รมช.แรงงาน กล่าวต่อว่า เมื่อตนเองมารับตำแหน่ง ได้รับมอบหมายหน้าที่สำคัญในการขับเคลื่อนให้แรงงานไทยมีงานทำ มีทักษะฝีมือตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ตามแนวคิด “สร้าง ยก ให้ รวมไทยสร้างชาติ” ซึ่งทหารประจำการดังกล่าว จะเป็นแรงงานใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน จึงต้องสร้างให้เป็นแรงงานที่มีคุณภาพ รวมถึงยกระดับมาตรฐานฝีมือเพื่อให้ได้รับค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างมาตรฐานฝีมืออย่างเป็นธรรม และให้โอกาสเข้ารับการพัฒนาทักษะฝีมืออย่างทั่วถึง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) จึงแบ่งเป้าหมายกระจายไปยังทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ให้ทหารแต่ละหน่วยได้รับการพัฒนา
นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 มีเป้าหมายดำเนินการ จำนวน 1,060 คน กระจายฝึกทั่วประเทศ มีผู้ผ่านการฝึกอบรมจำนวน 1,370 คน จากการติดตามการมีงานทำมีผู้ตอบแบบสอบถาม 1,158 คน พบว่ามีงานทำ 678 คน คิดเป็นร้อยละ 58.55 และ มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 9,164 บาท สำหรับในปี 2564 มีเป้าหมายดำเนินการอีก 1,000 คน หลักสูตรที่จัดฝึกอบรม เช่น ช่างทำฝ้าเพดานและอลูมิเนียม ช่างเดินสายไฟฟ้าภายในอาคาร ช่างเครื่องปรับอากาศ ช่างตัดผมชายเบื้องต้น ช่างปูกระเบื้อง ช่างเชื่อม ช่างอลูมิเนียม เทคนิคการติดตั้งและบำรุงรักษาระบบเซลล์แสงอาทิตย์ ช่างเครื่องยนต์เล็กเพื่อการเกษตร เป็นต้น เมื่อพลทหารฝึกอบรมเสร็จสิ้นแล้ว กพร. ได้ประสานให้กรมการจัดหางาน แนะแนวอาชีพ แจ้งข้อมูลตำแหน่งงานว่าง และประสานไปยังสถานประกอบกิจการต่าง ๆ ที่ต้องการแรงงาน เพื่อให้พลทหารสามารถมีงานทำทันที
ทั้งนี้ โครงการฝึกอบรมให้แก่ทหารก่อนปลดประจำการ เป็นอีกโครงการที่สอดคล้องกับแนวคิด “สร้าง ยก ให้ รวมไทยสร้างชาติ” ต้องดำเนินการอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เพื่อให้ทหารสามารถประกอบอาชีพตามที่ตนเองต้องการ หรือสมัครงานในสถานประกอบกิจการ เพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืนหลังจากกลับสู่ภูมิลำเนา ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