เคทีซีเปิดงบการเงินรวมของบริษัทฯ และบริษัทย่อยครึ่งปีแรก กำไรสุทธิ 3,678 ล้านบาท ในขณะที่กำไรสุทธิไตรมาส 2/2566 เท่ากับ 1,806 ล้านบาท พอร์ตสินเชื่อทุกผลิตภัณฑ์เติบโตตามเป้าหมาย โดยมูลค่าพอร์ตรวมอยู่ที่ 105,589 ล้านบาท เติบโต 11.1% ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรขยายตัวที่อัตรา 16.3% หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ มั่นใจสามารถทำกำไรทั้งปีได้ตามเป้าหมาย
นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “อุตสาหกรรมสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคขยายตัวดีต่อเนื่อง จากความต้องการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับดีขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจ โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 เคทีซีมีสัดส่วนของลูกหนี้บัตรเครดิตเทียบกับอุตสาหกรรมเท่ากับ 14.9% ส่วนแบ่งตลาดของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเคทีซีอยู่ที่ 12.2% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2565 และมีสัดส่วนของลูกหนี้สินเชื่อบุคคล (ไม่รวมสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน) เทียบกับอุตสาหกรรมเท่ากับ 6.2%”
“ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา เคทีซีมีผลการดำเนินงานน่าพอใจในหลายด้าน ทั้งการเติบโตของพอร์ตรวมที่เป็นไปตามเป้าหมาย ด้วยมูลค่า 105,589 ล้านบาท เติบโต 11.1% และยังคุมระดับ NPL ได้ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนที่ 2.0% สำหรับพอร์ตบัตรเครดิตยังคงขยายตัวได้ดีด้วยอุปสงค์ในประเทศ ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรดีดตัวสูงขึ้นมาก ขณะที่พอร์ตสินเชื่อบุคคลขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ยังเน้นการคัดกรองคุณภาพสินเชื่อบุคคลผ่านกระบวนการอนุมัติที่เข้มข้น โดยจะคัดเลือกสมาชิกที่มีความเสี่ยงเหมาะสมกับระดับอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคลที่กำหนดไว้ สำหรับสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” มีกระแสตอบรับดีขึ้นทุกเดือน แม้จำนวนที่เข้ามาจะช้ากว่าที่ประมาณการ แต่ได้พอร์ตที่มีคุณภาพ ทำให้มั่นใจว่า “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” จะสามารถสร้างฐานรายได้ที่เติบโตอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต”
“สำหรับครึ่งหลังของปี 2566 “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” จะมีปริมาณการเพิ่มยอดลูกค้าใหม่ (New Booking) แบบทวีคูณ พิจารณาจากอัตราเร่งของการเพิ่มลูกหนี้ใหม่ในปัจจุบัน การเติบโตของพอร์ตบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ สำหรับ NPL อยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวล
เพราะบริษัทฯ ยังสามารถบริหารจัดการได้ ทำให้บริษัทฯ มั่นใจว่าจะสามารถทำกำไรทั้งปีได้ตามเป้าหมายที่มากกว่า 7,079 ล้านบาท พอร์ตลูกหนี้สิ้นเชื่อรวมเติบโต 15% ปริมาณใช้จ่ายผ่านบัตรเติบโต 10% พอร์ตลูกหนี้สินเชื่อบุคคลเติบโต 7%”
“ผลการดำเนินงานของเคทีซีในช่วงครึ่งปีแรก สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2566 เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 งบการเงินรวมมีกำไรสุทธิครึ่งปีแรกและไตรมาส 2/2566 เท่ากับ 3,678 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 1.0%) และ 1,806 ล้านบาท (ลดลง 4.6%) ตามลำดับ งบการเงินเฉพาะกิจการของเคทีซี มีกำไรสุทธิครึ่งปีแรก และไตรมาส 2/2566 เท่ากับ 3,648 ล้านบาท และ 1,805 ล้านบาท ตามลำดับ ฐานสมาชิกรวม 3,358,994 บัญชี เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับรวม 105,589 ล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวม (NPL) 2.0% แบ่งเป็นพอร์ตสมาชิกบัตรเครดิต 2,605,984 บัตร เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้บัตรเครดิตและดอกเบี้ยค้างรับรวม 68,664 ล้านบาท ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรครึ่งปีแรกเท่ากับ 127,644 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.3% NPL