“ขายทรัพย์สินภายในกลุ่มบริษัทพึงระวัง”

ในสถานการณ์โควิด-19 ที่ต้องมีการล็อกดาวน์พื้นที่ ทำให้ผู้ประกอบการที่ไม่สามารถทำธุรกิจได้ตามปกติ ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจไม่มากก็น้อย แม้แต่กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ก็ยังมีบริษัทในเครือหลายแห่งที่ประสบปัญหาทางการเงินจนไม่สามารถดำรงกิจการต่อไปได้และจำต้องมีการขายทรัพย์สินหรือกิจการเพื่อช่วยประคองธุรกิจหลักให้อยู่รอด

แต่ยังมีผู้ประกอบการหลายแห่งที่สามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยแทนที่จะปล่อยให้บริษัทในเครือต้องปิดกิจการไปโดยเปล่าประโยชน์ แต่สามารถหาวิธีใช้ผลขาดทุนสะสมที่บริษัทในเครือมีอยู่ให้เป็นประโยชน์ได้ เช่น โดยการเลือกที่จะขายทรัพย์สินหรือกิจการให้กับบริษัทแม่หรือบริษัทลูกอื่น ๆ ที่ยังคงมีผลกำไรในราคาที่สูง  ด้วยหวังว่าบริษัทผู้ซื้อจะสามารถนำต้นทุนไปหักเป็นรายจ่ายเพื่อลดภาระภาษีได้ ในขณะที่บริษัทผู้ขายสามารถใช้ผลขาดทุนสะสมมาหักกับรายได้ที่ได้รับจากการขายจนไม่มีกำไรสุทธิให้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล บางบริษัทอาจเลือกใช้วิธีการให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกันภายในกลุ่มบริษัทเดียวกันเพื่อกระจายฐานรายได้และค่าใช้จ่ายส่งผลให้สามารถรับรู้กำไรสุทธิของทั้งกลุ่มบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ดี การปรับโครงสร้างภายในกลุ่มบริษัทอาจจะไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดและมักจะมีประเด็นที่ต้องพิจารณาให้รอบครอบ จึงจะก่อให้เกิดประโยชน์และสร้างความเข้มแข็งให้แก่กิจการได้อย่างแท้จริง  และหากไม่มีการวางแผนอย่างเป็นระบบแล้ว ก็อาจจะมีปัญหาตามมาได้จนถึงขั้นทำให้บริษัทผู้ซื้อหรือผู้ขายถูกประเมินภาษีจนต้องปิดกิจการตามไป อีกแห่งดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต 

ปัจจัยสำคัญที่จะต้องพิจารณาเป็นประการแรกในการปรับโครงสร้างภายในกลุ่มบริษัทได้แก่ “ราคา” ที่จะนำมาใช้ในการโอนทรัพย์สินหรือกิจการว่าควรจะเป็นราคาใด หลายครั้งที่กลุ่มบริษัทเลือกที่จะใช้มูลค่าสุทธิทางบัญชีแต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ตรวจสอบของกรมสรรพากรโต้แย้งว่า กฎหมายบัญญัติให้ใช้ราคาตลาดและทำการประเมินภาษี แต่เมื่อกลุ่มบริษัทเลือกใช้ราคาตลาดก็กลับถูกเจ้าหน้าที่ตรวจสอบโต้แย้งว่าจะต้องใช้มูลค่าสุทธิทางบัญชีเท่านั้น ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งในทางปฏิบัติ

ดังเช่นในคดีของบริษัท บ. ที่ได้รับสัมปทานขุดแร่และประกอบกิจการมีกำไร ได้เข้าทำสัญญาซื้อกิจการและทรัพย์สินซึ่งได้แก่ เรือขุดแร่ ที่ผ่านการใช้งานมาแล้วจากบริษัท ท. ที่ถูกเพิกถอนสัมปทานขุดแร่ในทะเลจากหน่วยงานรัฐและมีผลขาดทุนสะสมจำนวนมาก โดยทั้งสองบริษัทมีบริษัทแม่ที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศรายเดียวกัน ในราคา 332 ล้านบาท ในขณะที่มีมูลค่าทางบัญชี ณ วันซื้อขายที่  221 ล้านบาท บริษัท บ.  นำต้นทุนซื้อจำนวน 332 ล้านบาทไปคำนวณหักค่าเสื่อมราคาด้วยวิธีผลบวกของจำนวนปีที่ใช้งาน (sum of year digits method) ซึ่งเป็นวิธีที่จะช่วยให้หักค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินในปีแรกได้ในอัตราสูงและจะลดลงเรื่อย ๆ ในปีถัดๆ ไป กรมสรรพากรเห็นว่าราคาทรัพย์สินที่บริษัท บ. ซื้อมานั้นสูงเกินกว่าปกติโดยไม่มีเหตุอันสมควร จึงห้ามมิให้บริษัท บ. ตัดค่าเสื่อมราคาในส่วนของต้นทุนที่สูงเกินส่วนจำนวน 111 ล้านบาท (332-221) โดยนำมูลค่าทางบัญชีคงเหลือมาใช้เป็นราคาซื้อขายทางภาษี

