SCB CIO มองความกังวลเศรษฐกิจถดถอยกลับมาอีกครั้งหลังความตึงเครียดภาคการเงินสหรัฐฯและยุโรป ผนวกดอกเบี้ยสูง แนะเพิ่มพันธบัตรรัฐบาลในพอร์ตเพื่อป้องกันความเสี่ยง

115

SCB CIO คาดการณ์ประเด็นความกังวลด้านเศรษฐกิจถดถอย (Recession concern) โดยเฉพาะในสหรัฐฯ จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี 2566 พร้อมคงมุมมองว่า Fed ECB และธปท. จะหยุดขึ้นดอกเบี้ยในไตรมาสที่ 2 แต่ไม่น่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในปีนี้ แนะนำนักลงทุนป้องกันความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย ด้วยการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลในพอร์ต ส่วนสินทรัพย์เสี่ยง แนะนำลงทุน REITs สิงคโปร์และไทย จากค่าเช่าและอัตราการเช่าฟื้นตัว ขณะที่การลงทุนในหุ้นโดยรวมยังมีมุมมอง Neutral เน้นเลือกลงทุนตลาดหุ้นจีนและไทย ที่มูลค่ายังน่าสนใจและมีแนวโน้มกำไรฟื้นตัวในระยะข้างหน้า

ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
เปิดเผยว่า จากความตึงเครียดในภาคการเงิน (financial sector stress)
โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และยุโรป ทำให้สถาบันการเงินใน 2 กลุ่มประเทศนี้ มีแนวโน้มที่จะเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ (lending standard) มากขึ้น จากเดิมที่มีความเข้มงวดสูงอยู่แล้ว จึงคาดว่าจะส่งผลลบต่อการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจและธุรกิจในระยะข้างหน้า
ล่าสุด IMF ประเมินว่า การปล่อยสินเชื่อที่มีแนวโน้มลดลงน่าจะส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของ 2 กลุ่มประเทศนี้ ในช่วง 1 ปีข้างหน้า ได้รับผลกระทบประเทศละประมาณ -0.4% เมื่อบวกกับผลของอัตราดอกเบี้ยที่อยู่
ในระดับสูง ทำให้ SCB CIO คาดว่า ประเด็นความกังวลด้านเศรษฐกิจถดถอย (Recession concern) โดยเฉพาะในสหรัฐฯ จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี 2566

ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนยังเป็นปัจจัยบวกหลักของการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก แต่จากตัวเลข GDP ไตรมาสแรกที่เติบโต 4.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY) เมื่อดูในรายละเอียด ยังสะท้อนการฟื้นตัวแบบไม่ทั่วถึง (uneven recovery) โดยการบริโภคในประเทศส่งสัญญาณฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แต่ภาคการลงทุนยังฟื้นตัวช้า ส่วนภาคส่งออก แม้มีสัญญาณผ่านจุดต่ำสุด แต่ระยะข้างหน้ายังถูกกดดันจากความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกชะลอตัวมาก สะท้อนจากตัวเลขค้าปลีก ล่าสุดส่งสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง (เดือน มี.ค. ขยายตัว 10.6% YOY ในขณะที่ ม.ค.- ก.พ. ขยายตัว 3.5% YOY) สำหรับ การลงทุนสินทรัพย์ถาวร ช่วงไตรมาสแรก ยังฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป แม้ตัวเลขส่งออกของจีนเดือน มี.ค. (+14.9% YOY หลังหดตัวต่อเนื่อง 5 เดือนติด) จะออกมาดีกว่าคาด แต่ยังคงต้องติดตามผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรป ที่จะมีต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจจีน

ดร.กำพล กล่าวว่า SCB CIO ยังคงมีมุมมองว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางสหภาพยุโรป (ECB) รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะหยุดขึ้นดอกเบี้ยในไตรมาสที่ 2/2566 และไม่น่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในปีนี้ ทั้งนี้ Fed น่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีกเพียง 0.25% ในการประชุมวันที่ 2-3 พ.ค. นี้ และคงดอกเบี้ยที่ 5.00-5.25% จนถึงสิ้นปี เพราะถึงแม้อัตราเงินเฟ้อจะชะลอลงแต่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมาย ส่วน ECB อัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงช้า แต่ความตึงเครียดจากภาคการเงินน่าจะทำให้ ECB ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 1-2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ในส่วนของ ธปท. น่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ในการประชุมวันที่ 31 พ.ค. นี้ และคงดอกเบี้ยที่ 2% จนถึงปลายปี 2566 โดยอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเริ่มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย 1-3% ในไตรมาสที่ 2/2566 แม้อุปสงค์ในประเทศจะมีการฟื้นตัวต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและบริการ แต่ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวที่มากกว่าคาด ยังเป็นปัจจัยกดดันภาคส่งออกไทย

จากความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยที่เพิ่มขึ้น เราแนะนำให้นักลงทุนป้องกันความเสี่ยง (Hedge) ด้วยการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล (Positive) ในพอร์ต โดยจากการวิเคราะของ SCB CIO พบว่า ช่วงที่เศรษฐกิจมีความเสี่ยงถดถอยสูง (ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ หรือ PMI <50 และหดตัวลงเรื่อยๆ) และเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง สินทรัพย์ที่มักจะถูกนำมาใช้ในการป้องกันความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย คือ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ หุ้นกู้คุณภาพสูง (Investment Grade) ของสหรัฐฯ และทองคำ

แต่เมื่อพิจารณาจากผลตอบแทนต่อความผันผวน (Risk-adjusted return) จะพบว่า พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นสินทรัพย์ที่ช่วยรับมือความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยได้ดีที่สุด ดังนั้น เราจึงปรับมุมมองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เป็น Positive และปรับมุมมองหุ้นกู้คุณภาพสูงเป็น Slightly Positive แต่ยังคงมุมมองหุ้นกู้ที่ให้ผลตอบแทนสูง (High Yield) ที่ Slightly Negative เนื่องจากส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนจากหุ้นกู้ High Yield เมื่อเทียบกับพันธบัตรรัฐบาล มักเร่งตัวขึ้น (ราคา หุ้นกู้ High Yield ลดลง) ในระยะถัดไปหลังการปล่อยสินเชื่อมีความเข้มงวดสูงขึ้น

นอกจากนี้ เรายังปรับมุมมองต่อ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว หรือ DM REITs เป็น Slightly Negative จากความกังวลในประเด็นอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ (CRE) ในกลุ่มออฟฟิศ และราคาบ้านที่ชะลอลงในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว โดยแรงกดดันหลักที่มีต่อกลุ่มออฟฟิศ มาจาก
1) ต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นและการมีหนี้ครบกำหนดชำระค่อนข้างมากในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า
2) การฟื้นตัวของรายได้ที่ช้ากว่าคาด หลังการเปิดเมือง เนื่องจากการทำงานแบบ Hybrid
สำหรับอสังหาริมทรัพย์เชิงที่อยู่อาศัย ราคาที่อยู่อาศัยที่เริ่มชะลอลงตามแรงกดดันของดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การฟื้นตัวของค่าเช่าในอีก 12-18 เดือนได้รับผลกระทบตามไปด้วย อย่างไรก็ตามเรายังคงมุมมอง Slightly Positive ต่อ REITs ในสิงคโปร์และไทย ที่ยังมีแนวโน้มได้รับอานิสงส์การฟื้นตัวของค่าเช่าและอัตราการเช่าต่อเนื่อง

สำหรับ การลงทุนในหุ้น (Neutral) ยังคงต้องติดตามงบไตรมาสแรกของปี 2566 และความเสี่ยงจากการถูกปรับลดคาดการณ์กำไร แม้ธนาคารกลางส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะเริ่มหยุดขึ้นดอกเบี้ย แต่ดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง และความตึงเครียดในภาคการเงินของสหรัฐฯ และยุโรป ยังเป็นปัจจัยกดดันทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจและกำไรของบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มถูกปรับลดคาดการณ์ได้ในช่วงที่เหลือของปี โดยเรายังแนะนำให้เน้นการลงทุนในตลาดหุ้นจีน A-share ที่คงมุมมอง Positive ตลาดหุ้นจีน H-share และตลาดหุ้นไทย เป็น Slightly Positive เนื่องจากมูลค่ายังน่าสนใจและมีแนวโน้มกำไรฟื้นตัวในระยะข้างหน้า