“เลขาธิการ ปปง.”นำทีม แถลงผลการประชุมคณะกรรมการฯได้ดำเนินการกับทรัพย์สินมูลค่าทรัพย์สินกว่า 3,729 ล้านบาท ย้ำชัด! ยกระดับเข้มข้นทั้งป้องกันและปราบปรามตามกฎหมายเพื่อประชาชน

452

วันพฤหัสบดีที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567(เวลา 10.00 น.) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.)นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กล่าวแถลงว่า สำหรับการแถลงข่าวในวันนี้ เป็นการแถลงสรุปผลการดำเนินงานของสำนักงาน ปปง. ในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมและการกระทำความผิดที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และประชาชนจำนวนมาก โดยกำชับให้หน่วยงานทุกภาคส่วนร่วมกันทำหน้าที่เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา โดยการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง มาบังคับใช้ให้มีประสิทธิภาพสูงสุ ซึ่งสำนักงาน ปปง. ได้มีการ โดยขอสรุป ดังนี้

(1) ผลประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งได้ดำเนินการกับทรัพย์สิน1,027 รายการ 50 รายคดี มูลค่าทรัพย์สินกว่า 3,729 ล้านบาท และมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบทรัพย์สิน 37 รายคดี โดยมีการยึดและอายัดทรัพย์สิน จำนวน 26 รายคดี ทรัพย์สิน 228 รายการ พร้อมดอกผล โดยคดีสำคัญที่มีการยึดอายัดในคราวนี้ ได้แก่ คดีบริษัท STARK มูลค่าทรัพย์สินที่ยึดอายัดรวมประมาณ 2,541 ล้านบาท(รวม 2 คำสั่ง ยอดรวมประมาณ 2,895 ล้านบาท) นอกจากนี้คณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติให้ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 19 รายคดี ทรัพย์สิน 717 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 1,090 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินในความผิดมูลฐานเกี่ยวกับยาเสพติด ฉ้อโกงประชาชนหรือการฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ การลักลอบหนีศุลกากร และการจัดให้มีการเล่นพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์

(2) การดำเนินการตามพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 (พ.ร.ก. มาตรการฯ) โดยสำนักงาน ปปง. ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณากําหนดหรือทบทวนรายชื่อบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงฯ โดยพิจารณากําหนดรายชื่อบุคคลผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทําความผิดมูลฐานหรือเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากธนาคารที่ถูกใช้ในการกระทําความผิดมูลฐาน และนําฐานข้อมูลดังกล่าวเข้าสู่ระบบตรวจสอบรายชื่อบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงฯ เพื่อให้ธนาคารสามารถใช้มาตรการปิดช่องทางการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของบุคคลตามรายชื่อดังกล่าว อันเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ร้ายทำธุรกรรมทางออนไลน์ได้ ปัจจุบันมีการพิจารณากําหนดรายชื่อบุคคล กรณีบัญชีม้า จํานวนกว่า 30,223 รายชื่อ โดยบุคคลกลุ่มนี้มีจํานวนบัญชีที่ธนาคารตรวจพบและแจ้งกลับกว่า 285,344 หมายเลขบัญชี มูลค่าเงินคงเหลือในบัญชีดังกล่าวรวมทั้งสิ้นประมาณ 823 ล้านบาท และในกรณีที่สำนักงาน ปปง. ตรวจสอบพบการกระทำความผิดจะดำเนินการกล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มข้นอีกด้วย

นอกจากนี้สำนักงาน ปปง. จะยกระดับการบังคับใช้มาตรการด้านการป้องกันตาม พ.ร.ก. อย่างเข้มข้นขึ้นโดยจะใช้มาตรการที่เข้มงวดตามกรอบของกฎหมายในการกำกับดูแลผู้หน้าที่รายงานธุรกรรมตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 เช่น ธนาคารหรือผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น และหากพบว่ามีการฝ่าฝืนก็จะมีมาตรการบังคับโทษอย่างจริงจัง เพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนด้วย

