หน้าแรกการเมือง'ธาริต' เดินคอตกเข้าคุก หลังศาลฎีกาสั่งจำคุก 1 ปี 'อธิบดีคุก' ชี้ไม่มีอภิสิทธ์เหนือคนอื่น

‘ธาริต’ เดินคอตกเข้าคุก หลังศาลฎีกาสั่งจำคุก 1 ปี ‘อธิบดีคุก’ ชี้ไม่มีอภิสิทธ์เหนือคนอื่น

เมื่อวันนี้ 14 ธ.ค.2561 ที่ห้องพิจารณาคดีของศาลฎีกาเเผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมือง ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีหมายเลขดำ อ.495/2556 ที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตเลขาธิการ กปปส. เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นจำเลย

คดีนี้นายสุเทพโจทก์ยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2556 ระบุพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 21 ม.ค. – 4 ก.พ. 2556 นายธาริตขณะดำรงตำเเหน่งอธิบดีดีเอสไอ แถลงแถลงข่าวข่าวผ่านสื่อมวลชนกล่าวหาว่า นายสุเทพ โจทก์ ขณะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้สั่งการไม่ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ทำสัญญาก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ 396 แห่งเป็นรายภาค ตามที่ สตช.เสนอ แต่กลับให้รวมสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างเพียงรายเดียว ทำให้บริษัทพีซีซี ดิเวลล็อปเม้นท์ แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูล จนเกิดปัญหาที่ไม่สามารถก่อสร้างได้เสร็จทันตามกำหนด ซึ่งล้วนเป็นเท็จ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง

ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาวันที่ 26 มี.ค. 2558 ให้ยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าการแถลงข่าวของจำเลยเป็นการตรวจสอบโครงการก่อสร้างโรงพัก และให้ความเห็นในทางกฎหมายในฐานะอธิบดีดีเอสไอ ไม่ได้มีการยืนยันข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้กระทำการทุจริต การแถลงข่าวและให้สัมภาษณ์ของจำเลยเป็นการสรุปความคืบหน้าของคดีตามพยานหลักฐาน ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานที่ได้ปฎิบัติตามอำนาจหน้าที่ และเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

ต่อมาวันที่ 3 พ.ค. 2559 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนยกฟ้องโดยเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังเพียงพอได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ต่อมานายสุเทพ โจทก์ได้ขออนุญาตฎีกาต่อ

ซึ่งศาลฎีกาได้นัดอ่านฎีกาครั้งเเรกในวันที่ 24 ต.ค. 2561 ที่ศาลอาญา ซึ่งในวันดังกล่าวนายธาริตไม่ได้เดินทางมาศาลอาญาเนื่องจากมีการป่วยติดเชื้อในลำไส้ไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ พร้อมแสดงใบรับรองแพทย์ต่อศาล ทั้งยังได้มอบหมายทนายยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมต่อประธานศาลฎีกาขอให้ส่งเอกสารเพิ่มเติมให้ศาลฎีกาวินิจฉัย ซึ่งศาลอาญาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เอกสารถ้อยคำที่มีการยื่นเพิ่มเติมดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นหลังการพิจารณาของศาลชั้นต้นและศาลชั้นอุทธรณ์ เชื่อว่าศาลฎีกายังไม่ได้พิจารณาเอกสารดังกล่าว เอกสารทั้ง 3 ชุดที่ยื่นมานั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างโรงพักทั้ง 396 แห่ง ซึ่งเป็นมูลเหตุในการฟ้องหมิ่นประมาทในคดีนี้ จึงเห็นควรมีคำสั่งให้ส่งคำร้องของจำเลย รวมถึงถ้อยคำในเอกสารส่งขึ้นให้ศาลฎีกาพิจารณาต่อไป และเมื่อมีคำสั่งส่งคำร้องแล้วก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าจำเลยป่วยจนไม่สามารถเดินทางมาศาลได้หรือไม่ จึงมีคำสั่งให้เลื่อนฟังคำพิพากษาศาลฎีกาออกไป จนศาลฎีกานัดฟังคำสั่งในวันที่ 14 ธ.ค.

