ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ร่วม อย. ทลายต้นตอผลิต จำหน่ายเครื่องสำอางใช้ผิดหลัก นำฉีดเข้าเส้น

286

ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ร่วม อย. ทลายต้นตอผลิต จำหน่ายเครื่องสำอางใช้ผิดหลัก นำฉีดเข้าเส้น infiNADi Nad+(อินฟินาดิ แนทพลัส) ตรวจยึดของกลาง 47 รายการ มูลค่ากว่า 25 ล้านบาท

วันที่ 6 สิงหาคม 2567 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย, พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ รอง ผบช.ก, เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคบ. โดยการสั่งการของ พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ, พ.ต.อ.ชัฏฐ นากแก้ว, พ.ต.อ.ปัญญา กล้าประเสริฐ รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.วีระพงษ์ คล้ายทอง ผกก.4 บก.ปคบ., สำนักงานคณะกรรมการ อาหารและยา โดย นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, ภก.วีระชัย นลวชัย
รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ ภญ.ขนิษฐา ตันติศิรินทร์ ผู้อำนวยการกองควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย ร่วมแถลงผลปฏิบัติการกรณีตรวจค้นบริษัทผู้ว่าจ้างผลิต สถานที่จัดเก็บ และสถานที่ผลิต ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง อินฟินาดิ แนท พลัส เอจจิ้ง โซลูชั่น (infiNADi NAD+ Aging Solution) เลขที่ใบรับจดแจ้ง 10-1-6400040195 ที่ได้ประกาศเพิกถอนใบรับจดแจ้งผลิตภัณฑ์แล้วนั้น
พฤติการณ์กล่าวคือ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ประกาศเพิกถอนใบรับจดแจ้งผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง “infiNADi Nad+” และพบว่ามีการลักลอบนำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาฉีดเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งเครื่องสำอางคือผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตสำหรับใช้ภายนอก ไม่สามารถนำมาฉีดเข้าสู่ร่างกายได้

โดยต่อมาเมื่อห้วงเดือน มีนาคม 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และเจ้าหน้าที่จากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ระดมกวาดล้างคลินิกเสริมความงาม ที่ลักลอบนำผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางดังกล่าว มาใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยการฉีดเข้ากระแสเลือด โดยอวดอ้างสรรพคุณว่าเมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกายแล้ว ช่วยในการทำงานของสมอง หัวใจและหลอดเลือด การหายใจ การนอนหลับ การซ่อมแซมของ DNA ต่อต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันการชราภาพ และระบบภูมิคุ้มกันดีขึ้น ซึ่งการนำเครื่องสำอางใช้ผิดวัตถุประสงค์อาจเป็นอันตรายโดยตรงต่อร่างกายผู้บริโภคได้
แต่ปัจจุบันยังคงพบว่า มีการนำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาฉีดให้กับผู้มารับบริการตามสถานพยาบาลต่างๆ เป็นจำนวนมาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จึงประสานมายังเจ้าหน้าที่ตำรวจกก. 4 บก.ปคบ. เพื่อให้สืบสวนขยายผลถึงต้นตอของผลิตภัณฑ์ที่มีการกระจายอยู่ตามสถานพยาบาลต่างๆ
เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงทำการสืบสวนจนทราบถึงบริษัทผู้ว่าจ้างผลิต สถานที่จัดเก็บ และสถานที่ผลิตที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ดังกล่าว
ต่อมาเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. และเจ้าหน้าที่จาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ร่วมกันนำหมายค้นของศาลอาญากรุงเทพใต้ เข้าทำการตรวจค้น รวม 3 จุด ดังนี้

1.บริษัทผู้ว่าจ้างผลิต บริเวณชั้น 6 ของอาคารคอนโดมิเนี่ยมแห่งหนึ่ง ซอยสุขุมวิท 7 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร ตรวจยึด โดยที่ประตูหน้าห้องระบุ REGENERATIVE Medicine Ltd. ผลการตรวจพบ

  • ยาฉีดที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา จำนวน 300 ขวด
  • ขวด Vial เปล่าสำหรับใช้บรรจุยาทั้งที่ติดฉลากแล้ว และยังไม่ได้ติดฉลาก จำนวน 2 รายการ
    รวม 867 ขวด
  • แฟ้มข้อมูลการส่งผลิตภัณฑ์ไปให้สถานพยาบาลต่างๆ หลังประกาศเพิกถอนใบรับจดแจ้ง
    โดยพบข้อมูลการส่งผลิตภัณฑ์ไปให้โรงพยาบาลเอกชนจำนวน 5 แห่ง สถานพยาบาล (คลินิก) จำนวน 284 แห่ง
  • สติกเกอร์ โบว์ชัวร์ แผ่นพับโฆษณา จำนวน 920 แผ่น

2.สถานที่เก็บ และกระจายสินค้า ตั้งอยู่บริเวณชั้น 2 ของอาคารคอนโดมิเนี่ยมแห่งหนึ่ง บริเวณ ซอยสุขุมวิท 7 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร ตรวจยึด