(3)การคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในความผิดมูลฐานและผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัด สำนักงาน ปปง. ได้แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย เพื่อให้สามารถดำเนินการเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายได้ทุกมูลฐาน รวมถึงกำหนดให้มีการออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติงานให้เกิดความชัดเจนต่อไปด้วย โดยกฎกระทรวงดังกล่าวคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันอังคารที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ผลจากการแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติมดังกล่าว ทำให้ผู้เสียหายในความผิดมูลฐานสามารถยื่นคำร้องต่อสำนักงาน ปปง. เพื่อขอให้คุ้มครองสิทธิที่ตนได้รับความเสียหายอันเป็นผลจากการกระทำความผิดมูลฐานได้ ซึ่งปัจจุบันมีคดีสำคัญๆ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายหลายคดี เช่น คดีหุ้น More คดีหุ้น STARK เป็นต้น

(4) การคุ้มครองสิทธิผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด โดยสำนักงาน ปปง. ดำเนินการแก้ไขมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินสามารถร้องขอต่อศาลให้คุ้มครองสิทธิของตนได้ด้วย เช่น กรณีผู้ทำสัญญาจะซื้อทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดโดยสุจริตและได้ชำระเงินมัดจำให้ผู้จะขายไว้แล้ว ฯลฯ ในโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมของบริษัท กีธา พร็อพเพอร์ตี้ส์ จำกัด ทำให้ผู้สุจริตดังกล่าวได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมาย โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบในกรณีนี้ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับบริษัทหรือผู้ที่รับเหมาก่อสร้างอาคารคอนโดฯ แม้จะเป็นกลุ่มบุคคลที่ได้รับผลกระทบ  ก่อนการแก้ไขกฎหมายในปี พ.ศ. 2565 สำนักงาน ปปง. ได้มีแนวทางเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบไว้แล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างส่งเรื่องไปประกาศราชกิจจานุเบกษาเพื่อรวบรวมรายชื่อผู้ที่ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับบริษัทที่อาจตกหล่นบางรายและผู้ที่รับเหมาก่อสร้างอาคารคอนโดฯ ทั้งหมด ก่อนจะดำเนินการคืนเงินแก่ผู้ที่มีส่วนได้เสียตามขั้นตอนต่อไป

ด้าน นายวิทยา นีติธรรม ผู้อำนวยการกองกฎหมายและโฆษกประจำสำนักงาน ปปง. นายสุทธิศักดิ์ สุมน ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมาย และนายปิยะ ศรีวิกะ ผู้อำนวยการกองคดี 2 สำนักงาน ปปง. แถลงข่าวสรุปผลการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งได้ดำเนินการกับทรัพย์สินรวมมูลค่ากว่า 3,700 ล้านบาท รวมถึงเน้นย้ำการดำเนินมาตรการทั้งป้องกันและปราบปรามเข้มข้นเพื่อดำเนินการกับผู้การะทำความผิดและคุ้มครองประชาชน โดยสรุปดังนี้

(1) มติคณะกรรมการธุรกรรมในการประชุมฯ ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 คณะกรรมการธุรกรรมได้พิจารณาเห็นชอบให้ดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด สรุปดังนี้

(1.1) ยึดและอายัดทรัพย์สิน จำนวน 26 รายคดี ทรัพย์สิน 228 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 2,635 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินเกี่ยวกับความผิดมูลฐานยาเสพติด ฉ้อโกงประชาชนหรือการยักยอกอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ และการลักลอบหนีศุลกากรโดยมีรายคดีสำคัญ ดังนี้

(1.1.1)​ ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนและการฉ้อโกง การยักยอกทรัพย์อันมีลักษณะเป็นปกติธุระ มีการยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว รวมจำนวน 24 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 2,547 ล้านบาท

