ปลดล็อควิกฤติขาดแคลนอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ เน้นงานวิจัย 4 เรื่องเร่งด่วนหน้ากาก N95- ชุด PPE-เครื่องช่วยหายใจ-ระบบห้องปรับอากาศแรงดันลบ เปิดรับตั้งแต่วันนี้ถึง 14 เมษายน นี้
ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า กระทรวง (อว.) โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประกาศเปิดรับข้อเสนอทุนวิจัยและนวัตกรรมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์สำหรับการป้องกันและรักษา รวมทั้งสถานพยาบาลที่ใช้รองรับผู้ป่วย รวมทั้งเตรียมการรองรับวิกฤตที่อาจร้ายแรงขึ้นในอนาคต โดยเปิดรับข้อเสนอการวิจัยจะดำเนินงานผ่านระบบข้อมูลสารสนเทศวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ National Research and Innovation Information System (NRIIS) โดยผู้ที่สนใจสามารถส่งข้อเสนอการวิจัยได้ที่ http://nriis.nrct.go.th ระบบจะเปิดรับลงทะเบียนระหว่างวันที่ 8–14 เมษายน 2563
โดยทาง (วช.) จะเปิดรับข้อเสนอทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาใน 4 เรื่องเร่งด่วน ได้แก่ 1.การวิจัยและพัฒนาหน้ากากอนามัย N95 เพื่อใช้ทางการแพทย์ 2.การวิจัยและพัฒนาชุดป้องกันส่วนบุคคลของบุคลากรทางการแพทย์ หรือ Personal Protective Equipment (PPE) เช่น เสื้อกาวน์ป้องกันการติดเชื้อ (Surgical gown) และชุดป้องกันร่างกาย (Safety coverall) อื่นๆ 3.การวิจัยและพัฒนาเครื่องช่วยหายใจ (Ventilators/ Respirators) และ 4.การวิจัยและพัฒนาระบบห้องและการปรับอากาศแรงดันลบ (Negative-pressure Facilities) และโรงพยาบาลสนาม
ทั้งนี้ งานวิจัยมีการพิจารณาข้อเสนอโครงการโดยคณะผู้ทรงคุณวุฒิอย่างเร่งด่วน เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และทันต่อการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ โทร 025791370-9 ต่อ 409, 410
สำหรับเงื่อนไขการเสนอข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรมจะต้อง มีประเด็นวิจัยและนวัตกรรมตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ งบประมาณที่เสนอต้องมีรายละเอียดค่าใช้จ่ายเป็นไปตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ว่าด้วยแนวทางและหลักเกณฑ์ในการดำเนินงานเพื่อการวิจัยและส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ พ.ศ.2555 และเหมาะสมกับการดำเนินงาน
ทั้งนี้ ข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรมหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของข้อเสนอนี้ ต้องไม่อยู่ในข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับทุนอุดหนุนจากแหล่งทุนอื่น กรณีมีการต่อยอดจากงานวิจัยเดิมต้องแสดงขอบเขตการดำเนินงานระหว่างงานเดิมและงานใหม่ และได้รับความยินยอมจากเจ้าของผลงานเดิมให้นักวิจัยนำทรัพย์สินทางปัญญามาดำเนินการต่อยอด หากตรวจพบว่าข้อเสนอดังกล่าวได้รับทุนซ้ำซ้อนหรือมีการดำเนินการมาแล้ว (อว.) หรือ (วช.) ขอสงวนสิทธิ์ในการยกเลิกการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม
อย่างไรก็ดี กรณีโครงการที่เป็นการดำเนินงานในลักษณะสนับสนุนร่วม (Co-founding) ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณ ครุภัณฑ์ หรือสิ่งก่อสร้างจากหน่วยงานอื่น ให้แสดงรายละเอียดการสนับสนุนดังกล่าวโดยระบุงบประมาณในแต่ละรายการในข้อเสนอ โดยถือว่าข้อเสนอโครงการที่เสนอมานั้น ผ่านความเห็นชอบจากหัวหน้าโครงการ คณะผู้วิจัย และผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วยงานระดับอธิการบดี อธิบดีหรือเทียบเท่าของภาครัฐที่ผู้อำนวยการแผนงานสังกัดอยู่ หรือกรรมการผู้จัดการใหญ่หรือเทียบเท่าของภาคเอกชนเรียบร้อยแล้ว
“ขณะนี้กระทรวง (อว.) ได้มีการเกลี่ยงบประมาณภายในกระทรวงใหม่ทั้งหมด โดยได้มีการจัดสรรงบประมาณกว่า 3,000 ล้านบาท ในการนำไปใช้เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเวชภัณฑ์และการเตรียมพร้อมของโรงพยาบาลในการรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดย เพื่อปลดล็อคปัญหาด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลของบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอ โดยจะเป็นการทำงานบนพื้นฐานการเตรียมพร้อมในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดพร้อมทั้งสั่งการให้มีการจัดตั้งคณะทำงานรับมือกับสถานการณ์โรคโควิด-19 ซึ่งจะรวบรวมนวัตกรรมทั้งหมดของ (อว.) พร้อมทั้งเชื่อมโยงการทำงานในรูปแบบจตุรภาคี ระหว่างคณะแพทยศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาคเอกชน/อุตสาหกรรมและ (อว.) ในการพัฒนาและผลิตด้านเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์โดยเฉพาะสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงสูง”
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
บริษัท แบงค์คอกไรเตอร์ แอนด์ พาร์ทเนอร์ส จํากัด
คณมาศ อิ่มพิทักษ์ 081-363-9191 มยุรี พันธ์กุ่ม 085-918-1117 นิรามัย เสาร์บดีรักษ์ 086-359-6106
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน