ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ระบุว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เร่งรัดในการสรรหาผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด แต่ทางด้าน เลขาธิการ กกต.ยืนยันว่าต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้ทันการคัดเลือก ส.ว. ว่า ตนเข้าใจเหมือนที่เลขาธิการ กกต. ออกมายืนยัน แต่ความเห็นต่างที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความขัดแย้ง เพราะต่างคนต่างทำหน้าที่ของตัวเอง กกต.ชุดปัจจุบันเขาทำตามอำนาจที่มี ส่วนจะควรหรือไม่นั้น เรื่องดังกล่าวแล้วแต่มุมมอง ขณะที่ สนช.หรือคนอื่นมองว่าควรจะรอ กกต.ชุดใหม่นั้นก็ถือเป็นการแสดงความเห็น เมืองไทยอย่าไปถือว่าเมื่อคิดไม่เหมือนกันจะเป็นความขัดแย้งแล้วทะเลาะกันไปเสียหมด
เมื่อถามว่าผู้ตรวจการเลือกตั้ง 616 คนที่คัดเลือกมาแล้วจะต้องโละใหม่หรือไม่นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า นายกฯ ระบุแล้วให้ กกต.ชุดเก่าและชุดใหม่ไปคุยกัน รัฐบาลไม่เกี่ยว และไม่อยากจะเข้าไปเกี่ยว ส่วนหาก สนช.ยืนยันจะแก้สามารถทำได้หรือไม่นั้น เรื่องดังกล่าวถือเป็นสิทธิของ สนช.ตามรัฐธรรมนูญ เพราะการแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทำได้เพียง 2 ฝ่าย คือ คณะรัฐมนตรี (ครม.) และ สนช. ส่วนจะกระทบต่อการคัดเลือก ส.ว.หรือไม่นั้น น่าจะเป็นปัญหาอยู่เหมือนกัน เพราะ พ.ร.ป.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.จะมีผลทันทีภายหลังโปรดเกล้าฯ ลงมา ฉะนั้นจึงต้องดำเนินการคัดเลือก ส.ว.เลย
เมื่อถามอีกว่า หากส่งผลกระทบต่อการคัดเลือก ส.ว.จะแก้ปัญหาอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า อยู่ที่ว่าการแก้ไขจะเขียนอย่างไร ตนยังไม่เคยเห็น หากเขียนให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งที่ได้รับการคัดเลือกไปก่อนหน้านี้แล้วสิ้นสุดลง ต้องเขียนรองรับด้วยว่าแล้วกิจการที่ทำไปก่อนแล้วเป็นอย่างไร ก็อยู่ที่เทคนิค แต่คิดว่าเขาคงเขียนเป็น อย่างไรก็ตาม
“ไม่คิดว่าเรื่องนี้จะดึงการเลือกตั้งให้ช้าตามที่หลายคนกังวล เพราะไม่เกี่ยวกัน เนื่องจากกรอบเวลาเลือกตั้งกำหนดในรัฐธรรมนูญ ไม่มีกฎหมายใดสามารถมาดึงได้” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวถึงกรณีที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หารือการคลายล็อกพรรคการเมือง ว่า เมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมาไม่ได้มีการหารือเรื่องดังกล่าว เพราะเข้าใจอยู่แล้วว่าการคลายล็อกจะเกิดขึ้นหลัง ช่วงเวลา 90 วันระหว่างรอร่างพ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ โดยจะคลายบางล็อก เช่น ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แบ่งเขตเลือกตั้ง ให้พรรคการเมืองทำไพรมารีโหวต หรืออะไรที่คล้ายกับไพรมารีโหวตได้ รวมถึงพรรคการเมืองอาจทำกิจกรรมบางอย่างได้ แต่ต้องแจ้งให้ กกต.ทราบ
เมื่อถามว่า ความชัดเจนจะเกิดขึ้นก่อนกลางเดือน ก.ย.นี้ที่กฎหมายจะประกาศใช้ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ความชัดเจนจะเกิดขึ้นหลังจากมีการแก้ไขคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 เพราะขณะนี้ติดขัดแค่เรื่องวิธีทำไพรมารีโหวต ซึ่งตนยังไม่ได้นัดหมายกับ กกต.ชุดใหม่ แต่ไม่จำเป็นต้องให้มีการโปรดเกล้าฯ กกต.ชุดใหม่ลงมา สามารถหารือก่อนได้ พร้อมเมื่อใดก็สามารถหารือกันได้ โดยประสานไปทางเลขาธิการ กกต.