เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2567 ผู้สื่อข่าวไทยแทบลอยด์รายงานว่า เว็บไซต์ ของสมาคมนักข่าวนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้นำเสนอบทความเป็นรายงานพิเศษ โดยทีมข่าวจุลสารราชดำเนินฯ ถึงอาชีพ Fixer ใว้น่าสนใจว่าในขณะที่อุตสาหกรรมสื่อในประเทศไทยกำลังเผชิญกับการปรับตัวอย่างหนัก แต่ในอีกด้านหนึ่ง ประเทศไทยเองกำลังเป็นหมุดหมายสำคัญที่สื่อต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาถ่ายทำงานด้านโปรดักชั่น ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ โฆษณา สารคดี รายการโทรทัศน์ มิวสิควิดีโอ เห็นได้จากตัวเลขสถิติรายได้ของปีนี้ กองกิจการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ต่างประเทศ Thailand Film Office (TFO) การเข้ามาถ่ายทำงานด้านต่างๆของสื่อต่างประเทศในไทย สร้างเม็ดเงินรายได้ให้ประเทศกว่า 5,533 ล้านบาท รวมถึงความสนใจของสื่อต่างชาติที่เข้ามาทำข่าวเมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญๆ หากยังจำกันได้ตั้งแต่เคสถ้ำหลวงที่เราได้เห็นภาพของสื่อมวลชนจากทั่วโลกเดินทางมาไทยเกาะติดการรายงานข่าว ไม่รวมถึงการเดินทางเข้ามาทำข่าวในประเด็นเฉพาะที่แต่ละประเทศให้ความสนใจ จนทำให้มีอาชีพที่เกิดขึ้นจากการเข้ามาทำงานของสื่อต่างประเทศ คือ FIXER หรือที่หลายคนเรียกว่า “ผู้ช่วยผู้สื่อข่าวต่างประเทศ” จุลสารราชดำเนินจะพาไปทำความรู้จักกับอาชีพ Fixer คนที่ทำอาชีพนี้ต้องมีทักษะอย่างไร และบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบจะมีอะไรบ้าง ที่สำคัญเทรนด์ของอาชีพนี้ทิศทางในอนาคนจะเป็นอย่างไร
Fixer งานที่ท้าทาย ต้องพร้อมรับโจทย์ยาก
วีร์ อินทรกระทึก หรือ “วีร์” อายุ 51 ปี คนข่าวมากประสบการณ์ที่ผ่านสนามข่าวมาอย่างโชกโชน จากอดีตผู้สื่อข่าวค่ายเนชั่น ก่อนย้ายมาทำงานกับสำนักข่าว NHK ของสื่อญี่ปุ่น และผันตัวมาเป็น Fixer ให้กับสื่อต่างประเทศ โดยผ่านประสบการณ์ทำงานร่วมกับสื่อต่างประเทศสำนักใหญ่ๆมาแล้วหลายสำนัก ทั้ง AP , รอยเตอร์ รวมประสบการณ์ทำงานเป็น fixer 10 ปี
“ ผมเริ่มทำอาชีพ Fixer เต็มตัวตั้งแต่ปี 2557 แต่ก่อนหน้านี้ไม่รู้จักอาชีพ Fixer เลย ครั้งแรกที่ได้ยินชื่อนี้ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าคืออะไร มีสื่อต่างประเทศติดต่อเข้ามาผ่านอีเมล์ว่าต้องการ fixer ซึ่งมีคนที่เคยทำงานกับผมแนะนำชื่อผมไปจริงๆแล้ว fixer แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก กลุ่มแรกคือ fixer เกี่ยวกับข่าวและสารคดี หรือ Non-Fiction ซึ่งเนื้องานก็เป็นเหมือนที่ผมเคยทำมา