“พิธา” ชี้ กกต. เอาคดี “ไทยรักษาชาติ” มาอ้างยุบ “ก้าวไกล” ไม่ได้

7167

วันที่ 13 มิ.ย.จากกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง แถลงข่าวยืนยันว่าการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล ได้ดำเนินการตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 92 จึงไม่มีเหตุต้องไต่สวน ซึ่งทำเช่นเดียวกับกรณีพรรคไทยรักษาชาติ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ออกมากล่าวโต้ผ่านเฟซบุ๊กเพจ ชื่อบัญชี Pita Limjaroenrat – พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่า กกต. จะนำคดีไทยรักษาชาติมาอ้างไม่ได้ เพราะคดีนั้น ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยประเด็นกระบวนการการยื่นคำร้องเป็นประเด็นแห่งคดีแต่อย่างใด ดังนั้น ในคดีดังกล่าว จึงไม่อาจเป็นบรรทัดฐานได้ แตกต่างจากคดียุบพรรคอนาคตใหม่ (กู้เงิน) ที่ศาลได้วินิจฉัยความเกี่ยวเนื่องของมาตรา 92 และมาตรา 93 เป็นประเด็นแห่งคดีไว้

นายพิธากล่าวว่าในขณะเดียวกัน คำวินิจฉัยคดียุบพรรคอนาคตใหม่ วางหลักว่ากระบวนการตามมาตรา 93 เกี่ยวเนื่องกับการเสนอคำร้องตามมาตรา 92 แห่ง พ.ร.ป.พรรคการเมือง เพียงแต่ขณะนั้นใช้ระเบียบ กกต. ว่าด้วยพรรคการเมือง ปี 2560 ซึ่งกำหนดเรื่องกระบวนการเสนอคำร้องตามมาตรา 92 ให้นำระเบียบสืบสวนไต่สวนมาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยระเบียบสืบสวนไต่สวนดังกล่าว เป็นระเบียบที่ใช้ในการดำเนินคดีอาญา ซึ่งกำหนดให้ กกต. แจ้งข้อกล่าวหาก่อน แต่ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า การนำมาใช้โดยอนุโลม คือไม่ต้องนำทุกข้อมาใช้บังคับแก่กรณี ดังนั้น กกต. จึงไม่แจ้งข้อหาก่อน ย่อมถูกต้องแล้ว

“แต่ปัจจุบัน ระเบียบ กกต. ว่าด้วยพรรคการเมืองปี 60 ถูกยกเลิกไปแล้ว และมีการออกระเบียบ กกต.ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมืองปี 2566 ออกมาใช้บังคับกับกรณีการยื่นคำร้องตามมาตรา 92 และมาตรา 93 ดังนั้น การเสนอคำร้องตามมาตรา 92 จึงต้องดำเนินการตามระเบียบปี 66 อย่างเคร่งครัด” เขาระบุ

ศาลรัฐธรรมนูญ

ตามมาตรา 93 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “ในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 92 คณะกรรมการจะยื่นคำร้องเอง หรือจะมอบหมายให้นายทะเบียนเป็นผู้ยื่นคำร้องและดำเนินคดีแทน“ ก็เป็นการเท้าความถึงมาตรา 92 อยู่นั่นเอง ถ้าบอกว่ามาตรา 93 ไม่เกี่ยวกับมาตรา 92 แล้วตามวรรคสองของมาตรา 93 จะอ้างอิงมาตรา 92 ทำไม? ดังนั้น มาตรา 92 กับ มาตรา 93 ต้องใช้ประกอบกัน แยกเป็นเอกเทศไม่ได้

“ผมและพรรคก้าวไกลเห็นว่าหลักการใช้อำนาจขององค์กรอิสระ คือไม่ควรล้นเกิน แต่ต้องยึดหลักการมีส่วนร่วมและการถ่วงดุลกัน ดังที่เห็นในรัฐธรรมนูญไทยไม่ว่าฉบับ 2540, 2550 หรือ 2560 การยื่นคำร้องยุบพรรค ระบบกฎหมายกำหนดให้เป็นการแสดงเจตนาของ “องค์กรร่วม” เสมอมา เพื่อให้กระบวนการมีการกลั่นกรองและถ่วงดุลตั้งแต่ 2 องค์กรขึ้นไป ก่อนการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรค” พิธากล่าว

#Thaitabloid #ไทยแทบลอยด์ #ก.ก.ต. #ศาลรัฐธรรมนูญ #พิธาลิ้มเจริญรัตน์ #ยุบพรรคก้าวไกล