เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 4 สิงหาคม 2564  ผู้สื่อข่าวไทยแทบลอยด์ รายงานว่า องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 6 องค์กร ประกอบด้วย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และ สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย จัดเวทีเสวนาออนไลน์ “Chilling Effects: สายลมแห่งความกลัวจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินมีจริงไหม?”  ทางแอพพลิเคชั่นซูม 

โดยเป็นการจัดกิจกรรมต่อเนื่องเพื่อคัดค้านการใช้อำนาจในข้อกำหนดฉบับที่ 27 ข้อ 11 และ ฉบับที่ 29 ของนายกรัฐมนตรี ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่เข้าข่ายคุกคามการสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชน 

โดยในการเสวนาครั้งนี้ ได้เชิญวิทยากรประกอบด้วย  นายเอกรัตน์ ตะเคียนนุช  ผู้สื่อข่าวสายการเมือง ช่อง ONE 31 นายสิทธิโชติ สุภาวรรณ์ Head of Digital Content (News) อมรินทร์ทีวี ช่อง 34 นายนภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ บรรณาธิการบริหาร  WorkpointToday ดร.ณัฏฐา  โกมลวาทิน  ผู้ประกาศข่าวและผู้อำนวยการศูนย์ Thai PBS World และนายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ดำเนินรายการโดย ระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์

โดย ดร.ณัฏฐา  โกมลวาทิน  ผู้ประกาศข่าวและผู้อำนวยการศูนย์ Thai PBS World กล่าวว่า ภาวะบ้านเมืองไม่ปกติ รัฐบาลมีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในการบริหาร มีความโกลาหลในการดูแลสถานกรณ์อยู่แล้ว ส่วนเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้น ก่อนหน้านี้มีกรณีดาราที่ออกมา Call out ก็มีการดำเนินการ และต่อมาคือสื่อมวลชนอย่างเรา ที่ออกข้อกำหนดเรื่องการห้ามเสนอข่าวที่ทำให้เกิดความหวาดกลัว โดยส่วนตัวคิดว่าสื่อยังคงเดินหน้าทำตามหน้าที่อยู่แล้ว แต่มีการตั้งคำถามถึงคำนิยมว่า ข้อกำหนดดังกล่าว เป็นการใช้อาวุธทางอำนาจของภาครัฐภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือ และฉบับที่ 29 การให้ ‘กสทช.’ ระงับ IP Address ตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ตได้ ตรงนั้นเต็มไปด้วยคำถามว่า อะไรคือ คำว่า ความหวาดกลัว อะไรคือ การบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้มีความหวาดกลัวจากสื่อว่า รัฐจะใช้อำนาจอจย่างไร เพราะขาดความชัดเจน ในคำนิยามว่าอะไร คือ ข่าวสารที่สร้างความหวาดกลัวและสร้างความบิดเบือน  

ส่วนตัวกังวลในอำนาจของภาครัฐในการตีความที่น่าจะเป็นปัญหาตามมา ทั้งนี้ รัฐต้องเข้าใจความเป็นสื่อมวลชน ว่า จะยืนเคียงข้างประชาชน เป็นภารกิจหลักในการตรวจสอบผู้มีอำนาจ และนำเสนอความจริงสู่ประชาชน แต่สื่อก็ทำงานยากมากในการเติบโตทางออนไลน์ เป็นความท้าทายในการตรวจสอบข้อมูลที่บิดเบือน แต่เราต้องระวังในการนำเสนอข่าวอยู่แล้ว และต้องติดอาวุธ มีเขี้ยวเล็บมากขึ้น และสื่อต้องฟังเสียงประชาชน รัฐ หน่วยงานต่าง ๆ ในการจัดการสถานการณ์ด้วยแต่ทั้งนี้ปัญหาเกิดจากการที่ ศบค. ไม่มีการรวมศูนย์สื่อ ในการรวบรวมข้อมูล ทำให้สื่อต้องตามหาข้อมูลและจึงเกิดความโกลาหลของข้อมูล เพราะสื่อก็ต้องทำหน้าที่ ดังนั้นมองว่าการออกข้อกำหนดพ.ร.ก.ฉุกเฉินในช่วงนี้ อาจจะเป็นความพยายามจับจ้อง และดูคนที่สื่อสารไม่ตรงตามที่รัฐต้องการหรือไม่

“ย้ำว่าสื่อมีความรับผิดชอบให้ความสำคัญในข้อมูล มากกว่าการส่งข้อมูลผิดๆไปยังประชาชนอยู่แล้ว ซึ่งเราต้องยืนยันว่าเราต้องไม่เผยแพร่ข้อมูลที่ผิด สิ่งที่ต้องการถามคือรัฐให้คำนิยามกฎหมายฉบับนี้อย่างไร อาจจะใช้อำนาจเกินขอบข่ายอำนาจ อาจจะนำไปสู่การดำเนินคดีประชาชนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ และย้ำกับสื่อด้วยกันเองว่า ต้องทำงานบนความรับผิดชอบมากขึ้น” ดร.ณัฏฐา  กล่าว

