อย่างไรก็ตาม มองไปข้างหน้าทาง กนง. จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพระบบการเงินและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทั้งจากเศรษฐกิจต่างประเทศ ผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 รวมถึงประสิทธิผลของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น
นายทิตนันทิ์ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาทยอยฟื้นตัวตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโรค COVID-19 ทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่สถานการณ์COVID-19 ที่ยืดเยื้อและกลับมาระบาดซ้ำในหลายประเทศทำให้แนวโน้มการฟื้นตัวในระยะข้างหน้าล่าช้ากว่าที่เคยประเมินไว้ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 คาดว่าจะติดลบที่ร้อยละ 7.8 ดีกว่าที่เคยประเมินไว้เล็กน้อยที่ติดลบร้อยละ 8.1 โดยมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการช่วยพยุงเศรษฐกิจในปีนี้ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอน ดังนั้นมาตรการภาครัฐจำเป็นต้องตรงจุดและทันการณ์มากขึ้น โดยจะต้องเร่งสนับสนุนการจ้างงานการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่ละภาคส่วนต้องบูรณาการมาตรการให้สอดคล้องและเชื่องโยงกัน เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน สินคาดว่าจะใช้ระยะเวลาจากนี้ไป 2 ปี ภาวะเศรษฐกิจถึงจะกลับมาเป็นปกติก่อนมีการแพร่ระบาดของโควิด-19