ที่จังหวัดนราธิวาส วัน 16 มกราคม นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรมไกล่เกลี่ยช่วยลูกหนี้ “มีอยู่ มีกิน มีใช้” โดย กระทรวงยุติธรรม ตามคำเชิญของ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ณ ลานพิกุล มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จังหวัดนราธิวาส และพบปะนักศึกษาและผู้ปกครอง ที่เข้าร่วมงานฯ กว่า 2,000 คน โดยมี นายกูเฮง ยาวอหะซัน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดน (ศอ.บต.), ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส, แม่ทัพภาคที่ 4, อธิบดีกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม, อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม, หัวหน้าหน่วยราชการในสังกัดกระทรวงยุติธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้, องค์กรปกครองท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้, คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชาติ ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ร่วมให้การต้อนรับ
นางสาวแพทองธาร กล่าวว่า “ในนามของรัฐบาลขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มาไกล่เกลี่ยปรับโครงสร้างหนี้ ในวันนี้ ถือเป็นการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติก่อให้เกิดประโยชน์แก่พี่น้องประชาชน ตามนโยบายเร่งด่วน ข้อแรกที่รัฐบาลจะผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจซึ่งจะเห็นได้ว่า เศรษฐกิจไทยยังเติบโตน้อยกว่าศักยภาพที่มีอยู่จริง อันเนื่องมาจากปัญหาหนี้สินเรื้อรัง ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงขึ้นทุกที เราจะเปลี่ยนความท้าทายให้กลายเป็น ความหวัง โอกาส และความเสมอภาคทางเศรฐกิจและสังคม อย่างไรก็ตาม ดิฉันขอฝากไปยังท่านเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งหารือส่วนราชการที่เกี่ยวข้องว่าจะทำอย่างไร ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการไกล่เกลี่ยปรับโครงสร้างหนี้ โดยไม่ต้องเดินทางมายังจังหวัด อาจจะใช้เทคโนโลยีสารสนเทศหรือ AI เขามาช่วย หรือมอบอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นหน่วยงานราชการที่ใกล้ชิดพี่น้องประชาชนมากที่สุด เป็นหน่วยรับเรื่องเพื่อปรับโครงสร้างหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) ได้ อีกทั้ง จะได้เป็นพื้นที่ต้นแบบในการที่จะนำไปปรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือนประเภทอื่น ๆ เช่น กลุ่มสินเชื่อบ้านและรถ ที่รัฐบาลพยายามผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้เช่นกัน”
ด้าน พันตำรวจโท วรรณพงษ์ กล่าวว่า ในนามข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอขอบคุณ นายกรัฐมนตรีที่ให้เกียรติมาเป็นประธานพิธีในครั้งนี้ ปัจจุบันปัญหาหนี้ครัวเรือน ถือเป็นปัญหาใหญ่ของประชาชน ทั้งที่เป็นหนี้ในระบบและนอกระบบ นักศึกษาเรียนจบมายังไม่มีงานทำก็มีหนี้ติดตัวแล้ว หลายคนรายได้ไม่พอกับรายจ่าย รวมไปถึงผู้ปกครอง ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันด้วย ส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถหลุดพ้นจากความยากจนได้ สำหรับในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น หนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ถือเป็นหนี้ลำดับต้นๆ ของพื้นที่ที่เข้าสู่กระบวนการบังคับคดี และทรัพย์โดยส่วนใหญ่ที่ถูกนำมาขายทอดตลาดนั้นเป็นทรัพย์ของผู้ค้ำประกัน สะท้อนให้เห็นถึงข้อพิพาททางแพ่งที่เป็นปัญหาของพื้นที่
”การจัดมหกรรมในวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เปิดโอกาสให้ลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) ที่ยังไม่ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ ได้มาไกล่เกลี่ยปรับโครงสร้างหนี้ หลังจากไกล่เกลี่ยปรับโครงสร้างหนี้แล้วจะส่งผลให้สัญญาเป็นไปตามกฎหมายใหม่ คำนวณอัตราดอกเบี้ยใหม่ ไม่เกินร้อยละ 1 ต่อปี ขยายระยะเวลาผ่อนชำระเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มที่เคยเกิดขึ้นในอดีตจะพักแขวนไว้ ไม่เอามารวมในสัญญาเป็นทุนทรัพย์ จะคำนวนเฉพาะดอกเบี้ยและเงินต้นคงเหลือ ถ้าผ่อนหมดเบี้ยปรับที่พักแขวนเอาไว้จะยกให้ ผู้ค้ำประกันจะหลุดพ้นจากสัญญากู้ยืม รวมถึงลูกหนี้ที่เคยชำระหนี้มาก่อนทั้งตรงตามงวดหรือผิดนัดชำระหนี้ ก็จะนำยอดหนี้ทั้งหมดมาคำนวณใหม่คำนวณย้อนหลังให้ โดยคำนวณเงินเพิ่มหรือเบี้ยปรับจากเดิมร้อยละ 7.5 ต่อปี ลดเหลือร้อยละ 0.5 ต่อปี ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการไกล่เกลี่ยปรับโครงสร้างหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาเป็นประโยชน์แก่ประชาชนอย่างมากในการแก้ไขโครงสร้างหนี้ ลดภาระรายจ่าย ทำให้ประชาชนมีความสามารถในการชำระหนี้มากยิ่งขึ้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ประชาชน มีอยู่ มีกิน มีใช้ ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล“ เลขา ศอ.บต. กล่าว
สำหรับงานมหกรรมไกล่เกลี่ยช่วยลูกหนี้ “มีอยู่ มีกิน มีใช้” จัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือ ระหว่างกระทรวงยุติธรรม โดย กรมบังคับคดี และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ร่วมกับ ศอ.บต. และ กยศ. ร่วมกันเชิญชวนลูกหนี้ กยศ. เข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยเหลือประชาชน ซึ่งมีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา โดยลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับสิทธิประโยชน์ คือ การปลดภาระผู้ค้ำประกัน, ขยายการผ่อนชำระรายเดือนสูงสุด 15 ปี ชำระเสร็จตามสัญญาลดเบี้ยปรับร้อยละ 100 ดอกเบี้ยร้อยละ 1 เบี้ยปรับร้อยละ 0.5 ส่วนกรณีผู้กู้ยืมที่ถูกบังคับคดี กยศ. จะงดการบังคับคดี และผู้ค้ำประกันถูกบังคับคดี กยศ. จะถอนการบังคับคดี และจากผลการดำเนินงานภาพรวมในปี 2567 ลูกหนี้ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ได้เข้าร่วมทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แล้ว 33,123 ราย ทำให้งานมหกรรมไกล่เกลี่ยช่วยลูกหนี้ฯ สามารถช่วยแก้ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน, หนี้ กยศ. และเป็นการระงับข้อพิพาททางเลือกได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งช่วยยุติปัญหาได้โดย ไม่จำเป็นต้องขึ้นศาล และเพื่อให้ผู้กู้ยืมสามารถชำระเงินคืนกองทุนได้อย่างต่อเนื่องจนหมด