บัตรเครดิตอยู่ที่ 1.2% พอร์ตสมาชิกสินเชื่อบุคคลเคทีซี 753,010 บัญชี เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้บัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” และดอกเบี้ยค้างรับ 31,727 ล้านบาท เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” เท่ากับ 1,658 ล้านบาท NPL สินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 3.0% ยอดสินเชื่อลูกหนี้ใหม่ (New Booking) ของ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” ในรอบครึ่งแรกของปี 2566 เท่ากับ 1,132 ล้านบาท โดยยอดการปล่อยสินเชื่อใหม่มีกระแสตอบรับที่ดีขึ้นในทุกเดือน”
“ผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทฯ ในไตรมาส 2/2566 มีการเติบโตในรายได้รวมที่ 8.8% เท่ากับ 6,240 ล้านบาท จากรายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้น 18.7% เท่ากับ 3,988 ล้านบาท ส่วนหนึ่งจากการขยายตัวของพอร์ต ทำให้มี NPL เพิ่มขึ้นบ้าง ส่งให้ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss – ECL) เพิ่มขึ้น รวมถึงการตัดหนี้สูญเพิ่มขึ้นด้วย ส่วนของต้นทุนทางการเงินสูงขึ้นเล็กน้อย ตามการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงิน ทั้งนี้ ข้อมูลวันที่ 30 มิถุนายน 2566 เคทีซีมีวงเงินกู้ยืมทั้งสิ้นเท่ากับ 35,371 ล้านบาท เป็นวงเงินกู้ยืมระยะสั้น 29,371 ล้านบาท (รวมวงเงินจากธนาคารกรุงไทย 19,061 ล้านบาท) และวงเงินกู้ยืมระยาวจากธนาคารกรุงไทย 6,000 ล้านบาท โดยมีวงเงินคงเหลือ (Available Credit Line) จำนวน 20,480 ล้านบาท ต้นทุนการเงิน 2.6% และอัตราส่วนของหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 2.18 เท่า ต่ำกว่าภาระผูกพันซึ่งกำหนดไว้ที่ 10 เท่า”
“เคทีซียังได้ดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ตามแนวทางการบริหารจัดการด้านการให้สินเชื่ออย่างเป็นธรรม โดยข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 บริษัทฯ ได้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ในทุกสถานะตามประกาศ ธปท. ฝคง.ว.951/2564 จำนวน 1,876 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.9% ของพอร์ตลูกหนี้รวม”
“สืบเนื่องจากวันนี้ (21 กรกฎาคม 2566) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เผยแพร่ “มาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน” เพื่อเป็นทางออกในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนในระยะยาว โดยอันดับแรกธปท. จะออกมาตรการกำหนดเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending: RL) สำหรับลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียให้ได้รับความช่วยเหลืออย่างเหมาะสม ทันเวลา มีคุณภาพและเพียงพอ ในส่วนของลูกหนี้ใหม่ต้องไม่โฆษณากระตุ้นให้เกิดการ
กู้ยืมอย่างเกินตัว ซึ่งธปท. จะบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2567”
“สำหรับหนี้ปกติที่เป็นหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt: PD) จะสร้างทางเลือกให้ลูกหนี้สามารถปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ปิดจบการเป็นหนี้ได้ ซึ่งธปท. มุ่งให้ความสำคัญกับลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล ที่เป็นสินเชื่อหมุนเวียนที่มีรายได้ไม่เกิน 20,000 บาทต่อเดือน และมีเกณฑ์การบ่งชี้ว่าลูกหนี้ดังกล่าวมีการจ่ายดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งธปท. จะให้มีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน 2568 นั้น เคทีซีจะให้ทางเลือกแก่ลูกหนี้ที่สนใจ สามารถเปลี่ยนสินเชื่อหมุนเวียนมาเป็นแบบมีระยะเวลา (Term Loan) และให้คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปี โดยจะกำหนดให้การผ่อนชำระสามารถปิดจบภายใน 5 ปี ซึ่งลูกหนี้ต้องสมัครใจเข้าร่วมโครงการด้วยตนเองและปิดวงเงินเดิมที่มีอยู่ โดยเคทีซีได้ประเมินผลกระทบต่อมาตรการดังกล่าว หากลูกหนี้เคทีซีที่เข้าเกณฑ์ทุกรายเข้าร่วมโครงการฯ จะมีผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยลดลงประมาณ 18 ล้านบาทต่อเดือน”