เป็นคนเข้าไปทำเสริมทุกๆจุดที่เขาต้องการ เพื่อให้เกิดผลงาน บางคนต้องทำแม้กระทั่งขับรถ ช่วยแบกหาม ติดต่อทุกอย่าง กลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นนักข่าวคนไทยที่เคยเป็นพนักงานประจำกับสื่อต่างประเทศ แล้วลาออกมาเป็นฟรีแลนซ์ ซึ่งก็คือ fixer นั่นแหละ ส่วนที่เป็นสื่อไทยแล้วผันมาทำอาชีพนี้ ยังไม่ค่อยมี ส่วน fixer อีกกลุ่ม คือ สาย fiction หรือ production ซึ่งจะมีรายละเอียดเยอะมาก ต้องไปเกี่ยวข้องกับคน สถานที่ เช่น งานโฆษณา งานภาพยนตร์ มิวสิควิดีโอ ”
วีร์ เล่าว่า การติดต่อหางานของ fixer มีทั้งเอเย่นต์ที่ช่วยหางาน และแบบที่แนะนำกันปากต่อปากจากคนที่เคยร่วมงานด้วย และการันตีไปกับสื่อประเทศอื่นๆ รวมถึงในเพจ facebook เอง ก็มีกลุ่มที่หาและแนะนำ Fixer ในประเทศต่างๆ ซึ่งตัวเขาเฉลี่ยแล้วในแต่ละปีจะมีงาน 15-20 งาน แต่ก็ขึ้นกับเวลาด้วย เพราะบางงานที่ทำใช้เวลาเข้ามาถ่ายทำแค่ 1-2 สัปดาห์ ขณะที่บางงาน ต้องเตรียมการล่วงหน้าเพื่อหาข้อมูลและนัดหมายแหล่งข่าวไว้ให้ รวมๆเกือบเดือนก็มี
“ บางเคสที่ด่วนเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วก็ติดต่อมาเลย เช่น เคสนักท่องเที่ยวเสียชีวิตหมู่หลังดื่มเหล้าผสมเมทานอล ที่ประเทศลาว เขาเดินทางมาไทยทันทีและใช้เวลาในการพาไปทำงานแค่วันเดียวก็กลับ ”
ความยากง่ายของงาน fixer ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย บางครั้งขึ้นกับคนที่มาจ้าง หากเป็นคนที่ทำงานด้วยยาก ก็จะค่อนข้างปั่นป่วนหน่อย หรือบางครั้งเป็นงานที่ยากด้วยเรื่องราว เช่น ประเด็นเทาๆ หรืองานที่ต้องเข้าไปพื้นที่เสี่ยง บางครั้งก็มีภาษาเฉพาะ อย่างในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ต้องจ้างคนในพื้นที่นำเพื่อความปลอดภัย กลายเป็นว่าต้องมีการแปล 2-3 ทอด ส่วนเคสใหญ่ๆ อย่างกรณีถ้ำหลวง ก็เป็นความยากในเรื่องของสภาพดินฟ้าอากาศ และช่วงแรกที่สถานการณ์ยังโกลาหล เพราะสื่อจากทั่วโลกแห่มา ต้องแย่งชิงทรัพยากร ทั้งที่พัก อาหาร รถ และตัวแหล่งข่าว แต่ทั้งหมดนี้หากเจอผู้ร่วมงานที่ยืดหยุ่น คุยง่าย ก็จะทำให้เราทำงานได้ง่ายขึ้น
“ สื่อแต่ละประเทศ จะมีสไตล์การทำงานที่แตกต่างกัน เรียกว่ามีความหลากหลายของประเทศและประเภท บางสื่อที่เป็นแนวหัวสี เน้นความหวือหวา ตัวบุคคล เรื่องส่วนตัว ขณะที่บางสื่อเข้ามาทำข่าวเน้นเจาะแต่ข้อเท็จจริงแบบเข้มข้น ไม่สนใจข้อมูลเร้าอารมณ์ใดๆ หรือแม้แต่สื่อมาจากที่เดียวกัน แต่เป็นคนละคน บุคลิก สไตล์การทำงาน-การถ่ายงานก็จะไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่าง ถ้าจากประเทศสิงคโปร์ เยอรมัน