สุจริต ความยุติธรรมและความกรุณาปราณีประกอบไปด้วย คราวใดที่ควรให้ความช่วยเหลือ หรือคำแนะนำอันจะเป็นประโยชน์ได้แล้ว ก็ต้องพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือหรือคำตักเตือน เช่นว่านั้น ด้วยความเมตตาปราณี รวมความว่าควรจะต้องวางตนเหมือนหนึ่งเป็นพี่เลี้ยงและผู้รับใช้ประชาชนด้วยในคราวเดียวกัน ถ้าท่านได้ยึดมั่นอยู่ในข้อเหล่านี้ และพยายามบำเพ็ญตนและอบรมผู้ที่จะอยู่ในบังคับบัญชาของท่านต่อไปตามนัยที่ว่านี้แล้ว ประโยชน์และความสุขจะบังเกิดแก่ชาติบ้านเมืองเป็นแท้”