หน้าแรกการเมืองโฆษกรบ. ยันรบ. ไม่ได้ถังแตกรับตั้งงบฯพลาด

โฆษกรบ. ยันรบ. ไม่ได้ถังแตกรับตั้งงบฯพลาด

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงกรณีปัญหาการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และเบี้ยคนพิการ ประจำเดือน กันยายน 2563 ล่าช้า ว่า ยอมรับว่าการตั้งงบประมาณปี 2563 เป็นข้อมูลจำนวนของผู้สูงอายุ และคนพิการ ของเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ดังนั้นตัวเลขการชำระเงินและจำนวนคนที่ได้รับเบี้ยไม่ตรงกับความเป็นจริง

โดยเบี้ยของคนพิการ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 มีจำนวน 1.8 ล้านคน ขณะที่ตัวเลขใหม่ในเดือนกันยายน 2563 ที่ต้องชำระเพิ่มขึ้นมา 2.6 แสนคน

ขณะที่ผู้สูงอายุยอดในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 มีจำนวน 8.7 ล้านคน ขณะที่เดือนกันยายนปี 2563 มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น 1.8 แสนคน ดังนั้นจึงทำให้เห็นว่า ตัวเลขจำนวนผู้ได้สิทธิเพิ่มขึ้น ส่วนที่เกิดความล่าช้านั้นนอกจากจำนวนคนที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังไม่ได้ใช้ระบบอีย์เพย์เมน แต่พบว่าปีนี้ได้เริ่มใช้ระบบอีย์เพย์เมนจะทำให้ประชาชนรับเงินเข้าบัญชีจากกรมบัญชีกลางได้ทันที ประมาณร้อยละ 80 ส่วนอีกร้อยละ 20 จะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับผิดชอบ โดยใช้เงินสดหรือมารับด้วยตัวเอง

ดังนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นเพราะไม่มีงบประมาณ แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนระบบและวิธีการชำระเงิน รวมทั้งจำนวนผู้ได้รับสิทธิ์เพิ่มขึ้น และเชื่อว่าหลังจากปี 2563 ที่เปลี่ยนระบบแล้วเมื่อผู้ลงทะเบียนได้รับสิทธิก็จะได้รับเงินทันทีในเดือนถัดไป และจะไม่เกิดความล่าช้าอีก

ทั้งนี้นายอนุชา กล่าวถึงการใช้งบประมาณปี 2564 อาจไม่ทันใช้ในเดือนตุลาคมนี้ ว่า ขณะนี้ร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภาในวาระที่ 2 และ3 ในสัปดาห์นี้ หากเกิดความล่าช้าไม่น่าจะเกิน 1 สัปดาห์ ส่วนการชี้แจงรายละเอียดจะดำเนินการในวันพรุ่งนี้อีกครั้งหลังการประชุมครม. ซึ่งสำนักงบประมาณจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมครม. เพื่อรับทราบ เพราะจะต้องมีการใช้งบประมาณปี 2563 ไปพลางก่อน

 

โฆษกรบ. แจง กรณีธุรกิจโรงแรมเลิกจากพนักงานกว่า 1 ล้านคนเป็นข้อมูลเก่า ด้านศบศ.ออกมาตรการกระตุ้นศก.แล้วเชื่อจะเกิดการจ้างงานเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดีนายกสมาคมโรงแรมไทย หรือ ทีเอชเอ ระบุว่าธุรกิจโรงแรมเลิกจ้างพนักงานกว่า 1 ล้านคน ว่า ตนได้สอบถามทางบริษัทที่ทำวิจัยภายหลังที่นายกสมาคมดังกล่าวใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงโดยได้รับทราบว่าเป็นตัวเลขในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ถือว่าเป็นข้อมูลเก่า

อีกทั้งข้อมูลดังกล่าวเป็นการคาดคะเนจากตัวเลขทางเศรษฐกิจ จีดีพี รวมถึงการประเมินจากนักท่องเที่ยวที่ลดลง และการใช้จ่ายต่างๆจะลดลง โดยไม่ได้มีการพูดคุยกับผู้ประกอบการ เป็นเพียงการนำข้อมูลมาประมวลผลเท่านั้น

ซึ่งบริษัทที่ทำวิจัยยอมรับว่าหากนำข้อมูลมาใช้ในปัจจุบันอาจจะทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนและผิดพลาดได้ เพราะข้อมูลจากเดือนเมษายนมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 6 เดือน และเนื่องจากวันที่ทำวิจัยไม่ได้มีเรื่องมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่กำลังจะดำเนินการ

ซึ่งศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบศ. ได้มีการออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งมาตรการในอนาคตที่รัฐบาลจะช่วยเหลืออีกมาก โดยเฉพาะการจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ 2.6 แสนคน ซึ่งรัฐจะช่วยผู้ประกอบการจ่ายเงินเดือน 50% ซึ่งเชื่อว่าจะเกิดการจ้างงานเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน

RELATED ARTICLES
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img