ญี่ปุ่น จะค่อนข้างวางแผนงานไว้เป๊ะ ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นเราต้องค่อนข้างแม่น หากนัดแล้วต้อง confirm แล้ว confirm อีก แม้กระทั่งจะไปถึงหน้างานแล้วก็ยังต้องคอนเฟิร์มให้มั่นใจ ซึ่งบางครั้งก็ทำให้แหล่งข่าวที่เป็นคนไทยรำคาญ แต่จริงๆตรงนี้ก็มีข้อดี เพราะหากเราทำตามแผนงาน สเต็ปที่เขาวางไว้ แล้วไม่ได้ เขาก็จะเข้าใจและไม่ว่าอะไร และเวลามีความผิดพลาดหรือปัญหา มันก็จะมองเห็นได้ง่ายว่าเกิดจากตรงไหน
ส่วนบางประเทศ อย่าง สเปน ฝรั่งเศส เขาจะชอบความเป็นมนุษย์ มีความยืดหยุ่น มีความเรียล ให้ข้อมูลเราน้อย แต่ก็อยากได้อะไรแบบเรียลๆ ด้วยความที่เขามีความยืดหยุ่นมา ก็อาจจะทำให้ต้องไปแก้ปัญหาหน้างานเยอะหน่อย เพราะมีปัจจัยภายนอกเข้ามาแทรกเยอะ ” วีร์ ถ่ายทอดประสบการณ์ให้ฟัง
fixer ไม่ใช่แค่หน้าที่แปล แต่เป็นส่วนหนึ่งของทีมข่าว
ขณะที่ อดามาส เลิศพันธ์ หรือ “ปิ๊กกุ” อายุ 30 ปี ซึ่งทำงานเป็นล่ามอิสระ และกำลังจะเริ่มงานประจำที่สถานทูตสเปน ถือเป็นหน้าใหม่ในสนาม fixer เพราะเพิ่งจะเข้ามาทำงานนี้ได้ประมาณปีกว่า ด้วยจุดแข็งด้านภาษา ที่เธอสามารถสื่อสารได้ถึง 3 ภาษา คือ ภาษาไทย อังกฤษ สเปน และสามารถจับคู่ คู่ภาษาได้หลายอย่าง เช่น แปลจากสเปนเป็นอังกฤษ เธอเล่าว่าเข้ามาทำงานเป็น fixer ด้วยความบังเอิญ ช่วงที่ลาออกจากงานประจำผู้ช่วยแผนกการค้าที่สถานทูตแห่งหนึ่ง แล้วมีรุ่นน้องติดต่อมาว่ามีนักข่าวสเปนกลุ่มหนึ่งต้องการคนไปช่วยเป็นล่าม เพื่อประสานงานในการเข้ามาทำข่าว ซึ่งตอนนั้นเธอเองยังไม่รู้จักคำว่า fixer
โดยข่าวแรกที่ทำ คือคดี “เชฟหนุ่ม” ลูกนักแสดงดังชาวสเปน ที่ก่อเหตุฆ่าหั่นศพศัลยแพทย์ชาวโคลัมเบีย ก่อนทิ้งบนเกาะพะงัน จ. สุราษฎร์ธานี ก่อนเริ่มทำงานทีมของนักข่าวสเปนโทรผ่าน WhatsApp มาสัมภาษณ์ ซึ่งเขาอธิบาย job description ว่าเป็นการช่วยพูดคุย ติดต่อคนและเขียนเอกสาร พูดง่ายๆว่าอำนวยความสะดวกให้กับทีมของนักข่าวสเปน ตอนนั้นเธอไม่รู้ว่างานของ fixer จะต้องมีความรับผิดชอบอะไรบ้าง เลยเสนอราคาไปในเรทของงานแปลภาษา แต่ทางทีมงานของสเปน เสนอเรทใหม่กลับมาให้ โดยบอกว่าจะให้เรทตามนี้เพราะงานหนัก วันแรกที่ได้เริ่มงานก็เดินทางไปที่เรือนจำเลย
” เขามากันแค่ 2 คน คือนักข่าวกับช่างภาพ โชคดีมากที่เหมือนเราเข้ากันได้ง่าย มันก็เลยเป็นประสบการณ์ที่ดีมากในการทำงาน Fixer ครั้งแรก จากตอนแรกจินตนาการไว้ว่าเขาจะไปสัมภาษณ์ แล้วเราก็ทำหน้าที่แปลให้ แต่พอถึงเวลาจริงเราต้องทำภารกิจอื่นๆที่มันท้าทายมาก เช่น การนั่งรถติดตามแหล่งข่าวไปกับทีมข่าวสเปน การร่างจดหมายให้สำนักอัยการเพื่อขอเข้าสัมภาษณ์ โชคดีที่เราเคยมีประสบการณ์ติดต่องานราชการจากตอนที่ทำงานสถานทูต แต่ก็เป็นเนื้องานที่กว้างกว่าที่เราคิดไว้มาก พูดง่ายๆว่า fixer ไม่ใช่แค่หน้าที่แปล แต่ต้องเป็นส่วนหนึ่งของทีม เราแทบจะเป็นนักข่าว ”