ด้านนายเอกรัตน์ ตะเคียนนุช  ผู้สื่อข่าวสายการเมือง ช่อง ONE 31 กล่าวว่า ใหัย้อนกลับไปดูฉบับที่ 27 มีคำถามที่อยากถามว่า ทัศนคติท่านที่ออกข้อกำหนดมีทัศนคติต่อสื่อเป็นยังไงกันแน่ มองยังไงในบทบาทสื่อ เพราะตัวเองตั้งคำถามใน 2 คำของข้อกำหนดคือ คือ (1.) คำว่าสร้างความหวาดกลัว และ (2.) สร้างผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ซึ่งเป็น 2 คำที่กว้างมากแน่นอนว่า สื่ออย่างพวกเรามีทักษะในการกลั่นกรองข้อมูล ว่า แบบไหนเป็นการบิดเบือน แบบไหนไม่ใช่ แต่ถ้าเป็นประชาชนกลั่นกรองน่าจะลำบาก ห่วงแทนประชาชนที่มีสื่อในมือ เล่นเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ ที่เขามิได้มีเจตนา แต่อาจจะนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีโดยไม่ได้ตั้งใจ จึงคิดว่า สองที่บอกไปจะมีปัญหาตามมา “ความรู้สึกที่เห็น พ.ร.ก.ออกมา ตอนแรกค่อนข้างโกรธ ผมว่า เพื่อนสื่อหลายคนคิดตรงกันว่า เราไม่ยอม มันไม่ใช่แล้ว เขาไม่ได้เข้าใจคุณลักษณะคำว่า สื่อ การทำงานของสื่อ ถ้าเข้าใจจริง ๆ จะมีความชัดเจนมากกว่านี้

ดังนั้นต้นตอกลับไปที่จุดเดิมคือทัศนคติว่าท่านมีมุมมองต่อสื่ออย่างไร เพราะเราทำงานไม่ตรงกับท่านอยู่แล้ว เพราะสื่อมีหน้าที่ในการตรวจสอบท่าน ไม่ต้องทำตามท่าน ถามว่าท่านเข้าใจตรงนี้หรือเปล่า “ยืนยันว่า ที่เราเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของสื่อและประชาชนนั้น เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 34 35 และเราไม่ได้บอกว่าเราจะเอาเฟคนิวส์ หรือเราจะใช้ Hate speech เพราะเราจะละอายตัวเองเสียใจและเจ็บปวดถ้าเราไปคนสร้างเฟคนิวส์ ดังนั้น ต้องการให้รัฐให้แยกให้ออก การทำหน้าที่ของสื่อนั้น เราทำงานเพื่อนำเสนอสิ่งที่เป็นความเดือดร้อนของประชาชน ในสิ่งที่รัฐอาจจะไม่ทันคิดในการแก้ไขปัญหา เพราะนี่คือ Basic Journalism ของการเป็นนักข่าว

ขณะที่ นายนภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ บรรณาธิการ บริหาร  Workpoint Today กล่าวว่า ส่วนตัวการออกข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ได้ทำให้มีความกังวลอะไรเพิ่มขึ้น เพราะการทำงานของเราไม่ได้เปลี่ยนอะไรเลย ยังทำสำนักข่าวทำงานแบบสื่อมืออาชีพอยู่แล้ว เพราะเราไม่ได้ทำอะไรผิด ไม่ต้องกลัวอะไร เราไม่ได้ฝักใฝ่เลือกข้างการเมือง ไม่ได้เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล เราต้องการสะท้อนทุกข์สุขของประชาชน บรรยากาศภาพรวมของประเทศ จึงไม่ต้องปรับในการทำงานอะไร แค่เรายังไม่ได้มีสรรพกำลังในมืออย่างที่สังคมคาดหวังเท่านั้น

สื่อบ้านเรายังไม่ได้ขุดคุ้ยอีกมากมายหลายเรื่อง ทั้งเรื่องคุณภาพ เรื่องเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูล สรรพกำลังไม่สามารถต่อยอดในทางลึกทุกเรื่องได้ ทุกวันนี้รายงานแค่สิ่งที่ต้องรู้จริง ๆ ยืนยันว่า ที่ผ่านมาทำงานอยู่ในไลน์การสื่อสารของรัฐบาลมากแล้ว แต่เราต้องทำงานตอบโจทย์ประชาชน ถ้าเห็นคนเป็นทุกข์ก็ต้องช่วยเหลือ ส่วนตัวคาดเดาไว้อยู่แล้วว่า ข้อกำหนดที่ออกมา จะดำเนินการอะไรกับใครยังไง คิดว่าน่าเป็นกลุ่มการเมือง อินฟูเอ็นเซอร์ ที่เป็นเป้าแรก ๆ “”ส่วนจุดยืนเราไม่เห็นด้วยอยู่แล้วกับการออกข้อกำหนด แต่ย้อนถามว่า ถ้าสื่อทำงานตามไลน์ของรัฐที่รัฐบาลต้องการ ทั้งที่มีช่อง 11 อยู่แล้ว ถามว่าถ้าสื่อทำแบบนั้นทั้งหมด แล้วโควิดจะหมดไปหรือไม่ สมมติว่า ถ้าสื่อทุกคนนำเสนอบอกว่าโควิดคือไข้หวัดธรรมดา เหมือนที่รัฐบาลบอก ถามว่าสถานการณ์จะแย่กว่านี้หรือไม่ ดังนั้นสื่อจึงต้องเตือน และตรวจสอบการทำงาน”

ด้าน นายสิทธิโชติ สุภาวรรณ์ Head of Digital Content (News) อัมรินทร์ทีวี ช่อง 34 ยืนยันว่า สื่อไม่ต้องการสร้างเฟคนิวส์ เรามีหน้าที่ตรวจสอบทั้งรัฐบาลและเอกชน แต่ความคลุมเครือของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตั้งข้อสังเกตว่า จะมีอะไรเป็นมาตรฐานว่าอะไรคือ การสร้างความหวาดกลัว หรือ เฟคนิวส์ แล้วหน่วยงานไหนจะมาประทับตรา จะเป็นศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม หรือ สตช. และตั้งคำถามถึงความต้องการของรัฐบาลในการออกข้อกำหนดนี้คืออะไรในภาวะแบบนี้ ยืนยันการทำหน้าที่ของสื่อว่า เรานำเสนอไปตามสถานการณ์ปกติ แต่ดูจะรุนแรงตามสถานการณ์ตัวเลขที่มีการรายงาน ทำให้ข่าวดูรุนแรงขึ้น มองว่า เป็นเรื่องปกติของการรายงานข่าว อย่างเช่น กรณีปัญหา ยาฟาวิพิราเวียร์ ที่สื่อนำเสนอข้อมูลจากหน่วยงานหนึ่งว่ามีไม่เพียงพอ แต่รัฐบาลบอกว่าเพียงพอ แล้วจากนั้นก็มีการยอมรับและนำไปสู่การแก้ไขปัญหา ดังนั้นยังมองว่า การทำงานของสื่อยังมีประสิทธิภาพ ยังนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอยู่ เพราะข่าวคือปัญหา คือ สิ่งที่ต้องนำไปแก้ไข “ห่วงใยการตีความ พ.ร.ก.ฉบับนี้ คือ คำว่าสร้างความหวาดกลัว กลัวว่า จะไปถึงขั้นว่าเป็นความจริงของใคร ความจริงของฝ่ายใด และมีเรื่องที่อยากชี้แจง คือ สื่อเองมีการตรวจสอบกันภายในองค์กร และตรวจสอบภายนอกองค์กรในข่าวๆต่าง ๆ ที่ตรวจสอบกันเอง จริง ๆรัฐบาลไม่น่าจะเสียงบ สรรพกำลังในการตรวจสอบ เราไม่ใช่คู่ขัดแย้งของรัฐบาล”

นายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ยืนยันในการทำหน้าที่ในการตรวสอบแทนประชาชนข้อเสนอคือต้องการให้โฟกัสและตีความให้ชัดว่า สื่อออนไลน์ สร้างความหวาดกลัวหมายถึงอะไร เพราะปัจจุบันมีประชาชนใช้สื่อออนไลน์จำนวนมาก และเรตติ้งสื่อออนไลน์ก็โตขึ้นตลอด จึงอยากให้ตีความให้ชัด”ยืนยันว่าสื่อมวลชนต้องใช้เสรีภาพอยู่บนความรับผิดชอบ และยืนยันว่า ทั้งสื่อประชาชนและสื่อต้องมีสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และยืนยันว่าไม่ว่ารัฐบาลไหนที่เข้ามาแล้ว ใช้อำนาจ ใช้กฎหมายตีความไปในทางการคุกคามสื่อ องค์กรสื่อเรายืนยันที่สู้ที่หลักการ และขอให้ทบทวน เปลี่ยนแปลงข้อกำหนดหรือกฎหมายนั้นให้ชัดเจนส่วนที่ที่องค์กรสื่อโดนโจมตี มีการกล่าวหาว่า องค์กรสื่อปกป้องกันเองและไม่แก้ปัญหาเฟคนิวส์นั้น มีคนบอกว่า เราอ่านข้อกำหนดไม่แตกฉาน ยืนยันว่า องค์กรสื่อได้อ่านข้อกำหนดอย่างแตกฉานแล้ว และย้อนอ่านไปถึงต้นตอของข้อกำหนดฉบับที่ 1 ข้อ 6 ด้วยซ้ำ เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับข้อกำหนดฉบับที่ 27 นั้นพบว่า มีความแตกต่างกันอย่างมาก  จึงต้องการเสนอให้ปรับแก้ถ้อยคำ

พร้อมกันนี้ในส่วนของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศ เรามีการอบรมสื่อมวลชน ทั้งการแก้ปัญหา เฟคนิวส์ Hate speech มานานก่อนที่จะมีสถานการณ์โควิดอยู่แล้วย้ำว่า การสื่อสารในห้วงปกติ  สื่ออาจจะเน้นสิ่งที่แตะความรู้สึกของผู้อ่านมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นความหายนะ  ความน่ากลัว  การเร้าอารมณ์  ความลี้ลับ ปริศนา  ผลประโยชน์  ความขัดแย้ง  ตามทฤษฎีคุณค่าข่าวของวารสารศาสตร์ แต่การสื่อสารช่วงวิกฤต  จะต้องทำในทางกลับกัน   เน้นความสำคัญของข้อมูลหลัก  แล้วโฟกัสไปที่ทางออกของการแก้ปัญหา  การระวังป้องกันภัยให้ส่วนรวมเป็นเป้าหมายหลักเพราะในความอ่อนไหวทางอารมณ์ของสังคมนั้น  ผลร้ายของข่าวเร้าอารมณ์  หรือการให้ความจริงไม่รอบด้านมันรุนแรงกว่าภาวะปรกติ  และมันต้องเริ่มจากสิ่งแรก  คือการพาดหัวข่าว  ไม่ว่าจะเป็นข่าวในแพลตฟอร์มไหนก็ตามยืนยันซ้ำอีกครั้ง  

องค์กรสื่อเรียกร้องให้รัฐแก้ปัญหาการออกประกาศที่อาจจะนำไปสู่การตีความของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติจนเกินขอบเขต   จนละเมิดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนและการสื่อสารของประชาชน  พร้อม ๆ กับร่วมรณรงค์ให้สังคมช่วยกันลดทอนและต่อต้านเฟคนิวส์ไปคู่ขนานกัน “หัวใจของนักสื่อสารมวลชน คือ คำนึงผลประโยชน์สังคม นำข้อมูลไปให้สังคมไปตัดสินใจ ไม่ว่าคุณจะอยู่แพลตฟอร์มไหน นั่นคือ ตัวพิสูจน์ที่แท้จริง ไม่ว่าจะให้กำลังใจยืนยันในการทหน้าที่บนหลักที่ถูกตองขอให้ทำหน้าที่ไป เราจะปกป้องและดูแลเสรีภาพสิทธิ อย่าหวั่นไหวในการกดดันในการไปเป็นเครื่องมือการเมือง ไปแสวงหาประโยชน์ทางการเมือง

“ขอให้ประชาชนทั้งหลาย ขอให้สบายใจในการใช้เสรีภาพ โดยจะต้องไม่ละเมิดกฎหมายและสิทธิผู้อื่น และองค์กรสื่อยืนยัน ในการคัดค้านข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่รัฐใช้คำกำกวมในการตีความทางปฏิบัติ จึงขอให้รัฐบาลทบทวนข้อกำหนด และยืนยันว่า เราไม่ได้คัดค้านการแก้ไขปัญหาเฟคนิวส์แต่อย่างใด”

นายระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ สื่อออนไลน์ กล่าาว่า เราไม่ได้อยู่ในกฎหมายของไทยเท่านั้น เพราะเรายังมี Policy ของแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่มีความแตกต่างกันของแต่ละแพลตฟอร์ม อย่างเช่น สมมติว่า มีการแถลงข้อมูลสมุนไพรรักษาโควิด ตามที่ ศบค. บอกว่าอยากให้นำเสนอ แต่ถ้าเอาเข้าจริงแล้ว เมื่อเรานำเสนอลงในแพลตฟอร์ม สื่อก็จะโดนตรวจสอบกันเองโดย Policy ของแพลตฟอร์ม และประชาชนก็ช่วยตรวจสอบสื่อด้วยเช่นกัน  “ยืนยันในการทำหน้าที่ในการตรวสอบแทนประชาชนข้อเสนอ คือ ต้องการให้โฟกัสและตีความให้ชัดว่า สื่อออนไลน์ สร้างความหวาดกลัวหมายถึงอะไร เพราะปัจจุบันมีประชาชนใช้สื่อออนไลน์จำนวนมาก และเรตติ้งสื่อออนไลน์ก็โตขึ้นตลอด  จึงอยากให้ตีความให้ชัด”

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