รายคดี นายชนินทร์ฯ กับพวก เป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน และความผิดเกี่ยวกับการยักยอกทรัพย์อันมีลักษณะเป็นปกติธุระ กรณีบริษัท สตาร์คคอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (กรณีหุ้น STARK) ซึ่งมีนายชนินทร์ฯ เป็นประธานกรรมการบริษัทมีพฤติการณ์ตกแต่งงบการเงินของบริษัทเพื่อแสดงผลการดำเนินการที่ดีและสูงกว่าความเป็นจริง ต้องการให้เป็นที่สนใจของผู้ลงทุน กรณีดังกล่าวสำนักงาน ปปง. เคยดำเนินการอายัดทรัพย์สินไว้แล้ว 16 รายการ มูลค่าประมาณ 354 ล้านบาท (คำสั่ง ย.222/2566) โดยในการนี้ คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกรทำความผิดไว้ชั่วคราว (เพิ่มเติม) จำนวน 34 รายการ (ที่ดิน และเงินในบัญชีเงินฝาก) มูลค่าประมาณ 2,541 ล้านบาท (คำสั่ง ย. 32/2567)

กรณีดังกล่าวสำนักงาน ปปง. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อแจ้งให้ผู้เสียหายยื่นคําร้องพร้อมหลักฐานแสดงรายละเอียดแห่งความเสียหายภายในเก้าสิบวัน (ครบกำหนด    ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567) ขณะนี้สำนักงาน ปปง. อยู่ระหว่างรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้เสียหายเพื่อดำเนินการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายต่อไป – รายคดี นายวุฒิพงษ์ฯ กับพวก เป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน กรณีการส่งข้อความทางโทรศัพท์หลอกลวงว่าได้รับรางวัล พร้อมแนบลิงก์ให้ผู้เสียหายเข้าไปกรอกข้อมูล และโทรศัพท์หลอกลวงให้ทำตามขั้นตอน ทำให้เงินในบัญชีธนาคารของผู้เสียหายถูกโอนไปยังบัญชีของกลุ่มผู้กระทำความผิด ในการนี้ คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว จำนวน 8 รายการ (เงินในบัญชีเงินฝาก) มูลค่าประมาณ 6 ล้านบาท (คำสั่ง ย.45/ 2567)
1.1.2 ความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ รายคดี นางลีน่าฯ กับพวกซึ่งมีพฤติการณ์กระทำความผิดโดยจัดการแสดงการร่วมเพศในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ แล้วถ่ายทอดสดไปยังบุคคลที่ดูอยู่ในประเทศจีน ผ่านทางแอปพลิเคชั่น ชื่อ VK โดยคิดค่าใช้จ่ายจากสมาชิกที่เข้าชม  และได้ค่าตอบแทนจากผู้ชมในประเทศจีน ในการนี้ คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว จำนวน 6 รายการ (รถยนต์ ที่ดิน และเงินในบัญชีเงินฝาก) มูลค่าประมาณ 5 ล้านบาท (คำสั่ง ย.44/ 2567)
1.1.3 ความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากร และความผิดเกี่ยวกับ การปลอมเครื่องหมายการค้า รายคดี นายพีระพงษ์ฯ กับพวก กรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษตรวจค้นร้านค้าในศูนย์การค้าบ้านหม้อพลาซ่า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ผลการตรวจค้นพบวิทยุสื่อสารและอุปกรณ์ที่ใช้กับเครื่องวิทยุสื่อสาร ปลอมเครื่องหมายการค้ากว่า 5,000 รายการ 
ซึ่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้มีคำพิพากษาลงโทษในความผิดเกี่ยวกับการปลอมเครื่องหมายการค้า และความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากร ในการนี้ คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว จำนวน 9 รายการ (เงินในบัญชีเงินฝากและสิทธิเรียกร้องในสัญญาประกันภัย) มูลค่าประมาณ 26 ล้านบาท(คำสั่ง ย.23/ 2567)

ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูลคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดได้ทางเว็บไซต์สำนักงาน ปปง. (www.amlo.go.th) ในหัวข้อการตรวจสอบข้อมูลการยึดและอายัดทรัพย์สิน
1.2 ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สิน ตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 19 รายคดี ทรัพย์สิน 717 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 1,090 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินในความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการยาเสพติดฉ้อโกงประชาชนหรือการฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ การลักลอบหนีศุลกากร และการจัดให้มีการเล่นพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีรายคดีสำคัญ ดังนี้