เธอมองว่าความยากและท้าทายของการทำงาน Fixer คือการต้องทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนเลย และบางครั้งต้องทำหน้าที่แทนทีมงานด้วย เช่น การเข้าไปสัมภาษณ์แหล่งข่าวแทน ซึ่งหลายครั้งที่ทีมงานไม่เข้าใจวัฒนธรรมของประเทศไทย ก็จะมีการปรึกษาและถามความคิดเห็นว่าถ้าทำแบบนี้จะเหมาะสมไหม ซึ่งเธอก็อธิบายว่าถ้าเป็นคนไทยจะไม่ชอบการไปเร่ง เพราะจะเหมือนไปกดดันและอาจจะทำให้ไม่ได้รับความร่วมมือ
จากงานแรกที่นำ ก็มีตามมาอีกหลายงาน เช่น สกู๊ปข่าวเกี่ยวกับตัวประกันชาวไทยที่ยังติดอยู่ในอิสราเอล พาทีมข่าว The guardian เดินทางไปสัมภาษณ์ครอบครัวของคนไทยดังกล่าว
“ ถึงจะไม่เคยทำงานกับสื่อไทยมาก่อนเพราะไม่ได้เป็นนักข่าวอาชีพ แต่ก็ยอมรับว่าการได้เห็นการทำงานของทีมข่าวต่างประเทศ ทำให้เห็นความมุ่งมั่นกัดไม่ปล่อยของคนเป็นนักข่าว ถ้าภาษาปากแบบบ้านๆก็เรียกว่า “ดื้อ” การพยายามที่จะติดตามเรื่องราวให้ถึงที่สุดเพื่อที่จะเข้าไปถึงความจริงบางอย่าง ซึ่งถ้าเป็นเรื่องที่เปิดเผยได้ มันก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะประชาชนก็ได้รู้ข้อมูลข้อเท็จจริงไปด้วย ”
บางครั้งเรื่องของ time zone ที่ต่างกัน ทีมข่าวที่มาต้องรายงานสด 23:00 น. ตามสถานที่ต่างๆ หรือหากมีเอกสารด่วนเรื่องด่วนเข้ามา ก็ต้องแปลส่งสถานีให้เร็วที่สุด จึงไม่ต่างกับต้องทำงานไปกับเขาด้วย ต้องพร้อมตลอดเวลา เพราะครึ่งตัวสวมบทไม่ต่างจากการเป็นนักข่าว จนทีมงานยังแซวว่าไม่ใช่ fixer แล้ว แต่เป็น detective ของทีม
กฎ-กติกา-มารยาท และจรรยาบรรณ fixer
แม้จะไม่ได้มีระบุไว้เป็นตำรา แต่งาน fixer มีหลักจรรยาบรรณที่ยึดถือกันแทบจะไม่ต่างจากการเป็นนักข่าว ทั้งเรื่องของการละเมิดสิทธิ รวมถึงการรักษาแหล่งข่าว
โดย วีร์ เล่าว่าเรื่องของการละเมิดสิทธิประเทศในแถบตะวันตกจะค่อนข้างเข้มงวดในเรื่องข้อกฎหมาย ต่อให้แหล่งข่าวยินยอมที่จะให้สัมภาษณ์ แต่สื่อต่างประเทศหลายแห่งก็จะกำหนดในเรื่องของการให้เซ็นเอกสารเพื่อป้องกันปัญหาในภายหลัง นอกจากนี้บางครั้งต้องมีการปิดบังตัวตนให้เขาด้วย ซึ่งfixer จะต้องพูดคุยทำความเข้าใจให้ชัดเจนกับทีมงานที่ตนเองทำงานด้วย เพื่อป้องกันปัญหาที่จะตามมาภายหลัง
