นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะโฆษกอนุกรรมาธิการพิจารณาเสนอความเห็นประเด็นข้อกฎหมาย ในคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม ก่อนรับหลักการ รัฐสภา เปิดเผยข้อสรุปของอนุกรรมาธิการต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า อนุกรรมาธิการเสียงข้างมาก ที่เป็น ส.ส. และนักวิชาการ ได้ข้อสรุปแล้วว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นไปตามกระบวนการมาตรา 256 แต่มีเสียงส่วนน้อย ที่เป็น ส.ว.เห็นว่า ยังขัดรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมยังได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการจัดออกเสียงประชามติว่า กรรมาธิการเสียงข้างมาก เห็นว่าการทำประชามติให้ทำหลังผ่านการแก้ไขในวาระที่ 3 ก่อนที่นายกรัฐมนตรี นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ตามกระบวนการในมาตรา 256 วรรค 8 แต่เสียงส่วนน้อยที่เป็น ส.ว. เห็นว่า ควรทำประชามติ 2 ครั้ง คือ ก่อนรับหลักการ และก่อนที่นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งนายนิกร ยังเห็นแย้งกับความเห็นของวุฒิสภา เพราะหากจะดำเนินการจัดการออกเสียงประชามติ ก่อนรับหลักการ กระบวนการยังอยู่ในชั้นนิติบัญญัติ ที่ไม่มีอำนาจจัดการออกเสียงประชามติ และขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายการออกเสียงประชามติด้วย รวมถึงกระบวนการจัดการออกเสียงประชามติ ต้องใช้เวลาถึง 3 เดือน ซึ่งกรรมาธิการพิจารณาก่อนรับหลักการ มีเวลาพิจารณาเพียง 30 วันเท่านั้น ซึ่งกรรมาธิการ ก็จะนำข้อสรุปความเห็นทั้งหมดเสนอต่อกรรมาธิการชุดใหญ่ในวันที่ 14 ตุลาคมนี้
นายนิกร ยังกล่าวถึงข้อกังวลที่ห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวด 1 และหมวด 2 เกี่ยวข้องกับรูปแบบรัฐ และพระมหากษัตริย์ว่า ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจมีกรณีที่ไปกระทบต่อพระราชอำนาจ ซึ่งกรรมาธิการจะหารือกันอีกครั้งว่าหากเกิดกรณีดังกล่าว จะดำเนินการอย่างไรต่อไป พร้อมยังชี้แจงถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยในปี 2556 ที่การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับเก่า จะต้องจัดทำประชามติ เพื่อขอความเห็นประชาชน ในการยกเลิกรัฐธรรมนูญว่าเป็นคนละประเด็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพราะกรณีดังกล่าว เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ซึ่งไม่ได้กำหนดให้ทำประชามติ แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน กำหนดให้ทำประชามติก่อน ซึ่งนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน เห็นว่า สามารถทำได้ เพราะในรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ทำประชามติไว้อยู่แล้ว ขณะเดียวกัน นายนิกร ได้ชี้แจงการตั้ง ส.ส.ร. เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ว่า จะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ซึ่งเป็นฉบับที่ 20 ของประเทศ ไม่ได้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือเป็นฉบับที่ 21 แต่อย่างใด
ส่วนข้อสรุปที่ ส.ว. ยังเห็นต่างจาก ส.ส. และนักวิชาการในกรรมาธิการจำเป็นจะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดหรือไม่นั้น นายนิกร เห็นว่าจะต้องรอกรรมาธิการชุดใหญ่สรุปจากข้อสรุปที่อนุกรรมาธิการ เตรียมเสนอในวันที่ 14 ตุลาคมนี้