1.2.1 รายคดี นายประสิทธิ์ฯ หรือชาญชัยฯ หรือเหว่ย เซี๊ยะกัง กับพวก ซึ่งมีพฤติการณ์เกี่ยวกับการผลิตและลักลอบจำหน่ายยาเสพติด และนำเงินที่ได้จากการค้ายาเสพติดไปประกอบธุรกิจบังหน้าด้วยการเปิดธุรกิจจำหน่ายเพชรพลอย และกิจการประเภทต่าง ๆ 
โดยคณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการ เพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 25 รายการ (เช่น เงินสด พระเครื่องและวัตถุมงคล) มูลค่าประมาณ 2 แสนบาท (คำสั่งย.244/2566)


1.2.2 รายคดี กลุ่มขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และนายอานันท์ฯ กับพวก เป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากร กรณีสืบสวนขยายผลจากการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีการดำเนินคดีในความผิดเกี่ยวกับการนำเข้า ส่งออก เคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ (สุกร)โดยไม่ได้รับอนุญาต และนำของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินไว้แล้ว จำนวน 24 รายการ มูลค่าประมาณ 53 ล้านบาทในการนี้ สำนักงาน ปปง. ได้ตรวจสอบเส้นทๅางการเงินของกลุ่มขบวนการที่เกี่ยวข้องพบทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพิ่มเติม โดยคณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการ เพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 26 รายการ (ที่ดิน รถยนต์ และเงินในบัญชีเงินฝาก)มูลค่าประมาณ 43 ล้านบาท (คำสั่ง ย.248/2566)


1.2.3 รายคดี นายปริญญ์ฯ กับพวก เป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการจัดให้มีการเล่นการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และความผิดฐานฟอกเงิน กรณีสืบเนื่องจากเว็บพนันออนไลน์ https://www.superslotjet.com/ เว็บไซต์ https://jokerwallet.game/ และเว็บไซต์ https://superwallet.game/ ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวคณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์ไว้แล้วรวมกว่า 500 รายการตามคำสั่ง ย.70/2566 ลงวันที่14 มีนาคม 2566 และคำสั่งที่ ย.132/2566 ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่ง ในการนี้ สำนักงาน ปปง. ได้ตรวจสอบข้อมูลพบการโอน รับโอน เปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพิ่มเติม โดยคณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการ เพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินจำนวน 335 รายการ (เช่น รถยนต์ พระเครื่อง นาฬิกา สินค้าแบรนด์แนม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตุ๊กตา BEARBRICK) มูลค่าประมาณ 138 ล้านบาท (คำสั่ง ย.247/2566)


1.2.4 รายคดี นายฉี ซู (MR.QU XI หรือ MR.XU QI) กับพวก เป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนและความผิดฐานฟอกเงิน กรณีกลุ่มจีนเทาร่วมกันหลอกลวงให้ผู้เสียหายลงทุนและโอนเงินไปลงทุนคริปโตเคอร์เรนซี ผ่านแอปพลิเคชั่นปลอมชื่อ “Cboe Global Markets”โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีและตรวจค้นหลายเป้าหมาย พบทรัพย์สินของเครือข่ายขบวนการกระทำความผิดจำนวนมาก รวมทั้งทรัพย์สินของนางสาวจักรีณา ชูขาวศรี (กีกี้ แม็กซิม) นอกจากนี้สำนักงาน ปปง. สืบสวนสอบสวนขยายผลพบทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพิ่มเติม โดยคณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการ เพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 133 รายการ (เช่น เงินสด ทองรูปพรรณ สินค้าแบรนด์เนม รถยนต์ ที่ดินพร้อม สิ่งปลูกสร้าง และเงินในบัญชีเงินฝาก) มูลค่าประมาณ 596 ล้านบาท(คำสั่ง ย.240/2566)


1.2.5 รายคดี บริษัท วัน บ็อกซ์ โฮม จำกัด กับพวก พฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดเกี่ยวกับการยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญาและการยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ กรณีไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาร่วมผลิตและกระจายสินค้า ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเบียดบังกล่องสัญญาณดิจิตอลและอุปกรณ์ซึ่งเหลือจากการที่ประชาชนนำคูปองไปแลกและนำเข้าระบบของสำนักงาน กสทช. โดยไม่คืนกล่องสัญญาณดิจิตอลทีวีและอุปกรณ์ แต่กลับนำไปขายทางอินเทอร์เน็ต โดยคณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการ เพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 23 รายการ (เช่น ที่ดิน กองทุนและเงินในบัญชีเงินฝาก) มูลค่าประมาณ 186 ล้านบาท (คำสั่ง ย.252/2566)

ทั้งนี้ ในคดีความผิดที่เกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน หรือการฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ หรือความผิดที่มีผู้เสียหายในคดีรายอื่นๆ สำนักงาน ปปง. อยู่ระหว่างรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้เสียหาย เพื่อดำเนินการคุ้มครองสิทธิฯ โดยให้บุคคลที่ได้รับความเสียหายในรายคดีที่เกี่ยวข้องยื่นคำร้องพร้อมหลักฐานแสดงรายละเอียดแห่งความเสียหายและจำนวนความเสียหายที่ได้รับต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานปปง. ภายในระยะเวลา 90 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามแต่คดี โดยผู้เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบข้อมูลได้จากเว็บไซต์สำนักงานปปง. (www.amlo.go.th)


อนึ่ง โดยที่การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 เป็นมาตรการทางแพ่งมิใช่โทษทางอาญา และการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับ  คำสั่งยึดหรืออายัดเป็นการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ อันเป็นการแจ้งให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบและให้ผู้ที่เป็นเจ้าของหรือมีส่วนได้เสียที่ถูกกระทบสิทธิจากคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินสามารถเข้ามาโต้แย้งเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งยึดหรืออายัด อีกทั้งเป็นการป้องกันมิให้บุคคลภายนอกผู้สุจริตเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือ    กระทำการใดๆ ต่อทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดซึ่งมีความเสี่ยงที่จะกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวอีกด้วย

(2) พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 (พ.ร.ก.)

สำนักงาน ปปง. ได้มีส่วนร่วมในการผลักดันการออก พ.ร.ก. และถือเป็นหน่วยงานหลัก    ที่ขับเคลื่อนภารกิจตาม พ.ร.ก. ดังกล่าว โดยเลขาธิการ ปปง. ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และมีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือของ พ.ร.ก. ระหว่าง 5 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติกรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงาน ปปง. และธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน และยังดําเนินการร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center : AOC) ซึ่งเป็นศูนย์ที่จัดตั้งขึ้นเป็นระบบ One Stop Service สําหรับประชาชนในการติดตามสถานการณ์ สั่งการ ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามภัยออนไลน์อย่างบูรณาการและทันเวลา รวมถึงให้คําปรึกษาและแก้ปัญหาภัยออนไลน์สําหรับประชาชน โดยก่อนที่ พ.ร.ก. จะมีผลบังคับใช้นั้น สำนักงาน ปปง. ได้ดำเนินการมาตรการเชิงป้องกันนำร่องไปก่อน โดยออกประกาศสํานักงาน ปปง. เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณากําหนดหรือทบทวนรายชื่อบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงซึ่งควรได้รับการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดตามกฎกระทรวงการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2565 โดยพิจารณากําหนดรายชื่อบุคคลผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทําความผิดมูลฐานหรือเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากธนาคารที่ถูกใช้ในการกระทําความผิดมูลฐาน และนําฐานข้อมูลดังกล่าวเข้าสู่ระบบตรวจสอบรายชื่อบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงด้านการฟอกเงินและรายชื่อบุคคลที่ถูกกําหนด (AMLO Person Screening System: APS) เพื่อให้ธนาคารสามารถดําเนินมาตรการในเชิงป้องกันและปราบปรามด้านการฟอกเงินหรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายหรือการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทําลายล้างสูงได้อย่างต่อเนื่อง โดยใช้มาตรการในการจำกัดช่องทาง      การทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของบุคคลตามรายชื่อดังกล่าว อันเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ร้ายทำธุรกรรมทางออนไลน์ได้ ปัจจุบันผลการดําเนินการพิจารณากําหนดรายชื่อบุคคล กรณีบัญชีม้า ดังนี้               รหัส HR-03-1 จํานวน 5,583 รายชื่อ จํานวนบัญชีที่ธนาคารตรวจพบและแจ้งกลับ 52,059 หมายเลขบัญชี มูลค่าเงินคงเหลือในบัญชีรวมทั้งสิ้น 198,130,551.03 บาท และรหัส HR-03-2 จํานวน 24,640 รายชื่อ จํานวนบัญชีที่ธนาคารตรวจพบและแจ้งกลับ 233,289 หมายเลขบัญชี มูลค่าเงินคงเหลือในบัญชีรวมทั้งสิ้น 625,364,530.86 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567)

นอกจากนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้มีมติให้พิจารณากำหนด “รายชื่อเจ้าของบัญชีที่ถูกแจ้งเหตุว่า ได้มีการใช้บัญชี หรืออาจถูกใช้บัญชี หรือมีพฤติกรรมในการ ใช้บัญชี หรือทำธุรกรรมที่เข้าข่ายหรือเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี” เป็นบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงตามประกาศสำนักงาน ปปง. เพื่อดำเนินการกับบัญชีม้าแถว 1 แล้วจากนั้นธนาคารเจ้าของบัญชีของผู้เสียหายมีหน้าที่ตรวจสอบบัญชีม้าแถว 1 ที่ผู้เสียหายโอนเงินไปและรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องตามที่สำนักงาน ปปง. กำหนด ส่งให้ศูนย์ AOC 1441 โดยเร็ว เพื่อแจ้งให้สำนักงาน ปปง. ดำเนินการตามประกาศสำนักงาน ปปง. ต่อไป

อนึ่ง สำหรับผู้เปิดบัญชีม้าจะมีความผิดตาม มาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.  โดยมีโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี หรือปรับสูงสุด 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงผู้ที่เป็นธุระจัดหาหรือโฆษณาให้มีการซื้อขายบัญชีม้า จะมีความผิดตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.ก. มาตรการฯ โดยมีโทษจำคุกสูงสุด5 ปี หรือปรับสูงสุด 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งอาจจะมีความผิดฐานฟอกเงินตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี ปรับสูงสุด 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับด้วย และในกรณีที่สำนักงาน ปปง. ตรวจสอบพบการกระทำความผิดดังกล่าว จะดำเนินการกล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดต่อไปอีกด้วย
 
ขณะที่นายเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงาน ปปง. จะยกระดับการบังคับใช้มาตรการด้านการป้องกันตาม พ.ร.ก. อย่างเข้มข้นขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน โดยจะใช้มาตรการที่เข้มงวดตามกรอบของกฎหมายในการกำกับดูแลผู้หน้าที่รายงานธุรกรรมตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และหากพบว่ามีการฝ่าฝืนจะมีมาตรการบังคับโทษอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพบว่าปล่อยปละละเลยให้มีการเปิดบัญชีและใช้บัญชีม้าโดยขาดมาตรการที่รัดกุม โดยในกรณีที่สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวพบเหตุสงสัยว่าบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ใดถูกใช้หรืออาจถูกใช้ทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน นอกจากต้องระงับการทำธุรกรรมตามมาตรา 6 ของ พ.ร.ก. แล้ว ต้องรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยมายังสำนักงาน ปปง. ด้วย เพื่อสำนักงาน ปปง. จะได้ดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินและติดตามเงินไปคืนให้ผู้เสียหายต่อไป

