“ศุภมาส” หารือทูตไทยในอิตาลี ดันโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษา-นักวิจัย

87

วันที่ 15  พ.ย. 2567 น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยถึงภารกิจที่ได้รับมอบหมายจาก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้เป็นตัวแทนประเทศไทยในการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านพลังงานฟิวชัน ซึ่งจัดโดยรัฐบาลสาธารณรัฐอิตาลีและทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ(IAEA) ระหว่างวันที่ 4-9 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี ว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นครั้งสำคัญในการแลกเปลี่ยนแนวคิดและวิสัยทัศน์ในการพัฒนาพลังงานฟิวชันเชิงพาณิชย์ โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาแหล่งพลังงานสะอาดที่ยั่งยืน สามารถตอบโจทย์ความต้องการพลังงานของโลกและเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานในระยะยาว โดยมีรัฐมนตรีและผู้แทนระดับสูงจากกว่า 30 ประเทศ รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศและภาคเอกชน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสนใจและความร่วมมือในระดับโลกที่มีต่อพลังงานฟิวชัน

นอกจากการเข้าร่วมประชุมข้างต้นแล้ว รมว.อว. ยังได้มีการประชุมหารือกับทีมไทยแลนด์ที่นั่น นำโดยนายพุทธพร อิ้วตกส้าน เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโรม เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ระหว่างไทยและอิตาลี ที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี โดยมี นางสาวกุนทินี อักษรวงศ์ อัครราชทูต นางสาวปทุมวดี อิ่มทั่ว อัครราชทูตฝ่ายการเกษตร นาวาเอกพิสุทธิ์ แดงเผือก ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือ นางสาวบัณรสี กออนันตกูล อัครราชทูตที่ปรึกษา นางสาวจิรกานต์ พรโสภิต ที่ปรึกษา และ นายสมเกียรติ กมลพันธ์  อัครราชทูตที่ปรึกษา ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำกรุง บรัสเซลส์ ดูแลครอบคลุมภาคพื้นยุโรปทั้งหมด เข้าร่วม

น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า หนึ่งในหัวข้อหลักที่ได้หารือร่วมกันคือการส่งเสริมโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและนักวิจัยระหว่างมหาวิทยาลัยของทั้งสองประเทศ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้นักศึกษาและนักวิจัยไทยได้สัมผัสประสบการณ์ในสถาบันการศึกษาชั้นนำของอิตาลี อีกทั้งยังได้เรียนรู้จากระบบการศึกษาที่มีมาตรฐานสูงและทันสมัยของยุโรป โดยมีแผนสนับสนุนทุนการศึกษาและโครงการฝึกอบรมที่เน้นเสริมทักษะเชิงวิชาการและการวิจัยในสาขาที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและสังคมของไทย เช่น วิทยาศาสตร์ด้านพลังงานและนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีการแพทย์ การร่วมมือเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพให้บุคลากรไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดงานระดับนานาชาติ และยังเป็นการยกระดับขีดความสามารถในการพัฒนาประเทศในระยะยาว

รมว.อว. กล่าวอีกว่า ขณะที่ ในด้านการวิจัยและนวัตกรรม ได้หารือถึงแนวทางในการพัฒนาโครงการวิจัยร่วมที่สามารถตอบโจทย์ปัญหาและความท้าทายระดับโลก อาทิ การพัฒนาพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสอดคล้องกับเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสร้างความมั่นคงทางอาหารที่มีคุณภาพเพื่อรองรับประชากรที่เพิ่มขึ้น และการพัฒนานวัตกรรมด้านการดูแลสุขภาพ ซึ่งจะตอบสนองความต้องการของผู้คนในยุคดิจิทัล โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มาประยุกต์ใช้เพื่อให้การดูแลสุขภาพมีประสิทธิภาพและแม่นยำมากขึ้น นอกจากนี้ การหารือยังครอบคลุมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมในระดับภูมิภาคยุโรป เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัย และสนับสนุนให้บุคลากรด้านวิจัยของไทยได้ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลกผ่านการฝึกอบรมและการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในระดับนานาชาติ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมให้กับประเทศไทยในระยะยาว

“การสร้างความร่วมมือกับอิตาลีในด้านอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ไม่เพียงแต่จะเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรไทยในการแข่งขันระดับสากล แต่ยังเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอนาคต ด้วยการสร้างโอกาสให้นักศึกษาและนักวิจัยไทยได้เข้าถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ความร่วมมือนี้จะส่งผลให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นศูนย์กลางทางวิทยาศาสตร์และการศึกษาของภูมิภาคในระยะยาว การเยือนอิตาลีในครั้งนี้นอกจากจะเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและอิตาลีแล้ว ยังสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของไทยในการขับเคลื่อนความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และการศึกษาที่มั่นคง ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาและยกระดับศักยภาพของทั้งสองประเทศในอนาคต“ น.ส.ศุภมาส กล่าว