โดยก่อนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา เมื่อวันที่7ธันวาคมที่ผ่านมา นายธาริตจำเลยในคดีได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาขอถอนคำให้การเดิมและเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพตามฟ้อง พร้อมขอเลื่อนการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในวันที่ 14 ธันวาคมออกไปก่อน 60 วัน โดยอ้างเหตุว่าได้มีการขอขมาต่อนายสุเทพ ที่มีนายคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด รับเป็นคนกลางในการเจรจาโดยทำหนังสือแสดงความสำนึกผิดและขอขมาลาโทษ เเละยื่นขอให้การใหม่เป็นให้การ รับสารภาพตามฟ้องเพื่อให้สอดคล้องหนังสือสำนึกผิดและขอขมาลาโทษต่อนายสุเทพไปแล้ว พร้อมทั้งส่งบันทึกรับรองข้อเท็จจริงผลการเจรจาประนีประนอมฯ ที่นายคณิตได้รับรองยื่นต่อศาล แต่หากศาลฎีกาไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีก็ขอความกรุณาต่อศาลฎีกาลงโทษสถานเบาโดยรอการลงอาญา ทั้งนี้ต่อมานายธาริตยังได้ส่งทนายความยื่นคำร้องพร้อมวางเงิน1เเสนบาทต่อศาล เพื่อเยียวยาบรรเทาผลร้ายต่อโจทก์

ขณะเดียวกันในวันที่ 11 ธ.ค.นายสุเทพโจทก์ยื่นคำร้องมาที่ศาลฎีกาสรุปเนื้อหาตามที่มีข่าวปรากฎตามสื่อสรุปว่าจำเลยในคดีได้ให้ทนายความเเถลงว่ามีการปะนีประนอมพร้อมขอขมาลาโทษเเละขอบพระคุณกับโจทก์ที่จะได้เมตตายกโทษในคดีตามที่โจทก์เห็นสมควรให้นั้น ไม่เป็นความจริง โจทก์จึงขอให้ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาตามที่นัดไว้ในวันที่ 14 ธ.ค.61 ตามเดิม

สำหรับการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาวันนี้จะเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 244 ประกอบมาตรา 252 ที่บัญญัติว่า ศาลฎีกาจะอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ศาลฎีกาหรือจะส่งไปให้ศาลชั้นต้นอ่านก็ได้ และระเบียบศาลฎีกาว่าด้วยการอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลฎีกา พ.ศ.2550 ข้อ3 (3) กำหนดให้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาได้ในคดีที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือเป็นที่สนใจของประชาชนหรือคดีอื่นใดซึ่งประธานศาลฎีกาเห็นสมควรให้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ศาลฎีกา

โดยในวันนี้ 7.30 น.นายธาริต เดินทางมาศาล

ต่อมาโจทก์ยื่นฎีกา ศาลฎีกาตรวจสำนวนปรึกษากันแล้วพิพากษาแก้เป็นว่า การให้สัมภาษณ์ของนายธาริต จำเลยเมื่อวันที่ 21 ม.ค.2556 ระบุว่าจากการตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่างๆ นั้นแต่เดิมสตช.เสนอให้การก่อสร้างโรงพักทดแทน 396 แห่ง กระจายเปิดประมูลในแต่ละภูมิภาค แต่นายสุเทพกลับสั่งให้รวมสัญญาการประมูลจัดซื้อจัดจ้างเพียงรายเดียว ทำให้บริษัท พีซีซี ดิเวลล็อปเม้นท์ แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูล จนเกิดปัญหาที่ไม่สามารถก่อสร้างได้เสร็จทันตามกำหนด
เห็นว่าคำให้สัมภาษณ์ของจำเลยเป็นการใส่ความโจทก์ เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 ให้จำคุกจำเลย 1 ปีโดยไม่รอลงอาญา
ที่จำเลยขอถอนคำให้การเป็นรับสารภาพ ไม่อาจถอนคำให้การได้ในชั้นฎีกาให้ยกคำร้อง ส่วนที่จำเลยอ้างว่าได้มีการบรรเทาผลร้ายเเละการเจรจาไกล่เกลี่ยเป็นผลสำเร็จมีการทำต่มข้อตกลงสิทธิในการดำเนินคดีอาญาต้องระงับไป ศาลเห็นว่ายังอยู่ระหว่างการเจรจาไกล่เกลี่ย เเละการเจรจาไกล่เกลี่ยต้องคำนึงถึงคู่ความทั้งสองฝ่าย เมื่อโจทก์ไม่ประนีประนอม จึงให้จำเลยนำเงินวางจำนวน 1 แสนบาทคืนได้