“ มีบางครั้งที่เจอประเด็นเรื่องที่ค่อนข้างจะหมิ่นเหม่ ก้ำกึ่งต่อการละเมิดสิทธิหรือค่อนข้างเสี่ยง เราก็ต้องบอกเขาตามตรงว่า คุณมาแป๊บเดียว หลังทำเสร็จคุณกลับไป และอาจจะกลับมาอีกหรือไม่ก็ไม่รู้ แต่พวกเราต้องอยู่ตรงนี้ หากเสี่ยงแบบนี้ เราขออนุญาตไม่ทำ หรือบางครั้งถ้าเกิดปัญหาแบบนี้ตอนหน้างาน เพราะในการทำข่าวไม่สามารถที่จะบอกล่วงหน้าได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราก็ต้องคุยให้ชัดเจนตรงนั้นเลย เช่น ไปทำประเด็นโรงงานเถื่อน เขาต้องการให้พาเข้าไปในที่ส่วนบุคคล เราก็ต้องตอบเขาไปว่ามันเสี่ยง ต่อให้เรารู้ว่าโรงงานผิดจริง เต็มที่คือถ่ายแค่ข้างนอก พาเข้าไปข้างในไม่ได้ ซึ่งเรื่องพวกนี้ในกลุ่ม fixer ก็คุยกันตลอดว่าหากอะไรที่มันมีความหมิ่นเหม่ เราจะต้องพูดคุยให้ชัดเจน อะไรที่ทำได้ อะไรที่ทำให้ไม่ได้ ”
หลายครั้งประเด็นที่สื่อต่างชาติให้ความสนใจมาทำข่าว อาจทำให้เกิดภาพลบในประเทศ ในมุมมองของ fixer ที่เคยเป็นนักข่าวภาคสนาม อย่าง “วีร์” เขาบอกว่าหากเป็นเรื่องจริง เขาก็จะเลือกนำเสนอไปตามข้อเท็จจริง เพราะมองว่าการนำเสนอความจริงออกไป จะนำไปสู่การทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก้ไข
“ ทุกครั้งที่จะทำงานผมจะดูก่อนว่าเรื่องที่เขาจะเข้ามาทำจริงไหม ถ้ามันคือเรื่องจริง ถ้าไม่มีคนพูดถึงมันก็จะไม่มีการแก้ไข มันก็ไม่ต่างกับสื่อไทยที่เราทำหน้าที่รายงานข่าวชี้ให้เห็นว่ามีความไม่ชอบมาพากล เกิดการทุจริตคอรัปชั่น หรือมีเรื่องนี้อยู่ในสังคมในบ้านเราหากสื่อไม่ทำหน้าที่ ผู้เกี่ยวข้องที่ต้องรับผิดชอบมันก็ไม่ขยับ ดังนั้นคำเดียวเลยว่า เรื่องจริงไหม ถ้าเป็นเรื่องจริง ไม่มีปัญหา แต่ถ้าไม่จริงแล้วจะให้เราไป make ขึ้นมา ผมทำให้ไม่ได้ และไม่ทำด้วย แต่หากเป็นเรื่องจริง เช่น ประเด็นพัทยา-อุตสาหกรรมทางเพศ มันเป็นเรื่องจริง ทุกคนก็รู้ แต่เป็นเรื่องไม่ดี การนำเสนอความจริงออกไป มันก็จะนำไปสู่การทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแก้ไข ”
ขณะที่ อดามาส เสริมว่า สำหรับตัวเธอมองว่าหลักจรรยาบรรณในการทำงานของ fixer มีความทับซ้อนกับจรรยาบรรณของ “ล่าม” อยู่ส่วนหนึ่ง คือต้อง “ซื่อตรง” กับสารที่แปล และต้องเก็บความลับของลูกค้าไม่นำไปแพร่งพราย หากต้องโกหกเพื่อเอาข้อมูลเธอจะเลือกใช้การบอกไปตามตรงกับแหล่งข่าวว่าต้องการนำข้อมูลไปทำอะไรและแหล่งข่าวโอเคไหมที่จะให้ข้อมูลในประเด็นเหล่านี้ เพราะเธอเคยผ่านประสบการณ์ไม่พูดความจริงแล้วรู้สึกไม่สบายใจ
