วันนี้ (16 พ.ย. 66) เวลา 13.30 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) แถลงข่าวการจัดกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด “รวมพลังหยุดความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว” (Unite for the Prevention of Violence against Women and Children) เนื่องในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว เพื่อการรณรงค์สร้างกระแสสังคมในการการรับรู้ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ช่องทางต่างๆ ให้เกิดความตระหนักต่อประเด็นปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว รวมทั้งกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการรณรงค์ สนับสนุน และจัดกิจกรรมด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ณ บริเวณโถง ชั้น 1 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
นายวราวุธ กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี บุคคลในครอบครัว และความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ เป็นปัญหาสำคัญที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ ซึ่งผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่มักจะเป็นเด็กและสตรี โดยในสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ตามระบบฐานข้อมูลความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ภายใต้ www.violence.in.th พบว่า เหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ปี 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,264 เหตุการณ์ โดยมีประเภทเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมากที่สุด คือ การทำร้ายร่างกาย จำนวน 996 เหตุการณ์ คิดเป็นร้อยละ 54.25 รองลงมา คือ ดุด่า/ดูถูก จำนวน 344 เหตุการณ์ และหยาบคาย/ตะคอก/ประจาน/ขู่/บังคับ จำนวน 300 เหตุการณ์ ตามลำดับ โดยผู้หญิงเป็นผู้ถูกกระทำมากที่สุด จำนวน 896 ราย คิดเป็นร้อยละ 77.98 ของผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงทั้งหมด (ข้อมูลในปี 2566 ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2566) ทั้งนี้ ปัญหาความรุนแรงไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ในระดับปัจเจกบุคคลต่อผู้ถูกกระทำเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อครอบครัว และส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวมอีกด้วย
นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ กระทรวง พม. โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด “รวมพลังหยุดความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว” (Unite for the Prevention of Violence against Women and Children) โดยมีการจัดกิจกรรมสำคัญ 2 กิจกรรม ได้แก่ 1) กิจกรรม “ติดเข็มกลัดริบบิ้นสีขาวแก่นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี” เพื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์ในการกระตุ้นเตือนให้สังคมตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว รวมทั้ง กระตุ้นให้ทุกภาคส่วนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการรณรงค์ โดยใช้ “ริบบิ้นสีขาว” (White Ribbon) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สากลในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การจัดกิจกรรมรณรงค์อย่างต่อเนื่องทุกปี ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ระหว่างเวลา 07.30 – 09.00 น. ณ ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ และ 2) กิจกรรม “รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว” ซึ่งมีภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน ศิลปินดารา นักเรียน นักศึกษา เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และประชาชนทั่วไป ร่วมเดินขบวนรณรงค์เชิงสัญลักษณ์ เพื่อรวมพลังยุติความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2566 ระหว่างเวลา 15.30 – 20.30 น. ณ จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ 1) กิจกรรมเดินรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว เริ่มจากโรงเรียนสุพรรณภูมิ ถึงสวนเฉลิมภัทรราชินี (หอคอยบรรหาร – แจ่มใส) และ 2) กิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ประกอบด้วย พิธีเปิดกิจกรรม และพิธีมอบโล่รางวัลเชิดชูเกียรติแก่บุคลากรและหน่วยงานที่สนับสนุนและส่งเสริมการยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ประจำปี 2566 เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติและสร้างขวัญกำลังใจในการเป็นแบบอย่างที่ดีต่อสังคมในการสนับสนุนและส่งเสริมการยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว และการแสดงต่างๆ จากโรงเรียนในพื้นที่
นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในนามของกระทรวง พม. ขอขอบคุณสื่อมวลชนที่เป็นพลังหลักในการสื่อสารข่าวสาร และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ให้ประชาชนได้รับทราบ รับรู้ และตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาอย่างมากมาย พร้อมทั้งขอขอบคุณภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมรณรงค์ร่วมกันในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงมาโดยตลอด ซึ่งหวังว่าเราจะร่วมกันยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว เพื่อความมั่นคงและความสงบสุขของสังคมไทย