สื่ออย่าทำตัวเป็นผู้จัดละครแล้วคอยชี้นิ้วพิพากษา นำทางสังคม จนลืมหน้าที่ตัวเอง..!!!
พอดูการนำเสนอ “ข่าว” ทุกวันนี้ ก็อดคิดไม่ได้ว่า “ละครหลังข่าว” แทบไม่มีความจำเป็นเสียแล้ว ในเมื่อยุคสมัยนี้การนำเสนอข่าวสารมุ่งไปที่ “ดราม่า” มากกว่าอะไรทั้งปวง จากประเด็นหลักที่ควรให้น้ำหนักที่ควรจะสนใจในข่าวนั้น ๆ เพื่อการตรวจสอบ ถ่วงดุล เตือนสังคม ให้แง่คิด ฯลฯ กลับกลายเป็นเสมือน “นิยาย” ที่ใส่อารมณ์ ความรู้สึก นึกคิดจากข่าวหนึ่งกลายเป็น “มหากาพย์” เอามาสร้างซีรีส์ได้เป็นตอนๆ หลาย EP แถมหล่อหลอมสังคมไปทางใดทางหนึ่ง
ซึ่งมิวายพอได้กระแสได้เรตติ้งจากที่ทำกันแค่ 1 ช่อง กลายเป็น 2, 3, 4 และอีก 10 สำนักเบี่ยงเบนมาเล่นในมุมที่ไม่ได้เกี่ยวกับ “เนื้อหาหลักของการนำเสนอแต่แรก” จึงไม่แปลกนัก หากผู้คนในสังคมต่างจะมีทั้ง “ดอกไม้” และ “ก้อนหิน” โยนเข้าใส่สื่ออย่างจัง พร้อมทั้งถามหาจรรยาบรรณตามระเบียบ
มากกว่าการเป็น “ละครหลังข่าว” คือ “การชี้นำ” ทำตัวเป็น “ผู้พิพากษา” แทนหน้าที่ของคนในกระบวนการยุติธรรม จนลืม “กำพืด” และหน้าที่ที่พึงปฏิบัติ เสมือนการนำเสนอแบบตบหัวคนดูแล้วก็ลูบหลัง นั่งเป็นตัวเอกหล่อ ๆ ท่ามกลางเสียงกนด่าของสังคม จนพังกันทั้งระบบ !
ตั้งแต่ คนในข่าว คนนำเสนอข่าว และคนเสพข่าว เพียงเพราะสื่อที่ต้อง “ถือธงนำ” พาสังคมโอนเอนไปทางใดทางหนึ่ง
แน่นอนกว่าการนำเสนอหลาย ๆ มุมเป็นเรื่องที่ดีแน่ แต่ลิมิตอยู่แค่ไหน ? ก็ไปขึ้นอยู่กับ “สำนึกความเป็นคน” ที่แต่ละคนถูกหล่อหลอมมาอย่างไร คำถามคือ สมมุติมีคดีฆาตกรรมใด ๆ มีภาพหลักฐานการตายชัดบันทึกนาทีก่อนเกิดเหตุ แล้วมีบางคนไปฉายภาพซ้ำ ๆ ให้ครอบครัวผู้สูญเสีย หรือ ถามขยี้จิตใจไปทวน ๆ วน ๆ เพื่อการเค้นน้ำตา ของครอบครัว (ที่เสียใจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว) แล้วคนดูจะได้อะไรจากการนำเสนอแบบนี้ ?
