กรมสุขภาพจิต จัดซ้อมแผนตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินหวังลดความสูญเสีย

214

กรมสุขภาพจิต จัดซ้อมแผนตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน และสาธารณภัยทีม MCATT ภาคกลาง พร้อมให้ความสำคัญของการเตรียมพร้อม เพราะสามารถเป็นแนวทางที่จะป้องกันและลดความสูญเสียให้แก่สังคมได้ในระยะยาวและยั่งยืน


วันนี้ (21 สิงหาคม 2567) กรมกรมสุขภาพจิต โดยโรงพยาบาลศรีธัญญาและภาคีเครือข่ายซ้อมแผนตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน และสาธารณภัยทีม MCATT เขตสุขภาพที่ 3,4,5,6 และ 13 และฝ่ายที่เกี่ยวข้องในจังหวัดนครนายก ด้านการแพทย์และสาธารณสุขแบบบูรณการกับภาคีเครือข่ายด้านวิกฤตสุขภาพจิตและสุขภาพจิตฉุกเฉินทั้งในและนอกระบบสาธารณสุขระดับภาคกลาง ตามแนวทางการพัฒนาคุณภาพระบบบริการวิกฤตสุขภาพจิตของกรมสุขภาพจิต (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team : MCATT) เพื่อซ้อมแผนตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินด้านวิกฤตสุขภาพจิต สาธารณภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุขแบบบูรณการ และพัฒนาทักษะด้านการช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤตแก่บุคลากรทีม (MCATT) กรมสุขภาพจิต โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ประสบภัยที่จะได้รับจากทีมที่ผ่านการฝึกซ้อม
อย่างมีคุณภาพ และได้มาตรฐาน


นายแพทย์ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมีแนวโน้มมากขึ้นซึ่งไม่เพียงเป็นภัยพิบัติจากการกระทำของมนุษย์เท่านั้น ภัยพิบัติจากธรรมชาติก็ทวีความรุนแรงและมีหลากหลายรูปแบบมากขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นวงกว้าง การช่วยเหลือเยียวยาจิตใจอย่างเหมาะสม ดังนั้นเพื่อไม่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตกรมสุขภาพจิตจึงให้ความสำคัญในการเตรียมพร้อมรับมืออยู่เสมอ ซึ่งหากผู้ประสบภาวะวิกฤตไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจิตใจอย่างเหมาะสมอาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตในระยะยาวได้ ดังนั้นบุคลากรทั้งในและนอกสังกัดกรมสุขภาพจิต และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องบริหารจัดการและให้การช่วยเหลือเยียวยาจิตใจอย่างรวดเร็ว ถูกต้องและเหมาะสม


นายแพทย์ศิริศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า การซ้อมแผนตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินและภัยพิบัติด้านการแพทย์และสาธารณสุขแบบบูรณาการ กับภาคีเครือข่ายด้านวิกฤตสุขภาพจิตและสุขภาพจิตฉุกเฉินทั้งในและนอกระบบสาธารณสุขยังมีประโยชน์หลายด้าน นอกจากช่วยให้ทีมงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าใจและมีความพร้อมสำหรับการจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินและภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น การฝึกซ้อมยังช่วยสร้างความชำนาญและความมั่นใจในการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นโอกาสในการสร้างความสัมพันธ์และการประสานงานที่ดีระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ช่วยให้ทุกฝ่ายเข้าใจบทบาทและความรับผิดชอบของแต่ละฝ่ายอย่างชัดเจน ซึ่งก่อนที่บุคลากรดังกล่าวจะให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความจำเป็นต้องได้รับความรู้ ทักษะ และการฝึกซ้อมเสมือนจริงอย่างเป็นระบบ ช่วยให้สามารถทดสอบแผนการตอบโต้ที่มีอยู่ในสภาพแวดล้อมที่จำลองสถานการณ์จริง เพื่อค้นหาจุดอ่อนและปรับปรุงแผนให้เหมาะสม ทำให้สามารถบูรณาการทรัพยากรและข้อมูลจากภาคีเครือข่ายต่างๆ ได้อย่างเป็นระเบียบ เกิดประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ


แพทย์หญิงมธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้ช่วยอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า วิกฤตที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตเป็นเหตุการณ์ที่สามารถ สร้างความเครียดและความกังวลอย่างหนักให้กับบุคคล ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจและอารมณ์ของคนในระยะยาว การซ้อมแผนตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินและสาธารณภัยด้านการแพทย์ และสาธารณสุขแบบบูรณการกับภาคีเครือข่ายด้านวิกฤตสุขภาพจิตและสุขภาพจิต ฉุกเฉินทั้งในและนอกระบบสาธารณสุข ระดับภาคกลาง ในครั้งนี้พัฒนาทักษะด้านการ ช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤตแก่บุคลากรทีม (MCATT) กรมสุขภาพจิต ในเขตสุขภาพที่ 3,4,5,6 และ 13 ทีมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฝ่ายพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ฝ่ายตำรวจ ฝ่ายกู้ชีพ กู้ภัย และฝ่ายที่เกี่ยวข้องในจังหวัดนครนายก ช่วยให้มีการเตรียมการที่ดีสำหรับการจัดการกับวิกฤตสุขภาพจิตทั้งในกรณีที่เกิดจากภัยพิบัติหรือสถานการณ์ฉุกเฉิน สร้างความรู้ความเข้าใจในวิธีการให้การสนับสนุนและการช่วยเหลือในเรื่องสุขภาพจิตในช่วงวิกฤต และมีการสื่อสารที่ดีในระหว่างการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ เพราะกรมสุขภาพจิตเชื่อว่าการเตรียมพร้อมเป็นแนวทางที่จะป้องกันและลดความสูญเสียให้แก่สังคมได้ในระยะยาวและยั่งยืน

#Thaitabloid #สำนักข่าวไทยแทบลอยด์ #ข่าวสุขภาพสิ่งแวดล้อม