กรมอุทยานฯดำเนินการกับนักท่องเที่ยวจับหาง”ฉลามวาฬ”

319

วันที่ 3 เม.ย.67 จากเหตุการณ์ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาดำน้ำที่กองหินริเชริว และได้สัมผัสปลายหางฉลามวาฬ เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 67 ซึ่งมีข้อสงสัยว่า นักดำน้ำสามารถสัมผัสปลายหางฉลามวาฬได้หรือไม่ และเป็นการทำให้เกิดอันตรายกับสัตว์ทะเลโดยตรงและทำลายทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตในท้องทะเลหรือไม่

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รับรายงานจาก นายอาทิตย์ ขยันกิจ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ว่า จากเหตุการณ์ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาดำน้ำที่กองหินริเชริว และได้สัมผัสปลายหางฉลามวาฬ เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 67

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ได้ดำเนินการดังนี้

(1)อุทยานฯได้ดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐาน คลิปวีดีโอ ภาพถ่าย เพื่อดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาการกระทำผิดทางพินัยกับผู้กระทำผิด
(2)อุทยานฯได้ประสานงานกับผู้ควบคุมดำน้ำลึก เพื่อขอทราบข้อมูลการกระทำผิด
(3)อุทยานฯได้แจ้งข้อกล่าวหาการกระทำผิดทางพินัย ให้ผู้กระทำผิดทราบ และผู้กระทำผิด ผู้ควบคุมดำน้ำลึกรับสารภาพ

(4)อุทยานฯได้นำส่งบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาการกระทำผิดทางพินัย (พน.อส.1) และ บันทึกการให้การรับสารภาพ (พน.อส.2) ส่งสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 เพื่อดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ได้ยกระดับให้ปลาฉลามวาฬ เป็นสัตว์ป่าสงวน ซึ่งฉลามวาฬ (Whale Shark) เป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มันเป็นปลากระดูกอ่อนเหมือนปลาฉลามชนิดอื่น มักอาศัยในทะเลที่น้ำมีอุณหภูมิ 18–30 องศาเซลเซียส ลำตัวของมันมีมีสีเทา มีลายจุดสีขาวและสีเหลืองอ่อนตามตัว ความยาวของวัยตัวโตเต็มวัยอยู่ที่ 5.5–10 เมตร แต่อาจยาวได้ถึง 12 เมตร และอาจหนักได้ถึง 20 ตัน กินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร ซึ่งฉลามวาฬไม่เป็นภัยต่อมนุษย์ แต่กำลังประสบปัญหาคุกคามจากมนุษย์ ทั้งการลดจำนวนลงของแพลงก์ตอน และมลพิษกับอุบัติเหตุจากเรือยนต์เช่นเดียวกัน แต่ฉลามวาฬจะพบการคุกคามที่รุนแรงกว่า คือการล่าเพื่อตัดครีบที่เรียกว่า “หูฉลาม”

#Thaitabloid #สำนักข่าวไทยแทบลอยด์ #ฉลามวาฬ