บริษัท บ. อุทธรณ์การประเมินโดยอ้างว่า ราคาเรือขุดแร่ที่ซื้อมานั้นมิได้สูงเกินปกติแต่อย่างใดเนื่องจาก   (1) เรือขุดแร่ลำดังกล่าวถูกออกแบบพิเศษ ต่างจากเรือขุดแร่ทั่ว ๆ ไป ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง มีระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมการขุดแร่ที่ดี มีเพียงลำเดียวในโลก จึงทำให้บริษัท ท. ผู้ขายมีอำนาจในการต่อรองกำหนดราคาได้สูง  (2) บริษัท บ. มีหลักฐานเป็นใบเสนอราคาต่อเรือขุดแร่จากบริษัทรับต่อเรือในต่างประเทศมาแสดงต่อศาล ว่า หากต่อเรือขุดแร่ลำดังกล่าวขึ้นมาใหม่จะต้องใช้เงินประมาณ 450 ล้านบาท ราคาขาย 332 ล้านบาทจึงไม่เกินกว่าปกติแต่อย่างใด  (3) บริษัท บ. ได้นำเรือขุดแร่ไปทำประกันภัยและได้รับการตีมูลค่าโดยบริษัทประกันภัยในราคาใกล้เคียงกับราคาที่ซื้อมา (4) ในการลงบัญชีทรัพย์ที่ซื้อมา บริษัท บ. ได้ใช้ดัชนีมาร์ชแอนด์สตีเว่นมาคำนวณหามูลค่าเรือขุดแร่ ซึ่งได้มูลค่าที่สอดคล้องกับราคาที่ซื้อขาย

ศาลฎีกาพิจารณาแล้วและโต้แย้งเหตุผลของบริษัท บ. ในมุมมองที่ตรงกันข้ามทุกด้านว่า (1) เรือขุดแร่ถูกออกแบบมาใช้เฉพาะกับการขุดแร่บริเวณที่ได้รับสัมปทานเท่านั้น เมื่อบริษัท ท. ผู้ขายถูกเพิกถอนสัมปทานไปแล้ว จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะต่อรองอะไรกับบริษัท บ.  (2) ใบเสนอราคาต่อเรือขุดแร่ถูกส่งให้กับบริษัท บ. หลังจากที่ได้ทำสัญญาซื้อขายเรือ ไปแล้ว จึงเป็นการสร้างหลักฐานขึ้นมาโดยไม่มีเจตนาจะให้มีการต่อเรือกันจริง (3) วงเงินเอาประกันภัยนั้นคู่สัญญาจะกำหนดขึ้นเท่าใดก็ได้ เมื่อเกิดความเสียหายก็จะชดใช้ตามความเสียหายที่แท้จริง ราคาทรัพย์สินที่เอาประกันจึงมิใช่ราคาตลาดของทรัพย์สินที่เอาประกัน  (4)  ดัชนีมาร์ชแอนด์สตีเว่นใช้กับกรณีการตีราคาทรัพย์สินใหม่ที่ยังไม่ผ่านการใช้งาน  แต่ทรัพย์สินที่ซื้อมาผ่านการใช้งานมาแล้วประมาณ 4 ปี การนำดัชนีราคาดังกล่าวมาเปรียบเทียบกับกรณีนี้จึงไม่ถูกต้อง  

นอกจากนี้ ราคาต้นทุนทรัพย์สินตามบัญชีของบริษัท ท. มีราคา 221 ล้านบาท  ซึ่งเป็นราคาที่ได้หักค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินโดยใช้วิธีเส้นตรงในอัตราร้อยละ10 ต่อปี ซึ่งเป็นการหักค่าใช้จ่ายในอัตราต่ำอยู่แล้ว   ดังนั้นราคาตามสัญญาที่ 332 ล้านบาท จึงสูงเกินปกติโดยไม่มีเหตุอันสมควร

จะเห็นได้ว่าการซื้อขายทรัพย์สินหรือกิจการภายในกลุ่มบริษัทเดียวกันไม่ใช่ธุรกรรมที่จะเข้าทำกันได้โดยง่ายแม้ว่าจะได้มีการเตรียมเหตุผลและเอกสารสนับสนุนด้านราคามาแล้วก็ตาม อนึ่ง นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นมา ประมวลรัษฎากรได้เพิ่มหลักเกณฑ์การพิจารณาด้านราคาขึ้นใหม่โดยให้นำราคาของธุรกรรมที่กระทำขึ้นภายในกลุ่มบริษัทเดียวกันมาเทียบเคียงกับราคาที่คู่สัญญาที่เป็นอิสระต่อกันพึงจะนำมาใช้ในการเข้าทำธุรกรรมกันโดยสุจริตด้วย ทำให้การกำหนดราคาโอนต้องกระทำขึ้นด้วยความระมัดระวังยิ่งขึ้น แต่เป็นที่น่าสนใจว่าหากราคาสุจริตตามกฎหมายใหม่ของคดีตัวอย่าง คำนวณออกมาได้เท่ากับ 332 ล้านบาท กรมสรรพากรและศาลฎีกาจะยอมรับว่า เป็นราคาอันสมควรหรือไม่หรือจะยังคงปฏิเสธราคาเช่นเดิม

โดย ศาสตราจารย์พิเศษ พิภพ วีระพงษ์/ดร.ธีระวุฒิ เต็มสิริวัฒนกุล / รัชนี ประสงค์ประสิทธิ์

บริษัท ลอว์อัลลายแอนซ์ จำกัด

RELATED ARTICLES
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img