ด้านนายสวัสดิ เจริญผล ทนายความของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ยอมรับว่านายธาริต คู่กรณีพยายามติดต่อมาขอเจราจาไกล่เกลี่ยจริง รวมถึงนายคณิต ณ นคร และผู้ใหญ่อีกหลายคนก็ได้ติดต่อเป็นตัวกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ยจริง แต่นายสุเทพยังไม่ได้ตอบรับ เนื่องจากต้องปรึกษากับทีมทนาย กระทั่งเห็นเอกสารคำร้องของนายธาริตที่ยื่นต่อประธานศาลฎีกาซึ่งทางศาลส่งมาให้ดู แต่ตนไม่สามารถเปิดเผยได้ ทำให้เปลี่ยนใจไม่ขอเจรจา ไกล่เกลี่ย

นอกจากนี้ สาเหตุที่ศาลตัดสินตำคุกนายธาริต มาจากการการที่นายธาริตได้แถลงข่าวถึงการจัดสร้างโรงพัก 396 แห่งนั้น โดยได้ให้สัมภาษณ์หลายครั้ง ในบางครั้งศาลมองว่าไม่ผิดฐานหมิ่นประมาท แต่ที่ศาลตัดสินลงโทษ เป็นครั้งที่นายธาริตแถลงว่าฝ่ายการเมืองได้เข้าไปแทรกแซงให้เปลี่ยนรูปแบบจากการแยกสัญญารายภาครวมเป็นเจ้าเดียวเป็นเหตุให้โรงพักสร้างไม่เสร็จ

นอกจากคดีหมิ่นประมาทครั้งนี้ ยังมีหมิ่นประมาทที่นายธาริตให้สัมภาษณ์ว่านายสุเทพ ไม่ทำตามมติครม. เปลี่ยนสัญญาจัดซื้อจัดจ้่างโครงการก่อสร้างโรงพัก ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์

ขณะที่ความคืบหน้าในการพิจารณาคดีการเปลี่ยนสัญญาจัดซื้อ จัดจ้างโรงพัก 396 แห่งที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของปปช.ว่า เมื่อเร็วๆนี้ ตนและนายสุเทพได้เข้าไปให้ถ้อยคำเพิ่มเติมกับคณะทำงานปปช.ชุดใหญ่ โดยยืนยันว่าสิ่งนายสุเทพกระทำไม่ขัดต่อ มติครม.ในขณะนั้น แต่ขณะนี้ยังไม่ได้มีการชี้มูลความผิดจาก ปปช.

จากกรณี นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ถูกศาลฎีกามีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา ในคดีหมิ่นประมาท นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในความผิดหมิ่นประมาทคดีก่อสร้างโรงพัก 396 แห่ง พร้อมนำตัวส่งเรือนจำพิเศษกรุงเทพ

ด้าน พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า ผู้ต้องขังเคยเป็นอดีตข้าราชการระดับสูงแต่ก็ไม่ได้รับสิทธิพิเศษใดๆทั้งสิ้น โดยการควบคุมตัวจะเป็นไปตามระเบียบของทางราชการ เช่น ถ่ายรูป พิมพ์ลายนิ้วมือ ทำประวัติผู้ต้องขังใหม่ และตรวจร่างการของผู้ต้องขังทุกรายตามสิทธิเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ สำหรับนักโทษที่มีเกณฑ์อายุตั้งแต่ 60 ขึ้นไปมักจะมีโรคประจำตัว โดยผู้ต้องขังสามารถนำใบรับรองแพทย์มาแสดงเพื่อนำยาที่แพทย์จัดให้เข้ามารักษาอาการป่วยตัวเองได้ แต่หากมีอาการเจ็บป่วยภายในเรือนจำก็สามารถเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลได้ตามปกติ ในกรณีที่อาการเจ็บป่วยไม่ร้ายแรงก็สามารถรักษาภายในแดนพยาบาลได้ ยกเว้นกรณีเจ็บป่วยหนักต้องถูกส่งตัวไปทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์

“เมื่อเสร็จสิ้นการรับตัวผู้ต้องขังใหม่ ผู้คุมเรือนจำจะนำตัวผู้ต้องขังเข้าไปควบคุมไว้ภายแดนแรกรับเพื่อชี้แจงกฎระเบียบของเรือนจำเพื่อให้เวลาปรับตัวสภาพความเป็นอยู่ภายในเรือนจำ โดยเบื้องต้นจะให้อยู่ในแดนแรกรับประมาณ 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นจึงจะจำแนกให้ไปแดนคุมขังตามความเหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ส่วนตัวไม่หนักใจเพราะถือเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ตามคำสั่งศาลแม้นายธาริตจะเป็นเคยเป็นอดีตผู้บังคับบัญชาก็ตาม”


 

RELATED ARTICLES

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img