แนะเกษตรกรจัดการโรคเหี่ยวกล้วยหิน

314

แนะเกษตรกรจัดการโรคเหี่ยวกล้วยหิน

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กล้วยหิน เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดชายแดนใต้ ได้รับการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของจ.ยะลา มีถิ่นกำเนิดอยู่บริเวณ 2 ฝั่งของแม่น้ำปัตตานี เนื่องจากทำเลทองแห่งนี้มีผืนดินที่อุดมสมบูรณ์ มีความชื้นทั้งในดินและในอากาศสูงตลอดทั้งปี ทำให้ผลผลิตเป็นที่นิยมของผู้บริโภคและเป็นที่ต้องการของตลาด ปัจจุบันเกษตรกรได้ขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มมากขึ้นและพบการระบาดของ“โรคเหี่ยวกล้วยหิน” โดยเฉพาะ อ.ยะหา ซึ่งมีพื้นที่ปลูก 244 ไร่ พบการระบาดที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียซึ่งเป็นโรคระบาดที่แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วถึง 40 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 7 ตำบล ได้แก่ ต.ยะหา ตาชี ละแอ บาโร๊ะ ปะแต บาโงยซิแน และกาตอง เกษตรกรไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ทำให้ผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด สูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจ

กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรอ.ยะหา จึงดำเนินการลดพื้นที่การระบาดของโรค ส่งเสริมให้เกษตรกรทำลายต้นกล้วยที่เป็นโรค และเพิ่มพื้นที่การปลูกกล้วยหิน จัดทำแปลงกล้วยหินปลอดโรค ตามหลักวิชาการ 6 ขั้นตอน ดังนี้
1) การเตรียมต้นพันธุ์กล้วยหิน คัดเลือกต้นพันธุ์ดี มีความสมบูรณ์ ปลอดโรคและแมลงศัตรูพืช ซื้อจากแหล่งที่มีความน่าเชื่อถือ ห้ามนำต้นพันธุ์จากแปลงที่เป็นโรคมาปลูก
2) การเตรียมหลุมและบ่มดิน ขุดหลุมขนาด 50x50x50 ซม.โดยเว้นระยะห่างระหว่างหลุม 5 เมตร ใช้ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) กับปูนขาว อัตราส่วน 1:10 นำไปโรยให้ทั่วหลุมและรอบ ๆ หลุม กลบหลุมให้แน่นแล้วรดน้ำให้ชุ่ม ทิ้งไว้ 3 สัปดาห์ เพื่อฆ่าเชื้อในดิน
3) การปลูกกล้วยหิน แช่หน่อพันธุ์ในชีวภัณฑ์ BS-DOA 24 ที่ละลายน้ำ 10 ลิตร นาน 30 นาที ขุดเอาดินที่กลบหลุมออก หากมีเศษปูนขาวเหลืออยู่ให้นำออกไปทิ้ง จากนั้นรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยอินทรีย์ 2 กิโลกรัม นำหน่อพันธุ์ที่แช่ชีวภัณฑ์แล้ว ปลูกในหลุมที่เตรียมไว้ กลบให้แน่นแล้วรดน้ำตามทันที
4) การใส่ปุ๋ย เดือนที่ 1,4,5 หลังปลูกใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ปริมาณ 100-150 กรัม/กอ เดือนที่ 2,3,6 หลังปลูกใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ปริมาณ 500 กรัม/กอ หลังจากต้นกล้วยแทงปลีใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 ปริมาณ 1-2 กิโลกรัม/กอ
5) การดูแลรักษา กำจัดวัชพืชภายในแปลงอย่างสม่ำเสมอ ตัดแต่งกอกล้วยให้โปร่ง โดยไว้กอละ 3 – 5 ต้นต่อกอ และทางใบ 10 – 12 ใบต่อต้น รดด้วยชีวภัณฑ์ BS-DOA24 (อัตรา 25 กรัม ผสมน้ำ 10 ลิตร) เดือนละ 1 ครั้ง หลังจากนั้น 5 วัน รดด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มา (อัตรา 100 กรัม ผสมน้ำ 20 ลิตร) ทำความสะอาดอุปกรณ์และเครื่องมือทางการเกษตรทุกครั้งด้วยน้ำยาฟอกผ้าขาว (ไฮเตอร์)
6) การห่อปลีและตัดปลี เมื่อต้นกล้วยออกปลี ให้ใช้ถุงตาข่ายห่อปลีกล้วยทันที และเมื่อปลีกล้วยพัฒนาเป็นหวีกล้วยระยะตีนเต่าให้ตัดปลีกล้วยออกจากเครือ นอกจากนี้ การเก็บเกี่ยวหลังจากกล้วยแทงปลี 3 – 4 เดือน จึงสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ โดยใช้พร้าที่จุ่มในน้ำยาฟอกผ้าขาว (ไฮเตอร์) ตัดลำต้นที่ความสูง 1/3 ของต้น เพื่อให้ต้นเอียงแล้วค่อยตัดเครือกล้วย เพื่อไม่ให้ผลผลิตช้ำ

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ผลจากการดำเนินการขับเคลื่อนงานเพื่อแก้ไขปัญหาโรคเหี่ยวกล้วยหิน โดยการลงไปส่งเสริม สนับสนุน และถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรของสำนักงานเกษตรอ.ยะหา พบแปลงกล้วยหินได้รับการฟื้นฟู มีพื้นที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามลำดับ ในขณะเดียวกันพื้นที่การระบาดมีแนวโน้มลดลงและคงที่ ทั้งนี้ อ.ยะหาได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาโรคเหี่ยวกล้วยหินอย่างเป็นระบบตั้งแต่ ปี 64 ปัจจุบันมีแปลงกล้วยหินปลอดโรค 115 แปลง เกษตรกร 114 ราย พื้นที่ 131.5 ไร่ แปลงกล้วยหินปลอดโรคอ.ยะหา เป็นแปลงต้นแบบที่ได้ดำเนินการตามหลักวิชาการ สามารถให้ผลผลลิตที่ปลอดโรค จำหน่ายให้กับวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรบ้านเจาะตีเม๊าะ ต.ละแอ อ.ยะหา และยังเป็นแหล่งดูงานให้ผู้ที่สนใจการปลูกกล้วยหิน ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาโรคเหี่ยวกล้วยหินในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับโรคเหี่ยวกล้วยหิน หรือ Banana blood disease มีสาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (Ralstonia solanacearum species complex) เข้าทำลายท่อน้ำท่ออาหาร ซึ่งสามารถแพร่กระจายไปกับหน่อกล้วยที่มาจากกอที่เป็นโรค ดิน น้ำ แมลง อุปกรณ์ทางการเกษตร ยานพาหนะ และเกษตรกร ซึ่งเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้สามารถอาศัยอยู่ในดินได้เป็นเวลานาน ลักษณะอาการของโรค ใบธง (ใบอ่อน) แสดงอาการเหี่ยว ใบเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ต่อมาใบอื่น ๆ แสดงอาการเหี่ยวเปลี่ยนเป็นเหลือง เมื่อตัดดูลักษณะภายในลำต้นเทียมจะเห็นท่อน้ำท่ออาหารเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ปลีกล้วยแคระแกร็น และหากติดผล ผลจะมีลักษณะเล็ก ลีบ เนื้อภายในจะเป็นสีน้ำตาลหรือดำ ถ้าอาการรุนแรงจะยืนต้นตาย ไม่สามารถเก็บผลผลิตได้.

#Thaitabloid#สำนักข่าวไทยแทบลอยด์#โรคเหี่ยวกล้วยหิน