“ เคยมีครั้งหนึ่งที่ต้องไปถ่าย footage ในโรงพยาบาล ซึ่งตอนแรกเข้าไปแบบแอบๆไม่ได้บอกใคร จนเริ่มมียามและเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลเข้ามาถาม ตอนแรกเราก็ทำไปตามสิ่งที่เราเข้าใจว่าต้องทำ คือการสร้างเรื่องว่าฉันเป็นอย่างนู้นอย่างนี้ ฉันรอคนอยู่ แต่สุดท้ายเราไม่สบายใจและก็รู้สึกอึดอัด เพราะว่ามันไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง จนมีเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจการของโรงพยาบาลเข้ามาถามว่าทำอะไรเห็นอยู่ตรงนี้นานแล้วและมือถือก็เห็นว่ามีการเปิดโหมดวิดีโอไว้อยู่ สุดท้ายก็บอกเขาตามตรง ผลที่กลับมากลับกลายเป็นว่าเจ้าหน้าที่ยินดีและเต็มใจที่จะอำนวยความสะดวกให้ถ่ายได้ แต่ขอให้เบลอหน้าจะได้ไม่ผิด PDPA ซึ่งทำให้เรียนรู้ว่าการทำอะไรที่โปร่งใสมันสบายใจกว่า เลือกใช้วิธีทางการทูตที่สร้างความเข้าใจ มันดีกว่าการทำอะไรที่แอบๆซ่อนๆ เพราะอาจจะส่งผลกระทบกับคนอื่นๆในวงการที่ต้องไปถ่ายทำเคสเดียวกับเราด้วย ”
นอกจากจรรยาบรรณระหว่าง fixer กับแหล่งข่าว และ fixer กับทีมแล้ว จรรยาบรรณระหว่าง fixer ด้วยกันเอง ก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน
“ เราไม่สับขาหลอกกันเอง เพราะในการทำงานจริงๆหลายครั้งที่ต้องเป็นการทำงานแบบช่วยเหลือกัน มีหลายๆโอกาสที่เราต้องพึ่งพากันแน่นอน ไม่เราพึ่งเขา ก็เขาพึ่งเรา เราเองก็คงไม่อยากให้เขามาสับขาหลอกเรา หรือปิดกั้นเราออกไปเหมือนกัน ซึ่งส่วนตัวมองว่าการช่วยเหลือพึ่งพากัน มันเป็นการสร้างสังคมที่ดีในการทำงานแต่การบอกข้อมูลกับเพื่อน fixer ด้วยกัน ก็ต้องเป็นข้อมูลในเรื่องพื้นฐานทั่วไปที่นายจ้างเราโอเคด้วย เราจะถามเจ้านายก่อนว่าโอเคไหมถ้าจะบอกเพื่อน เพราะในโลกของการทำงานการแข่งขันก็ต้องมี หากเป็นประเด็น exclusive ที่นายจ้างเราต้องการเป็นช่องเดียวเท่านั้นที่จะได้ เราก็ต้องไม่ไปบอกใคร ”
มั่นใจเส้นทาง fixer ยังสดใส ไม่ถูก AI แย่งงาน
แน่นอนว่า “ภาษา” คือหัวใจของอาชีพนี้ อย่างน้อยที่สุด ภาษาอังกฤษ ต้องอยู่ในระดับที่สื่อสารและแปลได้ดี เพราะ fixer มีบทบาทสำคัญในการแปล เล่า และส่งต่อข้อมูลสารตั้งต้นให้ทีม หากแปลหรือสื่อสารผิด ก็จะสร้างความเสียหาย หากสื่อสารได้มากกว่าภาษาอังกฤษ ก็จะเพิ่มโอกาสในการรับงานได้กว้างขึ้น ขณะที่รายได้ของอาชีพ fixer ไม่ได้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์หรืออายุงานของ fixer แต่ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของงาน การตกลง และการต่อรองราคากันของทั้งสองฝ่าย รวมถึงขึ้นอยู่กับตัวนายจ้างด้วย เพราะแต่ละที่จะมีนโยบายในการจ้างไม่เหมือนกัน หากเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ หรือเป็นบริษัทที่มีนโยบายรัดเข็มขัด ก็จะมีงบจ้างน้อยหน่อย แต่หากเป็นทีวี ก็จะเรทค่าจ้างสูงหน่อย โดยเบื้องต้นจะเริ่มต้นตั้งแต่วันละ 150 USD ขึ้นไป หรือประมาณ 5,000 บาท/วัน ซึ่งหากสามารถทำงานร่วมกันได้ดีกับทีมข่าวต่างประเทศที่จ้างงาน เมื่อกลับมาทำข่าวในประเทศไทยอีกทีมงานก็มักจะติดต่อ fixer คนเดิม เพราะไม่ต้องปรับตัวอะไรกันแล้ว
