กรมราชทัณฑ์ ได้ออกเอกสารชี้แจง ตามที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้กล่าวถึง การเผยแพร่คลิปประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับอุปกรณ์ลงทัณฑ์ในสมัยรัตนโกสินทร์ ที่ตั้งอยู่ ณ พิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์ จังหวัดนนทบุรี รวมถึงการใช้โซ่ตรวนรูปแบบต่าง ๆ กับผู้ต้องขังในสมัยก่อน ซึ่งถือเป็นการทรมาน ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงและมีข้อห้ามโดยเด็ดขาดใน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้สูญหาย พ.ศ. 2565 นั้น
กรมราชทัณฑ์ ได้จัดทำและเผยแพร่คลิปวิดีโอดังกล่าวขึ้น เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนผู้สนใจได้มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์ รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลความรู้เครื่องมือการลงทัณฑ์ให้ประชาชนทั่วไปได้ทราบ โดยมิได้มีเจตนาที่จะส่งเสริมวัฒนธรรมความรุนแรง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด เพียงเพื่อเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้เชิงประวัติศาสตร์ที่ได้มีการรวบรวมวัตถุเกี่ยวกับการลงโทษ และวัตถุโบราณจากเรือนจำต่าง ๆ ทั่วประเทศเท่านั้น
สำหรับพิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์แห่งนี้ ได้มีการจัดแสดงเครื่องพันธนาการ เครื่องลงทัณฑ์สมัยโบราณ เอกสารในประวัติศาสตร์การราชทัณฑ์ ภาพถ่ายเรือนจำในอดีต รูปแบบการประหารชีวิตตั้งแต่การตัดคอ การยิงเป้า จนมาถึงการฉีดสารพิษประหารชีวิตในปัจจุบัน เพื่อมิให้ประวัติศาสตร์ของงานราชทัณฑ์ไทยสูญหายไปตามกาลเวลา สะท้อนแนวคิดมุมมองต่อปรัชญาการลงโทษที่เปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของยุคสมัย โดยรวบรวมวัตถุเกี่ยวกับการลงโทษ และวัตถุโบราณจากเรือนจำต่าง ๆ ทั่วประเทศ ตลอดจนเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ภารกิจของกรมราชทัณฑ์ในทุกมิติ ครอบคลุมทั้งด้านการดูแล การแก้ไขและพัฒนาพฤตินิสัย ที่สามารถเข้าถึงประชาชนในทุกช่วงวัย อันจะก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุดต่อการธำรงรักษา และสืบทอดองค์ความรู้ในงานราชทัณฑ์ไทย โดยปัจจุบันมีผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมศึกษาเรียนรู้วิวัฒนาการด้านการลงทัณฑ์และงานราชทัณฑ์ไทยจากอดีตสู่ปัจจุบันภายในพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเปิดบริการทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์ ตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.00 น. โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าชมแต่อย่างใด ณ พิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์ ถนนนนทบุรี 1 ตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี
ในปัจจุบันกรมราชทัณฑ์ ยังคงให้ความสำคัญกับการควบคุม แก้ไขพฤตินิสัยผู้ต้องขัง โดยมุ่งเน้นพัฒนาองค์กร และทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังตามข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งสหประชาชาติ ว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (Medela Rules) ให้กลับตนเป็นพลเมืองดี และสามารถดำรงชีวิตในสังคมภายนอก ได้อย่างปกติสุข และไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก ซึ่งถือเป็นภารกิจหลักของกรมราชทัณฑ์เพื่อให้ผู้พ้นโทษได้รับการยอมรับจากสังคมต่อไป