  • infiNADi NAD+ Aging Solution ภายในกล่องมีเอกสารกำกับผลิตภัณฑ์แสดงเลขที่ใบรับจดแจ้ง 10-1-6400040195 และเอกสารการเตรียมยาระบุ ‘’NAD+ IV Therapy’’ จำนวน 2,462 ขวด
  • ของเหลวบรรจุในขวดยังไม่ติดฉลากหน้าถุงระบุ NADi จำนวน 765 ขวด
  • ยาแผนปัจจุบันมีทะเบียนตำรับยา จำนวน 6 รายการ รวม 573 ขวด
  • ยาที่ไม่มีทะเบียนตำรับยา จำนวน 13 รายการ รวม 2,659 ขวด
  • กล่องสำหรับบรรจุขวดผลิตภัณฑ์ จำนวน 6 รายการ รวม 11,650 กล่อง
  • แผ่นพับ โบว์ชัวร์ เอกสารที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ จำนวน 8 รายการ รวม 13,200 แผ่น
  • สติกเกอร์สำหรับติดขวด จำนวน 4 รายการ รวม 12,300 ดวง
  • ม้วนสติกเกอร์ สำหรับติดขวด จำนวน 2 ม้วน
  • กล่องโฟมเก็บความเย็น สำหรับบรรจุยาส่งลูกค้า คละขนาด จำนวน 100 กล่อง
    สอบถามพนักงานของบริษัท รับว่าสถานที่ทั้ง 2 แห่ง มีเจ้าของเป็นคนเดียวกัน ประกอบด้วยนายจ้างซึ่งเป็นชาวต่างชาติ (สัญชาติอเมริกัน) และภรรยาซึ่งเป็นคนไทย สำหรับการสั่งซื้อไม่ทราบว่ามาจากแหล่งผลิตที่ใด โดยนายจ้างจะเป็นคนสั่งซื้อเองทั้งหมด จากนั้นจะมีรถมาส่ง ตนเองมีหน้าที่เพียงรับคำสั่งซื้อจากโรงพยาบาล คลินิก จากนั้นบรรจุสินค้า นำส่งตามโรงพยาบาล คลินิกเท่านั้น ไม่ทราบรายละเอียดของที่มาผลิตภัณฑ์ สำหรับนายจ้างทั้ง 2 ราย ขณะนี้เดินทางไปต่างประเทศ

3.สถานที่ผลิต ในพื้นที่ แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พบกำลังผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางอื่นที่ฉลากไม่ถูกต้อง จำนวน 1,610 หลอด สอบถามข้อมูลการผลิต รับว่าบริษัทได้รับการว่าจ้างให้ผลิต ผลิตภัณฑ์ infiNADi NAD+ Aging Solution เลขที่ใบรับจดแจ้ง 10-1-6400040195 ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2564 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2565 มีอายุ 1 ปี หลังจากครบสัญญาแล้ว บริษัทผู้ว่าจ้างไม่ได้ต่อสัญญาให้ผลิตอีก
รวมตรวจค้น 3 จุด ตรวจยึดของกลาง 47 รายการ จำนวน 47,506 ชิ้น มูลค่ากว่า 25,000,000 บาท โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจยึดของกลางทั้งหมดส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ดำเนินคดี

เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิด ดังนี้
บริษัทผู้ว่าจ้างผลิต
ตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2558