“ เรื่องภาษาเวลาที่เขาติดต่อมาจะมีการ test เราอยู่แล้ว ส่วนคุณสมบัติอื่นๆ ผมคิดว่าคนที่จะทำอาชีพนี้ต้องเป็นคนที่รับได้ในเรื่องของการทำงานไม่เป็นเวลา และรับมือกับแรงกดดันได้ ที่สำคัญต้องใจเย็น เพราะต้องทำงานกับคนเยอะหลากหลาย บางครั้งคนที่เราจะไปสัมภาษณ์ก็ไม่อยู่ในสภาพที่อยากจะให้ แต่นายจ้างเราก็เร่งเร้าอยากได้ หากเราใจร้อน มันก็ทำอะไรไม่ได้ทั้งซ้ายทั้งขวา ที่สำคัญของคนที่จะเป็น fixer ต้องมีไหวพริบแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ เพราะมันเกิดขึ้นประจำ ”
” สิ่งที่จะแนะนำคนที่อยากจะมาเป็น fixer คือเรื่องการบริหารจัดการเงินเป็นสิ่งสำคัญ อย่าลืมว่า fixer ไม่ใช่งานประจำ อย่างช่วงโควิดไม่มีใครคาดคิดหรอกว่าจู่ๆงานจะหายไปเลย 3 – 4 เดือน ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณต้องบริหารจัดการเงินให้ดี ได้เงินมาต้องเก็บ เพราะเวลาไม่มีงานมันก็ไม่มีเลย ดังนั้นต้องมีเงินเก็บที่พอจะสำรองใช้จ่ายได้เวลาไม่มีงานอย่างน้อย 1 ปี ” วีร์ แนะนำ
ขณะที่ อดามาส เชื่อว่า อาชีพ fixer จะไม่มีทางถูก AI เข้ามาแย่งงาน เหมือนกับอาชีพอื่นๆ เพราะเป็นงานที่ต้องใช้ทักษะของการเป็นมนุษย์อยู่มาก ซึ่ง AI ไม่สามารถทำแทนที่ได้
“ เป็นอาชีพรายได้ดี แต่ก็มีความกดดันสูงและงานค่อนข้างหนัก เพราะชื่อ fixer เป็นคำอธิบายนิยามของอาชีพนี้ได้ดีอยู่แล้ว คือเป็นเหมือนคนที่ซ่อมแซม รักษาปัญหาทุกอย่างที่คุณต้องการ ถ้าคำไทยที่ขำๆ “คนรับจบ” ทุกอย่าง ตั้งแต่เรื่องงานไปจนถึงเรื่องเล็กๆ ติดต่อโรงแรม ขอเช่ารถ ทุกอย่างเลย ”
“ ถ้ามองทิศทางในอนาคตของอาชีพนี้ เชื่อว่าเป็นอาชีพที่ไม่มีทางถูก AI มาแทนที่ได้อย่างแน่นอน เพราะเป็นทั้งงานบริการ ประสานงาน และต้องใช้สิ่งที่เป็นทักษะของการเป็นมนุษย์อยู่มาก ทั้งการติดต่อสื่อสารกับคน และบางครั้งก็เป็นอาชีพที่ใช้แรงงานด้วย แต่ไม่ว่าจะอย่างไรอาชีพนี้ก็ยังมีความต้องการในวงการสื่อ ที่สำคัญต่อให้นักข่าวที่ไปทำข่าวต่างประเทศจะได้ภาษาอังกฤษ แต่ก็ยังต้องใช้ fixer อยู่ดี เพราะไม่ใช่ว่าคนในพื้นที่นั้นๆจะสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษด้วยได้ดี ยิ่งในงานข่าวเป็นงานที่ต้องใช้คอนเนคชั่นเรื่องแหล่งข่าว สิ่งเหล่านี้ตราบใดที่ AI ทำแทนไม่ได้ fixer ที่เป็นเหมือนคนกลาง ก็ยังมีความจำเป็น ” อดามาส กล่าวทิ้งท้าย
ขอขอบคุณ เว็บไซต์ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย