“รถไฟฟ้า”ล้อหลุด-รางร่วงสะท้อนมาตรฐานการสร้างหวั่นค่าต๋งสูง-คุณภาพเลยลด..??!!

918

             จั่วหัวแบบนี้ไม่ได้มีอคติกับรถไฟฟ้าที่สร้างกันทั่วเมืองกรุงและปริมณฑลแต่อย่างใด กลับดีใจที่ทำให้การเดินทางมีทางเลือกมากขึ้น

            แต่รถไฟฟ้าสร้างเสร็จเปิดทดลองวิ่งให้บริการไม่ถึง 2 เดือน เกิดอุบัติเหตุชวนสยองถึง 2 ครั้ง จึงอดหวั่นใจไม่ได้ว่าเป็นเพราะพวกอนุมัติเก็บค่าต๋งแพงไปหรือเปล่า ?

          อุบัติเหตุครั้งแรกเช้ามืดวันที่ 24 ธันวาคม 2566 รางจ่ายกระแสไฟฟ้า ของระบบขนส่งสายสีชมพู หรืน้องนมเย็น ช่วงแคลาย-มีนบุรี ท่อนอะลูมิเนียม ขนาดกว้าง 4 นิ้ว หนา 2 นิ้ว พังถล่มร่วงเป็นแนวยาวช่วงหน้าตลาดชลประทาน ไปถึงสี่แยกแคราย อ.ปากเกร็ด นนทบุรี

         ส่งผลให้รถชาวบ้านที่จอดใต้แนวรถไฟฟ้าที่มาจ่ายตลาดเสียหาย 3 คัน เสาไฟหักโค่น 1 ต้น ไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต

      นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่ากากระทรวงคมคมนาคม บอกว่า เกิดจากดึงเสาเหล็กเข็มพืดหรือซีตไพล์ ของโครงการระบบสาธารณูปโภคด้านล่างของโครงการรถไฟฟ้าออก เป็นขั้นตอนการก่อสร้างเมื่องานเสร็จ อาจมีเหตุการณ์ทำให้ระดับของรางนำไฟฟ้าไม่อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง ส่งผลให้เมื่อมีตัวรับกระแสไฟฟ้าที่ติดกับตัวรถตรวจความพร้อมของเส้นทาง เคลื่อนที่ไปกระแทก

  “ส่งผลให้เกิดการขยับตัวของรางนำไฟฟ้า ออกจากจุดยึดแล้วร่วงลงมาด้านล่างบนถนนบางส่วนประมาณ 300 เมตรและส่วนใหญ่ติดค้างอยู่บนโครงสร้างระยะทางยาวประมาณ 4.3 กิโลเมตร”นายสุริยะระบุ

   อุบัติเหตุครั้งที่ 2 เกิดวันเริ่มทำงานรับปีใหม่ 2567 ช่วงเย็นวันที่  2 มกราคม ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีเหลืองหรือน้องเก๊กฮวย กำลังวิ่งเข้าสถานีศรีเทพา ถนนเทพารักษ์ มุ่งหน้าแยกศรีเทพา ต.เทพารักษ์ อ.เมือง สมุทรปราการ ล้อรถไฟฟ้าหลุดร่วงลงกระแทกพื้นถนนแล้วกระเด้งใส่ฝากระโปรงรถแท็กซี่ ขณะวิ่งอยู่ใต้รางรถไฟฟ้า

          ตำรวจไปตรวจสอบพบว่าล้อรถไฟฟ้าตกอยู่ 1 ล้อ ส่วนขบวนรถไฟฟ้าที่ล้อหลุดได้วิ่งกลับไปสถานีต้นทาง โชคดีที่ยังอยู่ในช่วงเทศกาลปีใหม่หลายบริษัทยังหยุด การจราจรไม่หนาแน่นเลยไม่มีใครเจ็บหรือตาย    

         แต่ถ้าอยู่ในช่วงทำงานตามปกติ คงโชคร้ายอาจจะโดนรถหลายคันเสียหายและอาจจะมีคนเจ็บและตายกันแบบไม่คาดฝันว่าจะมีล้อรถไฟฟ้าตกใส่ ไทยอาจจะเป็นชาติเดียวในโลกที่มีรถไฟฟ้าใช้แล้วล้อหลุดตกลงพื้นข้างล่าง

        โดยทางบริษัทผู้รับสัมปทานโครงการฯชี้แจงว่าเกิดจากเบ้าลูกปืนของล้อประคองรถเสียหายทำให้ล้อหลุดร่วงลงมา รถประสบเหตุเป็นขบวนใหม่มีการตรวจสอบและซ่อมบำรุงตามรอบโดยปกติ

        แต่ที่น่าปวดหัวที่สุดคือไม่สามารถที่จะลงโทษหรือเอาผิดกับบริษัทผู้รับสัมปทานโครงการฯได้เลย ซึ่ง นายสุริยะบอกว่าลงโทษให้หยุดรถได้เท่านั้น เรื่องปรับเพื่อให้บริษัทฯจ่ายค่าเสียหายในสัญญาไม่มี

        นี่เพียงแค่ทดลองวิ่ง ระบบยังมีปัญหาทำให้เกิดอุบัติเหตุชวนสยอง สร้างความหวาดผวาให้กับผู้ที่อยากใช้บริการจำนวนไม่น้อยแน่นอน

    ดังนั้นที่จั่วหัวว่าหวั่นเก็บค่าต๋งสูง คุณภาพเลยลดด้วยนั้น ประเมินจากประสบการณ์ที่อยู่ในสนามข่าวมากว่า 30 ปี ทำข่าวโครงการหลายพันล้านหลายหมื่นล้าน ที่รัฐเปิดให้เอกชนเข้าสัมปทานหรือเข้าประมูลงานก่อสร้าง มาหลายโครงการ 

      พอถึงบทสรุปสุดท้ายบางโครงการล้มเหลวบริษัทรับเหมาไม่สามารถเดินหน้าก่อสร้างได้ เพราะต้องจ่ายค่าต๋งให้รัฐมนตรี เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องในราคาสูง พอทำงานไปสักระยะสเปคของเริ่มผิดเพี้ยนจากแบบ พอเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่ใช่พวกเข้าตรวจสอบต้องจ่ายค่าต๋งเพิ่มอีก ยอมทิ้งงานดีกว่าเพราะพอมีเงินติดกระเป๋าบ้าง กว่ารัฐจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายใช้เวลานาน สามารถที่จะนำเงินไปทำธุรกิจอื่นได้อีก

    บางโครงการเมื่อทำสัญญาแล้วสร้างไม่เสร็จรัฐบาลกลับต้องควักเงินภาษีชาวบ้านจ่ายค่าโง่ให้บริษัทอีกต่างหาก ทั้งที่บริษัทรับเงินส่วนใหญ่ไปจากโครงการแล้ว บริษัทเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีพวกนักการเมืองเอี่ยวหรือหนุนหลังแทบทั้งสิ้น

      กรณีรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง มูลค่าก่อสร้างและสัมปทานหลายหมื่นล้าน แต่ทดลองวิ่งไม่ถึง 2 เดือนเกิดอุบัติเหตุชวนสยองส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่เสียแล้ว เกิดจากทั้งระบบการก่อสร้างและตัวรถไฟฟ้าเอง

       เมื่อมองถึงองค์ประกอบของอุบัติเหตุ บวกความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจในการเปิดประมูลหรือสัมปทานงานรัฐที่ผ่านมา อดหวั่นใจไม่ได้ว่าช่วงเปิดประมูลและให้สัมปทานผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีหรือข้าราชการประจำเรียกเก็บค่าต๋งแพงเกินจริงไปหรือเปล่า ?

    เพราะอุบัติเหตุที่เกิดกับรถไฟฟ้าทั้งสองสายและสัญญาที่ระบุว่าไม่มีบทลงโทษหรือค่าปรับใดๆเมื่อเกิดเหตุ น่าจะเป็นใบเสร็จพอที่จะชวนให้สงสัยได้จริงๆ