จากคำถามที่กล่าวมา ลองมาคิดในมุมกลับ สมมุติ “ญาติของเรา” สักหนึ่งคน โดนปล้นจี้ มีวงจรปิดจับภาพได้ตอนที่ถูกคนร้ายแทงกระหน่ำ จนร่างอันไร้วิญญาณสลบแน่นิ่งไป แล้วมีใครสักคนที่มือถือไมค์เอาไฟส่องหน้า นำภาพคลิปนี้มาเปิดให้เราดู แล้วถามว่า “รู้สึกยังไงกับคลิป” ? แน่นอนคงไม่มีใครมาตอบมาบอกว่า “ดีใจจัง” หรือ อยากเห็นความรุนแรงนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ดังนั้น “ใจเขาใจเรา” คือ สิ่งที่ควรคำนึงให้มากที่สุด! ในทุกระดับของคนในวงการ ตั้งแต่หัวหน้า – บก. ที่ต้องการสั่งให้คนของตัวเองลงไปขยี้ หรือมองอีกมุมคือ “ซ้ำเติม” ผู้สูญเสีย อยากกระทำ-นำเสนอแบบนี้ เพียงเพื่อคิดว่ามันขายได้ กับการนำเสนอในมุมอื่น ๆ เพื่อให้การติดตามคนร้ายได้ไว หรือ ให้แง่คิดเตือนภัยแก่สังคม เช่น สร้างสารคดี หากโดนจี้ต้องมีทักษะอะไร แน่นอน คนดู-เรตติ้งอาจไม่ดีเท่า “การซ้ำเติม” เรียกบีบน้ำตา แต่นี่คือจะเป็นสิ่งที่สะท้อนได้ว่า “ความเป็นคน” ของคุณคงยังมี ลิมิตแค่ไหนจริตยางอายยังหลงเหลือ ในการแตกประเด็นหากเป็น “อุทาหรณ์” สังคมยังคงมีที่พึ่งมีความคุณภาพมาตรฐาน ยิ่งในยุคนี้ที่ใคร ๆ ก็เป็นสื่อได้
“สื่อจริง ๆ” สื่อหลักควรจะต้องมั่นคง และมีคุณภาพให้มากที่สุด! เพื่อเป็นเสาหลัก ยึดเหนี่ยวให้สังคมยังมีแกน มีความหวัง หากตลาดอยากดูแบบดราม่าหนัก ๆ ก็ต้อง “ชั่งน้ำหนัก” ก่อนนำเสนอให้มาก ๆ ไตร่ตรองให้ดี ว่าสิ่งนี้ที่เผยแพร่ออกไปเป็นไปตาม “มาตรฐาน” ที่เหมาะที่ควรหรืออยากลดมาตรฐานของตัวเองเทียบเท่าสเกลละครหลังข่าวที่มีแต่ตบ ตี โศกเศร้าเอามัน พูดจาไม่มีความจริง ๆ เล่นละครกันเป็นฉาก ๆ ในทุกมิติทุกระดับ ยิ่งเป็นเหยียบย่ำซ้ำเติมคนและสังคม เพื่อเฝ้ารอวันพังทลายไปพร้อม ๆ กัน
มองจากภาพกว้าง ๆ สิ่งเหล่านี้ ตอบได้แบบตรง ๆ คือ แก้ไขได้ยาก เพราะถ้าไม่มีคนดู ไม่มีคนชอบอะไรแบบนี้ก็คงไม่มีคนพยายามกระทำซ้ำและผลิต “ละครเรื่องนี้” จนเสมือนเป็นตำราสำเร็จรูปในการทำข่าวยุคให้ ให้มีรสเผ็ด เปรี้ยว หวาน มัน กระหน่ำผงชูรส แล้วก็ปรุงแต่งเสียจน “รสชาติ” ดั้งเดิมและ “ความมีจริยะ” ที่เป็นหน้าที่ของสื่อว่าคืออะไร .?
ใครสักคนเคยกล่าวไว้ในตำราว่า “สื่อ” เปรียบเสมือน “กระจก” คำถามดัง ๆ ที่ต้องถามให้สนั่นวงการคือ ถ้าวันนี้กระจากนี้มาตรฐานมันร้าว ภาพที่สะท้อนออกมาไม่ชัด บทบาทการติดตามตรวจสอบ นำเสนอข้อเท็จจริงหดหายไป คำถามคือ “แล้วเราจะมีกระจกแบบนี้” ไว้ทำไม ?