  • ฐาน “ผลิตเครื่องสำอางที่ห้ามผลิต นำเข้าหรือขาย” ระวางโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ฐาน “ผลิตเครื่องสำอางปลอม” ระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ฐาน “ผลิตเครื่องสำอางไม่จดแจ้ง” ระวางโทษจําคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ฐาน “ผลิตเครื่องสำอาง ที่ฉลากใช้ข้อความไม่ตรงต่อความจริง” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติ ยา พ.ศ.2510
    • ฐาน “ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท
      – ฐาน “ขายยาที่ยังมิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2.โรงงานผู้ผลิต มีความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558 ฐาน “ผลิตเครื่องสำอาง
ที่ฉลากใช้ข้อความ และฉลากแสดงข้อความไม่ตรงต่อความจริง” ระวางโทษจําคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ “ฉลากแสดงข้อความไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง” ระวางโทษจําคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ปฏิบัติการในครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอขอบคุณตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ที่ร่วมกันเข้าตรวจสอบสถานที่ลักลอบขายยาไม่มีทะเบียนตำรับยา รวมถึงผลิตและขายเครื่องสำอางปลอม ไปหลอกขายให้แก่คลินิกเพื่อมาหลอกใช้กับผู้รับบริการนั้น
ซึ่งผลการตรวจสอบพบผลิตภัณฑ์ชื่อ infiNADi NAD+ Aging Solution ที่มีการแสดงเลขที่ใบรับจดแจ้ง 10-1-6400040195 แสดงว่าเป็นเครื่องสำอางที่ได้จดแจ้งไว้ซึ่งมิใช่ความจริง อีกทั้งเลขที่ใบรับจดแจ้งดังกล่าว อย. ได้ประกาศเพิกถอนแล้วตั้งแต่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 และยังพบแผ่นการโฆษณาประโยชน์ของการให้ INFINADI NAD ชะลอวัยและทำให้ดูอ่อนกว่าวัย, เสริมประสิทธิภาพความจำ การทำงานของระบบประสาทและสมอง, ช่วยฟื้นฟูร่างกายหลังผ่านการติดเชื้อ Covid-19, เพิ่มประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันและการทำงานในร่างกาย, เพิ่มระดับพลังงาน ลดอาการเหนื่อยล้า, ช่วยเรื่องการลดและควบคุมน้ำหนัก, เสริมการสร้างและซ่อมแซมกล้ามเนื้อ, เพิ่มประสิทธิภาพในการเล่นกีฬา, ทำให้ผิวพรรณดูดีขึ้น, ช่วยบรรเทาอาการหวาดระแวงหรือเครียด, ลดความเจ็บปวดที่เกิดจากการอักเสบ ซึ่งเป็นการโฆษณาอวดอ้างเป็นเท็จเกินจริง ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่จดแจ้งเป็นเครื่องสำอางจะไม่มีการประเมินความปลอดภัยจากการใช้ไปฉีดเข้าสู่ร่างกายเนื่องจากเครื่องสำอางจะใช้ทาภายนอกเท่านั้น ดังนั้น หากนำเครื่องสำอางไปใช้ผิดวิธีหรือผิดวัตถุประสงค์อาจเกิดอันตรายต่อผู้ใช้ได้
จึงขอเตือนทั้งผู้ผลิตและผู้นำเข้าปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย หากพบการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายจะดำเนินการให้ถึงที่สุดเหมือนเช่นครั้งนี้ และขอฝากเตือนไปยังผู้ให้บริการและผู้รับบริการในคลินิกเสริมความงาม โรงพยาบาล ให้ตรวจสอบฉลากและพิจารณาการใช้ผลิตภัณฑ์ในรูปแบบแอมพูล/ไวอัลอย่างละเอียด โดยเฉพาะที่มีการกล่าวอ้างว่า “ผ่าน อย. แล้ว” เพราะผลิตภัณฑ์ที่ผ่าน อย. มีหลายประเภทตามระดับความเสี่ยง กรณีผลิตภัณฑ์ที่ใช้ฉีดเข้าสู่ร่างกาย จัดว่ามีความเสี่ยงสูง ต้องผ่านการขึ้นทะเบียนเป็นยา หรือเครื่องมือแพทย์เท่านั้น โดย อย. ได้จัดทำข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการจดแจ้งเป็นเครื่องสำอางที่บรรจุอยู่ในแอมพูล/ไวอัล เผยแพร่ให้ประชาชนเข้าตรวจสอบได้ในเว็บไซต์ อย. หากพบว่าผลิตภัณฑ์จดแจ้งเป็นเครื่องสำอาง ห้ามนำมาใช้ฉีดเข้าสู่ร่างกายหรือใช้ร่วมกับเครื่องมือแพทย์อื่น ๆ เพื่อผลักดันสารเข้าสู่ผิวหนังโดยเด็ดขาด และการใช้ยาในคลินิกเสริมความงาม โรงพยาบาล จะต้องเป็นยาที่ขึ้นทะเบียนตำรับยากับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้วเท่านั้น หากผู้บริโภคพบคลินิกที่มีพฤติการณ์ดังกล่าวข้างต้น สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือผ่าน Email: 1556@fda.moph.go.th, Line: @FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ ตู้ปณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. กล่าวฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่า ก่อนรับบริการฉีดยาต่างๆ เข้าสู่ร่างกาย ควรตรวจสอบการได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และประเภทของผลิตภัณฑ์ก่อน ระมัดระวังการไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ เช่น การนำผลิตภัณฑ์ที่เป็นเครื่องสำอางผลักดันสารเข้าสู่ร่างกายเพื่อหวังผลการชะลอวัย หรือสรรพคุณการรักษาตามที่โฆษณาเพราะ นอกจากก่อให้เกิดความสิ้นเปลืองไม่ได้ผลตามคาดหวังแล้ว อาจก่อให้เกิดผลกระทบกับทางร่างกายได้ และขอเตือนไปยังผู้ลักลอบผลิตและนำมาใช้กับประชาชนให้หยุดการกระทำดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเฝ้าระวังและกวดขันจับกุมอย่างต่อเนื่อง หากประชาชนพบการกระทำผิดลักษณะดังกล่าว สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่ สายด่วน บก.ปคบ.1135 หรือเพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค

#Thaitabloid#สำนักข่าวไทยแทบลอยด์#CIB#อย.#ข่าวอาชญากรรมวันนี้