จากกรณีที่ นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊ก โจมตีการยึดอำนาจ และเสนอให้ ยกเลิกเกณฑ์ทหาร เพราะเอาทหารไปปฏิวัติ ให้ใช้ระบบสมัครใจ ,การลดขนาดกองทัพลง และให้ย้ายหน่วยทหารออกนอกกรุงเทพฯ นั้น ล่าสุด พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า ควรทำความเข้าใจให้ตรงกัน ต่อการนำเสนอนโยบายของบุคคลหรือพรรคการเมือง ในการหาเสียงในปัจจุบันมีข้อกำหนดเงื่อนไข เพื่อมิให้เป็นไปในเชิงการเสนอนโยบายที่ไม่เป็นรูปธรรมหรือ มุ่งต่อการหาเสียงเพื่อเข้าสภาเท่านั้น รวมถึงการนำเสนอข่าวที่ไม่ครบเนื้อความ อาจนำไปสู่ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของสาธารณชน โดยประเด็นคำถามเกี่ยวข้องกับการยกเลิกเกณฑ์ทหารเปลี่ยนเป็นการรับสมัคร, การลดขนาดกองทัพลง เพื่อให้มีกำลังพลเหมาะสมกับภารกิจ และ การย้ายหน่วยงานของกองทัพ ออกไปอยู่ตามหัวเมือง
พล.ต.ปิยพงศ์ กล่าวว่า ขอชี้แจงในประเด็นที่ถามมาดังนี้ คำว่าเกณฑ์ทหารเป็นภาษาพูดตามเนื้อความพระราชบัญญัติการรับราชการทหาร พ.ศ.2497 ว่าด้วยการตรวจเลือก ดังนั้นการยกเลิกเกณฑ์ทหารเปลี่ยนเป็นการรับสมัครก็ต้องไปดูกฏหมายดังกล่าวนี้ ว่าเอื้ออำนวยให้สามารถปฏิบัติได้หรือไม่ หรือต้องแก้ไขอย่างไรในปัจจุบันมียอดผู้สมัครโดยเฉลี่ย ในแต่ละปีประมาณร้อยละ42 ของความต้องการใช้กำลัง กล่าวโดยสรุป กองทัพยังคงดำเนินการตามที่กฏหมายระบุไว้
ส่วนการลดขนาดกองทัพ ได้มีแผนรองรับทั้งในระดับยุทธศาสตร์จนถึงเหล่าทัพอยู่แล้ว ทั้งนี้ เป็นไปเพื่อตอบสนองภารกิจ ตามมาตรา 52 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ซึ่งต้องทำความเข้าใจด้วยว่า กองทัพมิได้มีภารกิจเพียงด้านความมั่นคงภายนอกเท่านั้น กองทัพยังมีภารกิจในการพัฒนาประเทศ รวมถึงการบรรเทาสาธารณภัย นอกจากนั้น ยังมีภารกิจตอบสนองภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ซึ่งมี กอ.รมน.เป็นหน่วยงานขับเคลื่อน เป็นรูปแบบของความมั่นคงภายใน การผลิตและการเตรียมจำนวนกำลังพลในกองทัพจึงมีความสำคัญ เพราะทหารไม่สามารถผลิตได้ในระยะเวลาอันสั้น และต้องเป็นไปอย่างสอดคล้องกับภัยคุกคาม ที่หน่วยงานความมั่นคงทุกระดับ นับตั้งแต่สภาความมั่นคงลงมาได้ประเมินไว้
พล.ต.ปิยพงศ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการย้ายหน่วยงานกองทัพออกไปชานเมืองเป็นไปตามแผนงานที่กำหนด ส่วนใหญ่หน่วยที่ตั้งในกทม.จะเป็นหน่วยบัญชาการ ส่วนกลาง หรือมีภารกิจเฉพาะโดยตรง การย้ายที่ตั้งต้องใช้งบประมาณ มิใช่แค่ตัวทหาร หรืออาคารสถานที่ แต่หมายความรวมถึงครอบครัว และองค์ประกอบอื่นๆด้วย อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมขอให้สาธารณชน ได้เข้าใจในภารกิจของกองทัพ ว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชน ขอขอบคุณในความปรารถนาดี ต่อข้อเสนอกองทัพจะนำไปเป็นข้อพิจารณา ในการกำหนดแผนในอนาคตต่อไป