 (3) การคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในความผิดมูลฐานและผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัด (3.1 )การคุ้มครองรักษา​ผู้เสียหายความผิดมูลฐานสำนักงาน ปปง. ได้แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายมาตรา 49 วรรคหก (แก้ไขเพิ่มเติมในปี พ.ศ. 2558) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ในปี พ.ศ. 2565 โดยกำหนดบทบัญญัติมาตรา 49/1 เพื่อให้สำนักงาน ปปง. สามารถดำเนินการเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายได้ทุกประเภทความเสียหาย รวมถึงกำหนดให้มีการออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติงานให้เกิดความชัดเจนต่อไปด้วยโดยกฎกระทรวงดังกล่าวคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันอังคารที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา เนื่องจากมีปัญหาข้อขัดข้องในการปฏิบัติงานตามกฎหมายอังกล่าวใน 2 ประการที่สำคัญ ดังนี้ 1) มาตรา 49 วรรคหก กำหนดให้คุ้มครองสิทธิได้เฉพาะความเสียหายต่อทรัพย์สินเท่านั้น สำนักงาน ปปง. จึงไม่สามารถดำเนินการคุ้มครองสิทธิผู้ได้รับความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ เสรีภาพ อนามัย หรือชื่อเสียง อันเนื่องมาจากการกระทำความผิดมูลฐานได้ 2) มาตรา 49 วรรคหก ไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข รวมถึงกรอบระยะเวลาดำเนินการที่ชัดเจนเพียงพอที่จะใช้เป็นแนวทางปฏิบัติงานให้กับพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ปปง. ในการพิจารณารวบรวมข้อเท็จจริง กำหนดค่าเสียหาย และเก็บรักษาและการจัดการทรัพย์สินเพื่อนำไปคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหาย ทำให้เกิดข้อขัดข้องในการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

ผลจากการแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติมดังกล่าว ทำให้ผู้เสียหายในความผิดมูลฐานสามารถยื่นคำร้องต่อสำนักงาน ปปง. เพื่อขอให้คุ้มครองสิทธิที่ตนได้รับความเสียหายอันเป็นผลจากการกระทำความผิดมูลฐานได้ ซึ่งปัจจุบันมีคดีสำคัญๆ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายหลายคดี เช่น คดีหุ้น More คดีหุ้น STARK เป็นต้นการคุ้มครองสิทธิผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 กำหนดให้สิทธิผู้รับโอนทรัพย์สิน หรือผู้รับจำนองทรัพย์สินโดยสุจริต สามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินดังกล่าวมาคุ้มครองสิทธิของตนได้ก่อนที่จะริบให้ตกเป็นของแผ่นดิน แต่บทบัญญัติดังกล่าวไม่เปิดช่องให้ “ผู้มีส่วนได้เสีย” ในลักษณะอื่นให้สามารถร้องขอให้คุ้มครองสิทธิได้ เช่น กรณีผู้ทำสัญญาจะซื้อทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดโดยสุจริตและได้ชำระเงินมัดจำให้ผู้จะขายไว้แล้ว ฯลฯ ในโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมของบริษัท กีธา พร็อพเพอร์ตี้ส์ จำกัด                   ทำให้ผู้สุจริตดังกล่าวได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมาย ด้วยเหตุนี้ ในปี พ.ศ. 2565 จึงได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติดังกล่าว เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินสามารถร้องขอต่อศาลให้คุ้มครองสิทธิของตนได้

สำหรับกรณีของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมของบริษัท กีธา พร็อพเพอร์ตี้ส์ จำกัด  ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับบริษัทหรือผู้ที่รับเหมาก่อสร้างอาคารคอนโดฯ แม้จะเป็น กลุ่มบุคคลที่ได้รับผลกระทบก่อนการแก้ไขกฎหมายในปี พ.ศ. 2565 แต่สำนักงาน ปปง. มีแนวทางเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบไว้แล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างส่งเรื่องไปประกาศราชกิจจานุเบกษาเพื่อรวบรวมรายชื่อผู้ที่ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับบริษัทที่อาจตกหล่นบางรายและผู้ที่รับเหมาก่อสร้างอาคารคอนโดฯ ทั้งหมด ก่อนจะดำเนินการคืนเงินแก่ผู้ที่มีส่วนได้เสียตามขั้นตอนต่อไป ”เลขา ปปง.กล่าว“

#Thaitabloid #สำนักข่าวไทยแทบลอยด์ #ปปง